“เอสเอฟ” นำร่องคอนเซ็ปต์ใหม่ รวมเก้าอี้ 4 แบบในโรงเดียว!

ตลาดโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี แต่อาจจะไม่หวือหวามากเท่าไหร่ก็ตาม ซึ่งการแข่งขันในตลาดที่ถึงแม้ว่าจะมีผู้เล่นใหญ่อยู่ 2 แบรนด์ คือ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” และ “เอสเอฟ ซีนีม่า” แต่ก็ได้เห็นดีกรีที่ดุเดือดขึ้นทุกปีเช่นกัน
 
การแข่งขันในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการหา “โลเคชั่น” ที่ส่วนใหญ่โรงหนังจะพ่วงไปกับศูนย์การค้า ซึ่งอัตราการขยายสาขาแน่นอนว่าทางค่ายเมเจอร์มีการขยายสาขาต่อปีเยอะกว่าค่ายเอสเอฟอยู่เช่นกัน แม้จะอยู่ในสถานะเป็นรอง ทำให้การขยายแต่ละสาขาของเอสเอฟก็ต้องปังมากที่สุด
 
เอสเอฟจึงได้งัดกลยุทธ์ใหม่ในการออกแบบโรงภาพยนตร์ “นิวคอนเซ็ปต์” ที่มีที่นั่ง 4 แบบในโรงเดียวกัน ได้แก่ ที่นั่ง Deluxe ราคา 160-200 บาท, Premium ราคา 180-220 บาท, Executive Suite 450-600 บาท/คู่ และ First Class ราคา 700-800 บาท
 
ประเดิมโมเดลนี้ที่แรกที่โรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า สาขา เดอะ คริสตัล เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ด้วยจำนวน 8 โรง ในพื้นที่ 5,404 ตารางเมตร จำนวนที่นั่ง 1,450 ที่นั่ง งบลงทุน 200 ล้านบาท
 
สุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หลักการเลือกในการขยายสาขาของเอสเอฟยังคงเน้นที่ทำเลที่ตั้งเป็นยุทธศาสตร์หลักอยู่ ที่เดอะคริสตัลก็จะเจาะกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ที่มีกำลังซื้อ รวมถึงในปีนี้เราได้มีการรีเฟรชโลโก้ใหม่ให้ดูทันสมัย ใช้สีน้ำเงินเพื่อให้ดูสนุก และพรีเมี่ยมขึ้นด้วย”
 
สำหรับสาเหตุที่ได้เลือกทำโมเดลนิวคอนเซ็ปต์ในการมี 4 ที่นั่งพร้อมกันในโรงเดียว สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานปฏิบัติการ ได้กล่าวเสริมว่า “เราดูกลุ่มลูกค้าในระแวกนี้แล้วพบว่าเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ และเป็นกลุ่มลูกค้าของที่นั่ง First Class ค่อนข้างเยอะ ที่ผ่านมาก็พบว่าลูกค้าบ่นว่าโรงภาพยนตร์ First Class มีจำนวนน้อย ทำให้เรารวมที่นั่งหลายแบบในโรงเดียวเพื่อเพิ่มวาไรตี้ เท่ากับว่าใน 8 โรงของที่นี่ก็จะมีที่นั่ง First Class อยู่ ก็อยู่ที่ว่าลูกค้าจะเลือกดูแบบไหน”
 
ในอนาคตเอสเอฟอาจจะนำโมเดลนี้ไปอยู่ที่สาขาอื่นเพิ่มก็ได้ แต่จะต้องเป็นทำเล Prime Location และต้องดูผลตอบรับจากสาขาแรกก่อนด้วยเช่นกัน เพราะโมเดลนี้ใช้งบลงทุนมากกว่าโรงปกติอยู่ราว 20%
 
ในปีนี้เอสเอฟจะมีการขยายสาขาอีก 5 สาขา ได้แก่ เดอะคริสตัล เลียบทางด่วนเอกมัย – รามอินทรา, บิ๊กซี บางพลี, เซ็นทรัล พลาซ่า นครศรีธรรมราช, เทอร์มินอล 21 โคราช และโรบินสัน ลพบุรี ใช้งบลงทุนรวม 600 ล้านบาท และมีการรีโนเวทสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ กับเอ็มบีเคเพิ่มเติม ด้วยงบลงทุน 200 ล้านบาท 
 
และมีการตั้งเป้ารายได้ 5,000 ล้านบาท เติบโต 20% จากปี 2558 ที่มีรายได้ 4,000 ล้านบาท