บทสรุป 20 ปรากฏการณ์ร้อนฉ่า แห่งปี 2558 (ตอนที่ 2)

ในปี 2558 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ได้เกิดปรากฏการณ์ทางการตลาดมากมาย ที่เป็นทั้งกระแสบนโลกออนไลน์ และออฟไลน์ โดยที่หลายเหตุการณ์สามารถส่งผลถึงไลฟ์สไตล์ และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเลยก็เป็นได้ แต่เราได้รวบรวม และคัดเลือก 20 ปรากฏการณ์สุดร้อนแรงแห่งปีมาให้ได้ชมกัน

 

 

11. Health&Beauty Store เทรนด์ความสวยความงามยังคงร้อนแรง

การแข่งขันของร้านดักสโตร์ และเฮลท์แอนด์บิวตี้ สโตร์ยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่เดิมตลาดนี้มีเพียงแค่ 2 ผู้เล่นรายใหญ่ วัตสัน และบูทส์ แต่ด้วยการเติบโตของตลาดสินค้าความสวยความงาม และค้าปลีกประเภทร้านเฉพาะทาง ทำให้ในแต่ละปีก็จะมีแบรนด์ใหม่เข้ามาเขย่าตลาดอยู่เสมอ อย่างซูรูฮะจากค่ายสหพัฒน์ ที่เข้ามาทำตลาดในไทยได้ 2 ปีแล้ว

ส่วนในปีนี้มีการเข้ามาของแบรนด์ใหม่อย่าง “มัตสึคิโยะ” ที่ทางกลุ่มเซ็นทรัลได้เป็นตคนอิมพอร์ตเข้ามา ถือเป็นการทำตลาดออกนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ประเดิมสาขาแรกที่เซ็นทรัลลาดพร้าว และทางกลุ่มแมงป่อง ที่หันมาโฟกัสธุรกิจนี้มากขึ้น ด้วยการเปิดร้าน “สตาร์ดัส”

อีกทั้งยังมีร้าน อีฟแอนด์บอย ที่เติบโตจากร้านในต่างจังหวัด และแจ้งเกิดในกลุ่มสาวๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพราะด้วยสินค้าราคาถูกกว่าร้านอื่น และมีแบรนด์ที่หลากหลาย ทำให้ตลาดร้านเฮลท์แอนด์บิวตี้มีการแข่งขันกันอย่างร้อนระอุ

 

12. คนเดียวไม่พอ ยุคนี้ต้อง “พรีเซ็นเตอร์กลุ่ม” 

การใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ขาดไม่ได้ของแบรนด์ไปแล้ว แต่ในยุคนี้แค่คนเดียวอาจจะไม่เพียงพอ การใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นกลุ่มอาจจะเป็นกระแสได้มากกว่า ในปีนี้จึงได้เห็นหลายแบรนด์ใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นกลุ่มทั้งกลุ่มทรู ควิกแสบ ซัมซุง และมิสทีน ซึ่งมิสทีนเป็นแบรนด์ที่ได้ใช้พรีเซ็นเตอร์กลุ่มมานานหลายปีแล้ว

 

13. อีคอมเมิร์ซ บูมสู่ค้าปลีก

กระแสของอีคอมเมิร์ซมีการบูมขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่ในปีนี้ที่เห็นได้ชัดเจนคือการลงมาเล่นของเหล่าบรรดาห้างค้าปลีกทั้งเซ็นทรัล เทสโก้โลตัส วัตสัน ซูรูฮะ ต่างใช้อีคอมเมิร์ซเพื่อเพิ่มช่องทางการขาย และเสริมทัพให้แบรนด์แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ในขณะที่ผู้เล่นใหญ่ในตลาดอย่างลาซาด้า, ซาโรล่า และราคูเท็น ตลาดก็มีการงัดไม้เด็ด กลยุทธ์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ทั้งโปรโมชั่น และบริการ เพื่อให้โดนใจผู้บริโภคมากที่สุด

ในปี 2557 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย มีมูลค่ากว่า 2.03 ล้านล้านบาท พร้อมคาดการณ์ปี 2558 เติบโตต่อเนื่อง 3.65% มูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท ข้อมูลโดย ETDA

 

14. สตาร์ทอัพ เส้นทางแจ้งเกิดของคนมีไอเดีย

เป็นอีกหนึ่งกระแสที่น่าจับตามองมาหลายปีแล้ว เพราะเป็นเทรนด์หนึ่งที่คนรุ่นใหม่สนใจอย่างมากกับการเป็นสตาร์ทอัพ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการสนับสนุนโดยโอเปอเรเตอร์เครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ราย เอไอเอส, ดีแทค และทรู ซึ่งจะมีโครงการประกวด และให้การสนับสนุนในการทำธุรกิจต่อไป

ในปีนี้ได้เห็นภาพสตาร์ทอัพชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีการเกิดกองทุนต่างๆ เพื่อลงทุนให้กับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในการแจ้งเกิดในตลาด เช่น กองทุนไอยรา วีซี และ 500 ตุ๊ก ตุ๊ก โดยเจ้าพ่อวงการสตาร์ทอัพ “กระทิง พูนผล” และ “หมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” หรือหมู อุ๊กบี เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สตาร์ทอัพตื่นตัวขึ้นมา เพราะเป็นการผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตในเวทีโลกได้สำเร็จ

 

15. ประมูล 4G กับราคาประวัติศาสตร์

กระแสร้อนแรงส่งท้ายปี กับการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz หรือที่เรียกกันติดปากว่าประมูลคลื่น 4G ที่มีการเคาะราคาเป็นประวัติศาสตร์ทั้ง 2 คลื่น โดยที่คลื่น 1800 MHz มีการเคาะราคาอยู่ที่ 39,792 ล้านบาท และ 40,986 ล้านบาท ทรู และเอไอเอสเป็นผู้ชนะการประมูล ส่วนอีกคลื่นหนึ่งคลื่น 900 MHz เคาะราคาที่ 75,654 ล้านบาท และ 76,298 ล้านบาท ผู้ชนะได้แก่ทรู และแจส

 

16. เจ๊ติ๋ม ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย

เจ๊ติ๋ม แห่งทีวีพูล ตัดสินใจยกเลิกทำทีวีดิจิตอลทั้ง 2 ช่อง ไทยทรวี และ LOCA ด้วยเหตุผลที่ว่าขาดทุนจากการทำทั้งสองช่อง นอกจากนั้นเจ๊ติ๋มยังไม่จ่ายค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทีวีดิจิตอล ช่องไทยทีวี และ Loca  งวดที่ 2  ประกอบไปด้วย ช่องไทยทีวี จำนวน 176.80 ล้านบาท ช่อง Loca จำนวน 92.80  ล้านบาท    

รวมเป็นเงิน 269.60  ล้านบาทแล้ว ให้กับกสทช. โดยค่าสัมปทานที่ไทยทีวี ต้องจ่ายให้กับกสทช. รวม 2 ช่อง คือ ไทยทีวี และ LOCA  รวมเป็นเงิน 1,976.00  ล้านบาท

 

17. จีทีเอชวงแตก

ถือเป็นเรื่องช็อควงการอยู่พอสมควร สำหรับการยุบตัวของค่ายหนัง และละคร GTH หรือ บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด ที่ได้ดำเนินกิจการมา 11 ปี เกิดจากการรวมตัวกันของ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนการถือหุ้น 51% บริษัท ไท เอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด สัดส่วนการถือหุ้น 30% และบริษัท หับ โห้ หิ้น บางกอก จำกัด สัดส่วนการถือหุ้น 19%

สาเหตุหลักของการแยกทางกันในครั้งนี้เนื่องจากการบริการงานจากผู้ก่อตั้งจาก 3 บริษัทมีเป้าหมาย และความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งทาง ไท เอนเตอร์เทนเม้นท์ ต้องการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มเงินทุนในการพัฒนาโปรเจคให้ใหญ่และหลากหลายมากขึ้น แต่ทางหับ โห้ หิ้นบางกอกยังไม่พร้อม เพราะจะกดดันในการสร้างสรรค์ผลงาน จึงยุติบทบาทของ GTH ลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ส่วนทางหับ โห้ หิ้น บางกอกจะมีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาอย่างแน่นอน 

 

18. การกลับมาของอาร์ซีโคล่า

 นับเป็นการกลับมาบุกตลาดครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งในรอบ 48 ปี สำหรับ “อาร์ซี โคล่า (RC Cola)” ที่ในประเทศไทยผู้ได้รับลิขสิทธิ์เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายโดย “บริษัท สากล เบเวอเร็ดจ์ จำกัด” การคืนสู่สังเวียนน้ำดำในครั้งนี้จึงเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ เสริมทัพ “ช่องทางจัดจำหน่าย” ขอเบียด “มวยรอง” อย่าง “เอส” และ “บิ๊กโคล่า” ขึ้นสู่เบอร์ 4 ในตลาดให้ได้ในปีนี้

 

19. ไอจี ดารา กับโฆษณาเบียร์

(ภาพจากเว็บไซต์ Pantip)

เป็นกระแสฮือฮาอยู่พักใหญ่ สำหรับกรณีที่ดาราถ่ายภาพคู่กับเบียร์ช้างเพื่อโปรโมทลงอินสตาแกรม แต่เรื่องราวกลับใหญ่โตขึ้นเมื่อ “ต๊อด ปิติ ภิรมย์ภัคดี” ผู้บริหารค่ายคู่แข่งออกมาจวกดาราถึงเรื่องการผิดกฎหมายในการโพสท์โฆษณาที่มีแอลกอฮอล์ จนกลายเป็นเรื่องราวที่ต้องเรียกดาราคนอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ปากคำกันยกใหญ่

 

20. สมาคมวิจัยสื่อ ขย่ม นีลเส็น

เป็นการเขย่าวงการวิจัยสื่อที่ถูกครองตลาดโดยนีลสันมาช้านานกว่า 30 ปี โดยที่ทางสมาคมมีเดียเอเยนซี่ ได้จัดตั้งสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA ได้สนับสนุนกันตาร์มีเดียได้เข้ามาดำเนินการวัดเรตติ้งในทุกๆ แพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โดยมีสัญญา 5 ปี จะเริ่มทำการสำรวจข้อมูลในเดือนมกราคม 2559 และเริ่มใช้ข้อมูลได้จริงในปี 2560