คาดเม็ดเงินโฆษณาปี ’59 ทะลุ 1.41 แสนล้าน โต 3.5% ค่าโฆษณาเตรียมปรับขึ้น 9% ทีวีดิจิทัล ขยับเพิ่ม 35%

สมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ MAAT ได้คาดการณ์ภาพรวมงบอุตสาหกรรมโฆษณาของปี 2016 จะมีอัตราเติบโตในอัตรา 3.5% ตามการเติบโตของ GDP ที่คาดการณ์กันว่าจะเติบโตในอัตรา 3 % หรือ คิดเป็นเม็ดเงินใช้จ่ายผ่านสื่อทั้งหมด 141,000 ล้านบาท  
 
สื่อทีวีดิจิทัล กับสื่อดิจิทัล ยังคงเติบโตสูงที่สุดที่ 50% และ 37% ตามลำดับ โดยที่สื่อนอกบ้าน, รถโดยสารประจำทาง, In-Store และดิจิทัล ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักโฆษณาที่ยังมีโอกาสอยู่ คาดการณ์ว่าจะมีการปรับราคาเพิ่ม 2-8% 
 
สื่อทีวีอนาล็อกจะมีการลดลง 4% เพราะผู้ชมอาจจะมีการเปลี่ยนไปดูทีวีดิจิทัลมากขึ้น แต่ยังคงครองสัดส่วนใหญ่ที่ 40% อยู่
 
 
เชื่อภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจขยับ
ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก
 
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมเติบโตได้ดีขึ้นยังคงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น การใช้งบโฆษณาก็จะเยอะขึ้น มีปัจจัยบวกจากนโยบายของทางภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ยังคงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกด้วย โดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่จะส่งผลกระทบได้ โดยที่ในปี 2016 นี้ได้มีการประเมิน GDP ของหลายๆ สำนัก มีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 3.5% ทำให้มีการคาดการณ์งบโฆษณาเติบโตที่ 3.5% เช่นกัน
 
 
คาดปรับขึ้นค่าโฆษณาขึ้น 9% ทีวีดิจิทัล ปรับมาก 35%
 
มีการคาดการณ์ราคาค่าโฆษณาของสื่อทีวีในภาพรวมจะมีการปรับขึ้น 9% แต่ถ้าวัดตามเรตติ้งจะปรับขึ้น 5% 
 
ทีวีอนาล็อกน่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าโฆษณา ทีวีดิจิทัลจะมีการปรับขึ้นพอสมควรราว 35% จะเป็นช่องที่มีฐานคนดูพอสมควร แต่ถ้าเอาปัจจัยเรื่องคนดูเข้ามาเกี่ยวข้อง ทีวีอนาล็อกอาจจะมีการปรับขึ้น 5% และทีวีดิจิทัลปรับขึ้น 4% ส่วนทีวีเคเบิ้ล/ดาวเทียมปรับขึ้น 11%
 
 
ในส่วนของนอน-ทีวี หรือสื่ออื่นๆ อย่างเช่นนิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโรงภาพยนตร์ มีการคาดการณ์ว่าจะไม่มีการปรับราคาขึ้น
 
 
เม็ดเงินดโฆษณา ปี 2558 ใช้ไป 1.3 แสนล้าน โต 3%
 
ส่วนในปี 2015 ที่ผ่านมา สมาคมมีเดียฯ ได้สรุปภาพรวมงบอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา พบว่าโตขึ้นเพียง 3% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปี 2014 โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 136,251 ล้านบาท ปัจจัยหลักยังเกิดจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งภาวะฝนแล้งที่เกิดขึ้นทำให้รายได้ต่อครัวเรือนของประชากรลดลง ส่งผลถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่น้อยลงด้วย 
 
ทีวีครองแชมป์
 
งบโฆษณาส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มของ “โทรทัศน์” มากที่สุดที่ 60% หรือคิดเป็นมูลค่า 82,094 ล้านบาท ลดลง 1% กลุ่มดิจิทัลทีวีมีการเติบโตสูงที่สุดที่ 71% หรือมีมูลค่า 14,652 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการโยกงบมาจากกลุ่มทีวีอนาล็อคเดิม และกลุ่มทีวีดาวเทียม ทำทีวีอนาล็อกให้มีการลดลง 10% หรือมีมูลค่า 57,526 ล้านบาท  
 
กลุ่มที่มีการเติบโตอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ “สื่อดิจิทัล” หรือสื่ออินเทอร์เน็ต ในปี 2014 มีรายได้รวมที่ 6,115 ล้านบาท มีสัดส่วน 5% ของงบทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็น 9,869 ล้านบาท ในปี 2015 หรือเติบโตขึ้นถึง 61% และมีสัดส่วน 7% ของภาพรวมโฆษณา
 
ส่วนในกลุ่มของสื่อนิตยสาร และหนังสือพิมพ์ มีการลดลง สื่อหนังสือพิมพ์ลดลง 5% มูลค่า 17,489 ล้านบาท สื่อนิตยสารลดลง 14% มูลค่า 4,505 ล้านบาท โดยที่สื่อโรงภาพยนตร์ และสื่อ Transit ยังมีโอกาสเติบโตอยู่ มีการเติบโตที่ 18% และ 17% ตามลำดับ
 
 
ยูนิลีเวอร์ ตัดงบโฆษณาลง 17% 
 
เมื่อดูภาพรวมของผู้ลงโฆษณา ยูนิลีเวอร์ยังอยู่ในอันดับหนึ่ง แต่มีการใช้ลดลง 17% มีมูลค่า 7,580 ล้านบาท เพราะมีการใช้งบของทางด้านสกินแคร์ และแฮร์แคร์ลดลง ส่วนโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ค่ายยังคงมีการใช้งบโฆษณาเยอะอยู่ เพราะมีการแข่งขันในตลาดที่ดุเดือดตลอดทั้งปี ซึ่งกลุ่มของภาครัฐบาลเป็นกลุ่มที่ติดอันดับกลุ่มใหม่ มีการใช้งบ 2,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% ส่วนที่หลุดออกไปคือลอริอัล
 
 
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้งบมากที่สุดยังคงเป็นกลุ่มรถยนต์ ด้วยมูลค่า 10,238 ล้านบาท มีการใช้เพิ่มขึ้น 1% แบรนด์ที่มีการขับเคลื่อนมากที่สุดยังคงเป็นโตโยต้า และฮอนด้า รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีการใช้งบไป 10,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% และอันดับที่ 3 กลุ่มสกินแคร์ ใช้งบไป 8,815 ล้านบาท ลดลง 13%
 
 
ทางด้าน 10 แบรนด์ ที่มีการใช้งบโฆษณามากที่สุด ค่ายมือถือทั้ง 3 ค่ายยังมีการใช้งบโฆษณาเยอะอยู่ รวมถึงภาครัฐบาลก็มีการใช้งบโฆษณาเยอะเช่นกัน โดยอันดับหนึ่งเป็นทรูมูฟใช้เงินโฆษณาไป 3,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% และในส่วนของซัมซุงมีติดอันดับเป็นแบรนด์ใหม่ใช้เงินโฆษณาไปกับเรื่องโทรศัพท์มือถือค่อนข้างมาก มีการใช้งบไป 1,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% ส่วนพอนด์มีการใช้งบโฆษณาลดลงไป 30% ทำให้หลุดจากอันดับไป รวมถึงช่อง 9 อสมท.แม้จะไม่ได้ใช้งบน้อยลง แต่มีแบรนด์อื่นที่ใช้มากกว่าเท่านั้นเอง