เปิดแผน "โตโยต้า" รับมือตลาดซึมยาวอีก 2 ปี

ตลาดรถยนต์ไทยในปี 2558 ที่ผ่านมา มียอดขายรวมทุกยี่ห้อกว่า 7.99 แสนคัน หรือลดลงจากปีก่อนหน้า 9.3% แม้จะมีกำลังซื้อเร่งเข้ามาในช่วงปลายปี ก่อนมีการปรับราคารถตามโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์แบบใหม่ ตั้งแตวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ขณะที่ทิศทางตลาดปี 2559 จะเป็นเช่นไร? และยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” จะพลิกเกมรับมืออย่างไร?… ไปฟังการวิเคราะห์และเปิดแผนการดำเนินงานจาก “เคียวอิจิ ทานาดะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด… 
 
“มีการเร่งกำลังซื้อของลูกค้า ก่อนจะมีการปรับโครงสร้างภาษีรถใหม่ คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นคัน ดังนั้นตัวเลขกำลังซื้อที่ต้องการใช้รถจริงในปีที่ผ่านมาน่าจะประมาณ 7.6 แสนคัน และผลจากการเร่งซื้อจำนวนดังกล่าว จึงเป็นกำลังซื้อล่วงหน้าที่ถูกดึงไปจากปีนี้ เมื่อบวกกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและไทยยังไม่ปรับตัวดีขึ้นนัก จึงส่งผลให้ตลาดรถยนต์ไทยในปี 2559 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.2 แสนคัน หรือลดลง 10% โดยคาดว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งใน 2 ปีข้างหน้า หรือมียอดขายประมาณ 1 ล้านคัน แต่หากทำได้กว่า 9 แสนคัน นับว่าปรับตัวดีขึ้นแล้ว” 
 
สำหรับยอดขายรถของโตโยต้าในปีที่ผ่านมา ทานาดะระบุว่าทำได้ทั้งหมดกว่า 2.66 แสนคัน ลดลง 18.7% และมียอดส่งออก 3.76 แสนคัน ลดลง 12% ขณะที่มูลค่าส่งออกรถโตโยต้าและชิ้นส่วนอยู่ที่ 2.65 แสนล้านบาท โดยคาดว่าปีนี้โตโยต้าจะมียอดขาย 2.4 แสนคัน ลดลง 9.8% และส่งออกรถน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.7 แสนคัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แม้ตลาดสำคัญอย่างตะวันออกกลาง จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันลดลง แต่ค่าเงินบาทอ่อนทำให้สนับสนุนการส่งออกได้ดีขึ้น รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ CLMV มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงมาช่วยสนับสนุนการส่งออกของโตโยต้าในไทยได้ระดับหนึ่ง 
 
“แม้ตลาดรถยนต์ไทยจะชะลอตัวต่อเนื่อง และคาดว่าอีก 2 ปีจะฟื้นตัว แต่โตโยต้ายังให้ความสำคัญกับประเทศไทย ในฐานะเป็นฐานการผลิตและศูนย์กลางสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโตโยต้า ทั้งการรองรับตลาดในประเทศและส่งออกทั่วโลก รวมถึงเป็นศูนย์พัฒนาและวิจัย หรือ R&D ของภูมิภาค ดังนั้นเพื่อรับการฟื้นตัวในอนาคต โตโยต้าจึงเตรียมแผนงานการพัฒนารองรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยีการผลิต สินค้าใหม่ กิจกรรมส่งเสริมการตลาดก่อนและหลังการขาย ตลอดจนสร้างความพึงพอใจสูงสุดรักษาฐานลูกค้า” ทานาดะกล่าวและว่า 
 
โดยโตโยต้าจะพยายามรักษาลูกค้า เน้นการบริการสร้างความพึงพอใจสูงสุด และเตรียมพร้อมพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร ให้มีความรู้และทักษะรองรับทั้งในประเทศ ตลอดจนระดับสากล รวมถึงส่งเสริมคนไทยที่มีความสามารถขึ้นมาบริหารงาน ด้วยการแต่งตั้งผู้บริหารชาวไทยให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงครอบคลุมทุกสายงาน ตามที่ได้มีการประกาศแต่งตั้งไป เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในภูมิภาคนี้
 

 
ขณะที่เรื่องการผลิตจะมีโตโยต้า มอเตอร์ เอเชียแปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์แมนูเฟคเจอริ่ง หรือ TMAP บริษัทพัฒนาและวิจัยของภูมิภาคที่มีสำนักงานในไทย โดยมีคนไทยเป็นส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาและยกระดับการปฏิบัติงานของภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค เน้นส่งเสริมการเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศขึ้น ด้วยการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนของโตโยต้าในไทย ในการถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการผลิตระดับสูง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ตลอดจนหาทางช่วยเรื่องทางการเงินต่างๆ กับผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดกลางและย่อย 
 
นอกจากนี้การพยายามคงตัวเลขส่งออกรถยนต์จากไทยให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา จะรักษากำลังการผลิตไว้ได้ระดับหนึ่ง ในสภาวะที่ตลาดรถยนต์ไทยชะลอตัวเช่นนี้ โดยตลาดตลาดโอเชียเนียและยุโรปมีทิศทางการขยายตัวที่ดี รวมถึงประเทศที่มีโอกาสเปิดตลาดได้อย่างอิหร่าน หลังมีการยกเลิกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่ตลาดส่งออกใหญ่ของโตโยต้ายังคงเป็นกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวจากผลกระทบราคาน้ำมันตกต่ำ อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวสามารถทำให้เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน และสร้างแรงจูงใจในการซื้อรถได้ 
 
โดยโตโยต้าจะพยายามรักษาการผลิตไว้ให้มากที่สุด ซึ่งตัวเลขที่ลดลงสามารถรักษาการผลิตในช่วงปกติได้ กระทบเพียงต้องลดการทำงานล่วงเวลาในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ หรือหากมากกว่านั้นจะเป็นการลดทำงานล่วงเวลาช่วงเย็นเพิ่มอีกเท่านั้น จึงทำให้เชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อการจ้างงานแต่อย่างใด
 
“โตโยต้ามีความเชื่อมั่นในประเทศไทย พร้อมที่จะลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรมยานยนต์ไทย และส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศไทย เพื่อให้เติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งความสุขที่โตโยต้ามุ่งจะขับเคลื่อและพร้อมยืนเคียงคู่กับคนไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป” ทานาดะกล่าว