ม.หอการค้าไทย เปิดผลวิจัยเจาะพฤติกรรมการรับชม การรับรู้แบรนด์ทีวีดิจิตอลในกลุ่มผู้ชมวัยรุ่น แนะเร่งสร้างแบรนด์ควบคู่พัฒนาคอนเทนต์
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจ “พฤติกรรมการรับชมรายการโทรทัศน์และการรับรู้ตราสินค้าสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล ของกลุ่มผู้ชมวัยรุ่น” โดยใช้วิธีเก็บแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 15-22 ปี ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 800 คน ในช่วงเดือนธันวาคม 2558
นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยผลการสำรวจ ในด้านพฤติกรรมการรับชมรายการสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลของวัยรุ่นว่า ผู้ชมกลุ่มวัยรุ่นมีการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านอุปกรณ์เครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอลมากที่สุด 59% รองลงมาคือสมาร์ทโฟน 41.8% คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 29% และแท็บเล็ต 24% โดยผู้ชมกลุ่มวัยรุ่น 86% ดูรายการย้อนหลัง ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ซึ่งช่องทางยอดนิยมในการดูรายการย้อนหลังของวัยรุ่น คือ Youtube 73% Line TV 36% และเว็บไซต์ของสถานี 22% ช่วงเวลาที่ดูรายการโทรทัศน์มากที่สุดคือ 20.01-24.00 น. 69% ประเภทรายการ ที่วัยรุ่นชื่นชอบมากที่สุดคือละครไทย 47% ภาพยนตร์ 39% และการ์ตูน 38% และในระยะเวลา 3 เดือนทีผ่านมา กลุ่มวัยรุ่นรับชมรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3HD มากที่สุด 64% รองลงมาคือสถานีโทรทัศน์ช่อง 7HD 54% และสถานีโทรทัศน์ช่องเวิร์คพอยท์ 48%
“ผลการสำรวจในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมในการเสพสื่อของคนรุ่นใหม่ ที่มีทางเลือกและมีอิสระในการกำหนดวิธีการและช่องทางในการเลือกที่จะรับชมสื่อต่างๆ มากยิ่งขึ้น สถานีโทรทัศน์ที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนรุ่นนี้ ต้องพัฒนาทั้งเนื้อหารายการ รูปแบบการเข้าถึงสื่อ และสร้างความสะดวกในการรับชมผ่านทางออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น” นายมานะกล่าว
น.ส.กนกกาญจน์ บัญชาบุษบง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดผลการสำรวจในด้านการรับรู้แบรนด์สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลของกลุ่มวัยรุ่น โดยในการสำรวจให้กลุ่มตัวอย่างตอบเลขช่องของสถานีโทรทัศน์ทั้ง 25 สถานี พบว่า กลุ่มผู้ชมวัยรุ่นส่วนใหญ่ ตอบเลขช่องของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ไม่ได้ โดยสถานีที่กลุ่มวัยรุ่นตอบเลขช่องได้ถูกต้องมากที่สุด คือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 7HD ตอบถูก 22% รองลงมาคือสถานีโทรทัศน์ช่อง 3HD 20% และช่องสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 12.5% ในด้านโลโก้ของสถานี กลุ่มวัยรุ่นจดจำโลโก้ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7HD ได้มากที่สุดถึง 90% รองลงมาคือสถานีโทรทัศน์ช่องเวิร์คพอยท์ 77% สถานีโทรทัศน์ช่อง GMM 76% และสถานีที่กลุ่มวัยรุ่นชื่นชอบมากที่สุด คือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3HD 24% รองลงมาคือสถานีโทรทัศน์ช่อง 7HD 14.5% และช่องสถานีโทรทัศน์ช่องเวิร์คพอยท์ 12.5%
“นอกจากการพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบในการรับชมรายการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มผู้ชมแล้ว แบรนด์ของสถานีโทรทัศน์ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่สถานีต้องให้ความสำคัญในการสร้างและการสื่อสาร แบรนด์เหมือนกับสินค้าอื่นๆ ที่การพัฒนาเพียงตัวผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพอต่อการเอาชนะใจลูกค้า โดยอันดับแรกควรจะต้องมุ่งเน้นให้เกิดการจดจำโลโก้และเลขช่องได้ เห็นได้จากผลการสำรวจครั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจการจดจำเลขช่องกับการวัดเรตติ้งของ กสทช.ในช่วงเวลาเดียวกันจะเห็นว่าสถานีที่ผู้ชมจดจำเลขช่องได้จะมีเรตติ้งที่สูงกว่าสถานีช่องอื่นๆ” น.ส.กนกกาญจน์กล่าวทิ้งท้าย