เรียลไทม์ มาร์เก็ตติ้ง อิงกระแสลูกเทพ ได้ผลจริงหรือ ?

นักการตลาดให้ระวัง ! โปรลูกเทพ ดาบ 2 คม เข้าตำรา “เรียลไทม์ มาร์เก็ตติ้ง” ก็จริง แต่อาจกระทบแบรนด์ในระยะยาว
 
กลายเป็นกระแสร้อนฉ่าไปทั้งสังคม และบนโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้ สำหรับ “ตุ๊กตาลูกเทพ” ทั้งดารา นักแสดง ดีเจ เซเลบริตี้คนดังไปจนนักธุรกิจ ต่อมาแพร่ขยายไปที่คนทั่วไป ที่หาซื้อมาไวข้างกาย เพราะด้วยความเชื่อ และเป็นที่พึ่งทางใจ ว่าเลี้ยงแล้วจะดี ทำมาค้าขึ้น ผู้เลี้ยงได้มีการเลี้ยงดูลูกเทพเหมือนกับลูกหรือกับเด็กคนหนึ่ง เมื่อเวลาไปไหนมาไหนก็จะอุ้มไปด้วย ไม่ว่าจะเดินห้าง ทานอาหาร ไหว้พระทำบุญ ไปเที่ยว กลายเป็นว่าเราจะได้เห็นลูกเทพมีส่วนร่วมในสังคมอยู่ในตอนนี้แล้ว
 
ยิ่งมายุคออนไลน์ โซเชียลมีเดียด้วยแล้ว ยิ่งทำให้กระแส “ตุ๊กตาลูกเทพ” กระเพื่อมไปอย่างรวดเร็ว เพราะบางคนมองว่าเป็นของแปลกใหม่ จึงเกิดการแชร์ส่งต่อ ก็ยิ่งได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ  มีการนำเสนอเรื่องราว “ตุ๊กตาลูกเทพ” ต่อเนื่อง
 
ทางด้านเจ้าของแบรนด์สินค้าและบริการ เมื่อเห็นกระแสลูกเทพบูมเอามากๆ ก็เลยใช้จังหวะนี้นำเสนอ “โปรลูกเทพ”ออกมากันอย่างคึกคัก ทั้งสายการบินไทยสมายล์, นครชัยแอร์, HOT POT, Neta Grill, Edupac (Education Pacific le monde) ศูนย์แนะนำการศึกษาต่อ ielts & เกาหลีใต้ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งมีทั้งที่ทำโปรโมชันขึ้นมาอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มโอกาสทางการขายแก่ผู้มีศรัทธา รวมไปถึงแบรนด์ที่ทำเพื่อโหนกระแสที่มีอยู่ไม่น้อย จนกลายเป็นอีกหนึ่งในปรากฏการณ์ของการทำตลาดผ่านกระแสลูกเทพไปแล้ว
 
 
นักการตลาดชี้ระวังดาบ 2 คม กระทบภาพลักษณ์แบรนด์ 
 
ทางด้าน ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์  หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความเห็นว่า การที่เจ้าของสินค้าหลายรายเลือกออกมาทำโปรโมชันเกาะเกี่ยวไปกับกระแส “ตุ๊กตาลูกเทพ” นั้น เชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าของสินค้ามองว่าเป็นจังหวะและโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าที่มีกำลังซื้อ เพราะการเลี้ยงดูลูกเทพ จะต้องเลี้ยงดูอย่างดี จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อย
 
แต่สำหรับในกรณีนี้ เจ้าของสินค้าหรือแบรนด์อาจต้องมองให้รอบคอบ เนื่องจากการเลี้ยงดูตุ๊กตาลูกเทพนั้น เป็นเรื่องของความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับการเลี้ยง “กุมารทอง” จึงมีผู้บริโภคไม่น้อยที่มีความกลัว ดังนั้นแบรนด์ต้องคิดให้ดีว่า เมื่อทำออกมาแล้วอาจส่งผลกระทบต่อสังคม หรือลูกค้ากลุ่มอื่นๆ ด้วยหรือไม่
 
ขณะเดียวกันบางแบรนด์อาจมองว่า การเกาะเกี่ยวไปกับกระแสที่กำลังถูกพูดถึงในสังคม หรือได้พื้นที่โฆษณาในสื่อฟรีๆ ทำให้ “แบรนด์” เป็นที่รู้จักในเวลาอันสั้น หรือเรียกว่า เรียลไทม์ มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งเวลานี้หลายแบรนด์หันมาทำกันมากขึ้น
 
แต่สำหรับในกรณีนี้ก็ต้องระวังว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ว่าดูแล้วไม่มีเหตุผล ดูงมงาย
 
สังเกตได้ว่า แบรนด์ที่ออกมาทำโปรโมชันอิงไปกับกระแสลูกเทพ ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ใหม่ หรือยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก หรือไม่ก็เป็นแบรนด์ที่ต้องอยู่ในภาวะการแข่งขันอย่างหนัก อย่าง ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งธุรกิจนี้การแข่งขันจะสูงมาก เพราะคู่แข่งมีหลายราย ซึ่งแต่ละรายก็แข็งแรงมาก การที่ไทยสมายล์เลือกเกาะกระแสลูกเทพ ก็อาจต้องการทำให้คนหันมาสนใจแบรนด์ได้มากขึ้น แต่ก็ต้องระวังเรื่องผลกระทบทางสังคมด้วย เช่น อาจเป็นช่องทางให้เกิดอาชญากรรม อย่างที่ตั้งข้อสังเกตกัน
 
ในส่วนแบรนด์ร้านอาหารก็เช่นกัน การแข่งขันของธุรกิจนี้สูงมาก และแบรนด์ที่ออกมาทำโปรโมชันก็ไม่ใช่แบรนด์หลัก เป็นแบรนด์รอง และบางแบรนด์คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักมากนัก ดังนั้นเมื่อเกาะกับกระแสแล้วก็ทำให้เป็นที่รู้จักได้ในช่วงเวลาอันสั้น
 
“เจ้าของสินค้า ต้องมองให้รอบด้าน ในหลายๆ มิติ ไม่ควรมองอะไรด้านเดียว เพียงแค่อยากเกาะไปกับกระแส เพราะเรื่องนี้เป็นความเชื่อ มีความอ่อนไหว จึงควรต้องระมัดระวัง และดูถึงความเหมาะสม ว่าทำแล้วจะกระทบกับแบรนด์หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะบางทีก็ได้ไม่คุ้มเสีย”
 
 
ชี้ โปรลูกเทพกระทบแบรนด์ระยะยาว
 
เช่นเดียวกับ ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง บล็อกเกอร์ และกูรูด้านคอนเทนต์ มาร์เก็ตติ้ง ได้ให้ความคิดเห็นว่า “จริงๆ ก็เป็นกระแสหนึ่งที่แบรนด์เข้ามาช่วงชิงกระแสไว้ได้ เพียงแต่ว่ากระแสนี้ไม่เหมือนกับกระแสแฟชั่นทั่วไปอย่างเหนี่ยวไก่ หรือควิซบนเฟซบุ๊กที่มีความเก๋ มีความสนุกอยู่ ซึ่งกระแสลูกเทพเกิดมาจากความเชื่อส่วนบุคคล และก็มาพร้อมกับคนที่ไม่เชื่อด้วย มองได้ว่าทั้งงมงายและไม่งมงาย ทำให้กระแสนี้ค่อนข้างที่จะ Sensitive แบรนด์ที่ลงมาเล่นในเรื่องนี้คนก็จะมองว่าเป็นการส่งเสริมเรื่องแบบนี้ไปได้
 
แบรนด์ต้องกลับมาคิดดูว่าที่ลงมาเล่นกระแสนี้มีความมั่นใจมากพอหรือยัง หรือต้องการแค่เกาะกระแส เพราะมันมีผลกระทบกลับมาที่แบรนด์ทันที มีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เหมือนกับการส่งเสริมกลายเป็นมอมเมา คนที่ไม่เห็นด้วยจะติดภาพลบกับแบรนด์ทันที
 
จริงๆ แล้วกระแสนี้ก็คือ Real time content อย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่การทำ Real time ต้องดูว่าเหมาะสมกับแบรนด์มั้ย หรือควรที่จะเข้าไปเล่นหรือเปล่า เรื่องบางเรื่องไม่พูดก็ไม่มีใครว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือคนจะได้อะไรจากคอนเทนต์นี้หรือเปล่า แบรนด์จะต้องคิดให้เยอะขึ้น ต้องเล่นให้ดีๆ มิเช่นนั้นคนจะเกลียดแบรนด์ในทันที ต้องสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ มีศีลธรรม ต้องคิดว่าจะไม่เกิดผลกลับมาในด้านลบ อย่ามองแค่ว่าเป็นกระแสคนกดไลก์ กดแชร์เยอะ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาอาจจะกำลังด่าแบรนด์อยู่ก็ได้”
 
ทางด้านของ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ ได้ให้ความเห็นว่า มองว่าเป็น Real time ที่ถูกเอามาทำเป็นมุกที่เพื่อขายจริง และประชด แบรนด์ที่ทำจริงจังก็เพราะต้องการแก้ไขปัญหาจริงๆ อย่างสายการบิน และร้านอาหาร ถ้าเขาปฏิเสธก็กลัวกระแสดราม่า เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีจริตที่รุนแรงในความเชื่อส่วนตัว ทำให้มีการออกเงื่อนไขอย่างเป็นทางการขึ้นมา
 
แต่ในเรื่องผลกระทบไม่น่าจะดีนัก จะกลายเป็นว่าแบรนด์ทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไป ที่ถูกต้องมองว่าจะต้องเป็นการห้ามมากกว่า หรือขอความร่วมมือผู้เลี้ยงว่าขอสงวนสิทธิ์ในการนำตุ๊กตาลูกเทพเข้าใช้บริการ แต่ก็ไม่ปฏิเสธเสียทีเดียว ซึ่งแบรนด์ต้องใจแข็งด้วย
 
มิเช่นนั้นการตลาดจะเลยเถิดไป เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนด้วย ไม่ควรจะเอาประเด็นเรื่องศาสนา และความเชื่อเข้ามาผูกกับแบรนด์ ซึ่ง แบรนด์จะต้องดูที่ตัวตนของตัวเองด้วย อย่างสายการบินต้องขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัย แต่เมื่อมีโปรนี้ออกมาจะทำให้แบรนด์ได้รับผลกระทบมั้ย อาจจะมีปัญหาอาชญากรรมตามมาจากลูกเทพหรือเปล่า
 
อย่างที่หลายแบรนด์ทำอยู่ตอนนี้ จะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ระยะยาวจะมีผลกระทบแน่นอนทั้งตัวแบรนด์เองและกระทบต่อลูกค้าคนอื่น เพราะมีคนแอนตี้ ต่อไปก็อาจจะเสียมูลค่าแบรนด์ไป คนจะมองว่าเป็นแบรนด์ที่สนับสนุนเรื่องงมงาย อนาคตจะกลายเป็นเรื่องล้อเลียนว่าแบรนด์นี้เคยทำเรื่องลูกเทพ
 
ในกรณีนี้มองว่าสามารถทำเป็นมุกตลกแบบเรียลไทม์ได้ แต่ไม่ควรจริงจัง และไม่ควรละเมิดลูกค้าคนอื่นด้วย