ป้ายคำ หรือแฮชแทค #RIPTwitter กลายเป็นกระแสร้อนที่ชาวอเมริกันพูดถึงมากที่สุดบนทวิตเตอร์ (Twitter) เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา การประชดประชันนี้เกิดขึ้นหลังจากมีข่าวลือว่า ทวิตเตอร์จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแสดงผลข้อความทวีตจนอาจคล้ายคลึงกับเครือข่ายสังคมอันดับ 1 ของโลกอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) สะท้อนว่า ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยไม่ปลื้มเฟซบุ๊ก และให้ความสนใจต่อกระแสต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนี้
รายงานข่าวบนเว็บไซต์บัซฟีด (BuzzFeed) อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวไม่ระบุนามว่า ทวิตเตอร์จะเปลี่ยนแปลงวิธีจัดเรียงลำดับการแสดงผลข้อความทวีตก่อนหลัง ด้วยการนำระบบวิเคราะห์ความสำคัญว่า ผู้อ่านมีแนวโน้มต้องการอ่านข้อความใดก่อน ต่างจากปัจจุบันที่ทวิตเตอร์แสดงข้อความตามลำดับเวลา
ข่าวลือนี้เกิดเป็นกระแสลบโดยถูกวิจารณ์ว่า ทวิตเตอร์กำลังทิ้งเอกลักษณ์ของตัวเองจนชวนให้คิดว่า ทวิตเตอร์ดั้งเดิมนั้นกำลังตายจากไป ขณะเดียวกัน แรงต้านข่าวลือนี้ยังเกิดขึ้นบนความกังวลว่า ระบบแสดงข้อความทวีตอาจทำให้ข้อความทวีตจากบัญชีที่มีผู้ติดตามน้อยกว่าถูกเลือนหายไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อบริการเครือข่ายสังคมเฟซบุ๊กในขณะนี้
เฟซบุ๊กนั้นใช้ระบบวิเคราะห์ หรืออัลกอริธึม เพื่อเลือกบางโพสต์ของผู้ใช้บางรายขึ้นมาแสดงตามแนวโน้มความสนใจของผู้ใช้ หลักการนี้เป็นหลักการเดียวกับข่าวลือที่ระบุว่า ทวิตเตอร์กำลังเดินไป จุดนี้ทำให้ชาวออนไลน์วิจารณ์หนักว่า การเปลี่ยนแปลงจะทำให้ทวิตเตอร์คล้ายคลึงกับเฟซบุ๊กมากเกิน
ผู้ใช้บางรายเขียนข้อความเปิดผนึกถึงทวิตเตอร์ ว่า อย่าพยายามเป็นอย่างเฟซบุ๊ก “พวกเราไม่ชอบเฟซบุ๊ก” ขณะที่บางรายพยายามแสดงว่า ทวิตเตอร์กำลังย่ำยีหลักการดั้งเดิมของบริษัท
ในขณะที่ประชาสัมพันธ์ทวิตเตอร์ยังไม่ออกมาให้ความเห็นใดๆ สื่ออเมริกันวิเคราะห์ว่า ข่าวลือนี้เกิดขึ้นในวันที่ทวิตเตอร์ถูกกดดันให้หารายได้เพิ่มขึ้นหลังจากคู่แข่งอย่างเฟซบุ๊กสามารถเติบโตในวงการโฆษณาออนไลน์ได้ดีกว่า จุดนี้ทำให้ทวิตเตอร์ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองจนทำลายขนบที่ตัวเองริเริ่มไว้ เช่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ คุณสมบัติใหม่ที่เปิดให้ผู้ใช้โพสต์ข้อความยาว 10,000 ตัวอักษร จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 140 ตัวอักษรเท่านั้น
ล่าสุด ซีอีโอทวิตเตอร์ “แจ็ค ดอร์ซีย์” (Jack Dorsey) ออกมาแสดงความเห็นแล้วว่า พร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้ทุกคน และยืนยันว่า จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสัปดาห์นี้แน่นอน