เซเว่นอีเลฟเว่น VS อบต. ใครจะเหนือกว่ากัน ศึกชิงลูกค้า 2G – โมบายดาต้า เกมเดือดค่ายมือถือยุค 4G

เมื่อ 3 โอเปอเรเตอร์ เอไอเอส-ดีแทค-ทรู งัดสารพัดกลยุทธ์การตลาด ฟ้องร้องทางกฎหมาย ชิงไหวชิงพริบ เพื่อเปิดศึกชิงฐานลูกค้า 2G จนถึงโมบายดาต้า ในยุค 4G 
 
นับตั้งแต่หลังการประมูลคลื่น4Gแล้วเสร็จ3กลยุทธ์หลักที่โอเปอเรเตอร์รายเดิมทั้ง3เจ้าต่างเลือกนำมาใช้เพื่อแย่งชิงจังหวะการเปลี่ยนผ่านจากยุค 2G มาเป็น 3G และ 4G กลายเป็นเกมที่น่าจับตาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เนื่องมาจากป็นการเปิดหน้าไพ่ แจกหมัดเด็ด ชิงไหวชิงพริบกันตามความเร็วของบริการ 4G
 
การแย่งชิงฐานลูกค้าที่ยังใช้งานระบบ2Gบนคลื่น900 Mhzของทางเอไอเอส ถือเป็น1ในเป้าหมายสำคัญที่ทางทรูมูฟเอชเอง ก็หวังที่จะคว้าฐานลูกค้ากลุ่มดังกล่าวให้เข้ามาอยู่ในระบบให้มากที่สุด จากการที่เป็นผู้ชนะใบอนุญาตให้บริการบนคลื่นความถี่ 900 MHz อย่างเป็นทางการ ที่ในเวลานี้เหลือรอแค่เข้าไปชำระเงินงวดแรกพร้อมแบงก์การันตี ก็จะเป็นเจ้าของคลื่นโดยสมบูรณ์
 
สำหรับปริมาณของกลุ่มลูกค้าที่ใช้งาน2Gบนคลื่น900 Mhzของเอไอเอส เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา จากข้อมูลล่าสุดในการแถลงผลประกอบการ พบว่ามีลูกค้าที่ยังใช้งานบนสัญญาร่วมการใช้งาน2G คลื่น 900 Mhzราว6.5แสนราย กับอีกราว11ล้านราย ยังใช้งานเครื่องรองรับ2G แม้ว่าจะย้ายมาใช้บริการAIS 3G คลื่น 2100แล้วก็ตาม
 
 
อบต. + เทศบาล VS เซเว่นอีเลฟเว่น ใครจะเหนือกว่ากัน
 
หลังจากยอมยกธงขาวในการประมูลคลื่น 900 MHz แต่เอไอเอสก็ไม่ปล่อยให้คู่แข่งตั้งหลักได้ ใส่เกียร์เดินหน้าออกแคมเปญเร่งให้ลูกค้าย้ายจาก 2G มาใช้งาน3Gอย่างต่อเนื่อง ด้วยการแจกเครื่องมือถือ 3G และ 4G ให้ฟรี โดยลูกค้าต้องเติมเงินล่วงหน้าตามที่กำหนด ซึ่งเงินที่เติมสามารถนำมาเป็นค่าโทรได้ 
 
งานนี้ต้องถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของเอไอเอส เพราะเมื่อเอไอเอสเลือกไม่ประมูลต่อ เอไอเอสจำเป็นต้องรักษาฐานลูกค้า 2G ที่ใช้คลื่น 900 MHz เอาไว้ให้มากที่สุด และถึงลูกค้าเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าระดับฐานราก อยู่ต่างจังหวัดห่างไกลใช้งานไม่มาก แค่โทรเข้าออกเป็นหลัก แต่หากปล่อยให้คู่แข่งชิงไปได้ ย่อมหมายถึงส่วนแบ่งตลาดที่จะหายไป ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเอไอเอสแน่ ๆ 
 
ความเคลื่อนไหวล่าสุด จึงได้มีการต่อระยะเวลาในการเปลี่ยนมือถือ2G เป็นเครื่องใหม่ 3G/4Gต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่ยังคงวิธีการเดิมคือให้ลูกค้าที่ใช้งานมือถือ2Gกดจองเครื่อง90099เพื่อนัดรับเครื่องทั้งที่ศูนย์บริการ และที่ อบต. และเทศบาลทั่วประเทศ รวม 8,000 กว่าแห่ง โดยมีตัวเลือกให้เลือก4แบบ คือ โทรศัพท์ปุ่มกด, สมาร์ทโฟน3.5, สมาร์ทโฟน4 และสมาร์ทโฟน4G เพียงเติมเงินเข้าในระบบตั้งแต่ 100 – 1,290 บาท
 
ตัวเลขที่เอไอเอสเปิดเผยมาล่าสุด ตั้งแต่ออกแคมเปญวันที่ 12 กุมภาพันธ์ มีลูกค้าที่ใช้มือถือ2Gได้ทยอยไปแลกเครื่องเป็น3Gหรือ4Gแล้ว ทั่วประเทศ ทุกวัน รวมกัน1.6ล้านราย และที่กดจองเครื่องแล้วแต่อยู่ในระหว่างการนัดหมายเพื่อรับเครื่องอีกราว1ล้านราย
 
 
ทรูใช้ 7-11 เป็นฐานอัดโปรย้ายค่าย-เติมเงิน-รับเครื่องฟรี
 
ในขณะที่ทรูเองก็หวังจะช่วงชิงลูกค้า 2G จากเอไอเอสมาไว้ในมือ ด้วยการออกแคมเปญไปย้ายค่ายเบอร์เดิมรับเครื่อง3Gฟรี โดยใช้ช่องทางภายในกลุ่มทั้งร้านทรูชอป และร้านสะดวกซื้อ7-11ที่มีสาขากว่า 8,000 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเปิดให้ลูกค้าสามารถทำเรื่องย้ายค่าย รับโทรศัพท์ที่รองรับ3Gพร้อมซิมฟรี และสิทธิพิเศษอย่างเน็ต4Gไวไฟ และทรูพอยต์เพิ่มด้วย
 
มือถือฟรีของทรู จะมีให้เลือกด้วยกัน3รุ่น ตั้งแต่มือถือปุ่มกด สมาร์ทโฟนจอ3.5นิ้ว สมาร์ทโฟนจอ4นิ้ว มูลค่า1,590บาท และสมาร์ทโฟน4Gจอ4นิ้ว มูลค่า 1,990บาท เมื่อเติมเงิน หรือชำระค่าบริการล่วงหน้า ตั้งแต่ 90 – 1,000บาท พร้อมได้รับโปรโมชันพิเศษส่วนลดค่าโทรและเน็ต50% โดยทางทรูระบุว่าจะเริ่มให้บริการคลื่น 900 MHzภายในเดือนมีนาคมหลังได้รับอนุญาตและพร้อมให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศภายในเดือนพฤษภาคม2559
 
 
เปิดศึกฟ้องร้อง
 
เพียงแต่ว่าเรื่องไม่ได้จบเพียงแค่แต่ละค่ายทำแคมเปญการตลาด และช่องการแจกเครื่องที่มากกว่ากันเท่านั้น แต่ยังเปิดศึก “ฟ้องร้อง” ระหว่างกัน
 
เมื่อบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือทรู ได้แจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ว่า เอไอเอสได้ปิดกั้นมิให้ลูกค้าสามารถโทรติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือทรูมูฟ เอช แคร์ 1331 เพื่อขอย้ายค่ายเบอร์เดิมจากเครือข่ายเอไอเอส มาเป็นทรูมูฟ เอช 
 
ทาง บก.ปคบ.ได้มีการรับเรื่องไว้ และส่งต่อให้ทางสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มารับเรื่องร้องเรียนแทน โดยระบุด้วยว่า กรณีดังกล่าว หากเกิดความเสียหายต่อการดำเนินธุรกิจนั้นเป็นคดีอาญาถึงจะดำเนินการ แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้บริการก็จะให้ทาง  กสทช. ดูแลต่อไป
 
ต่อจากนั้นทางฝั่ง “เอไอเอส” ได้มีการทำหนังสือชี้แจงออกมาระบุว่า บริษัทไม่ได้มีการปิดกั้นการสื่อสารของลูกค้าแต่อย่างใด และลูกค้าเอไอเอสสามารถโทรออกไปยังทุกเบอร์ได้ตามปกติ เพียงแต่ขณะนี้อยู่ในช่วงการสื่อสารถึงลูกค้าที่ยังใช้เครื่อง 2G จึงทำให้เมื่อโทรออกแล้วจะได้ยินเสียงประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าเปลี่ยนเครื่องฟรี ก่อนเชื่อมกับเบอร์ปลายทางตามปกติ
 
ขณะเดียวกันได้มีการใช้เกมใต้ดินดึงดูดลูกค้าให้ย้ายมาใช้งานทรูมูฟ เอช โดยใช้ข้อความในเชิงโจมตีคู่แข่งว่า ในอนาคตอันใกล้ซิมจะดับอย่างเอไอเอส เพราะไม่มีคลื่น 900 MHz แล้ว ส่วนทางดีแทคก็จะดับในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือใช้งานได้ไม่ดีเหมือนเดิมเพราะไม่มีคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz
 
พร้อมกับระบุว่า ถ้าใช้งานทรูจะสามารถใช้งานได้ทุกคลื่นความถี่ 850 MHz 900 MHz 1800 MHz และ 2100 MHz ถือเป็นอีกหนึ่งเกมที่เน้นใช้การโจมตีคู่แข่งในตลาดเพื่อให้ย้ายมาใช้งานเครือข่ายคุณภาพอย่างทรูมูฟ เอช ที่มีคลื่นครอบคลุมที่สุดแทน
 
 
อย่างไรก็ตาม ทรูระบุว่าการโปรโมตดังกล่าวเกิดขึ้นจากผู้ประกอบการร้านค้าทำขึ้นมาแปะในร้าน โดยไม่ได้มีการขออนุญาตจากทางทรู ดังนั้นจึงได้ประสานกับทางซีพี เพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวด้วยการกำหนดว่า ต่อไปในอนาคตจะใช้โปสเตอร์ในการโปรโมตอย่างเป็นทางการเพียงอย่างเดียว
 
เมื่อเกิดเหตุการเช่นนี้ จึงได้เห็นแผนการตีกลับจากทั้งเอไอเอสและดีแทค ด้วยการออกมาเปิดเผยว่า กำลังเจรจากับในการโรมมิ่งลูกค้าที่ใช้งาน 2G ของเอไอเอส มาใช้งานบนคลื่นของดีแทค ที่ทางซีอีโอของทั้ง 2 บริษัทได้ออกมายอมรับแล้วว่ามีการเจรจาเกิดขึ้นจริง แต่ยังไม่มีการเซ็นสัญญา ทำให้ลูกค้าทั้ง 2 ค่ายต่างใจชื้นขึ้นมาในการใช้บริการต่อไป
 
ไม่เท่านั้น เอไอเอสและดีแทคยังควงคู่กันไปยื่นหนังสือถึง กสทช. ขอให้มีการตรวจสอบกรณีที่ค่ายทรูโอนย้ายลูกค้าของผู้ให้บริการรายอื่นผ่านร้านสะดวกซื้อ อาจไม่ถูกตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนดไว้ เนื่องจากทรูให้ลูกค้าใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้ลงนามในเอกสาร จึงทำให้จำนวนการโอนย้ายเลขหมายเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างผิดปกติ และไม่อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกันกับผู้ประกอบกิจการรายอื่น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม และอาจถูกลักลอบโอนย้ายเลขหมายโดยผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของเลขหมายที่แท้จริงก็อาจเกิดขึ้นได้
 
แต่ต่อมา ทางทรูได้ออกมายืนยันว่า การย้ายค่ายเบอร์เดิมที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย โดยที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้พิจารณาแล้วว่า การโอนย้ายเลขหมายผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อ โดยใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ มิได้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และยังเป็นไปตาม พรบ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน จึงสามารถทำได้ ข้อเรียกร้องดังกล่าวจึงตกไป
 
อนาคตเซเว่นฯ อาจไม่ขายบัตรเติมเงินคู่แข่ง
 
ต้องดูว่า เอไอเอส และดีแทค จะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร เพราะสิ่งที่เอไอเอสและดีแทคยังมีข้อกังวลใจไม่ใช่เรื่องย้ายค่ายเบอร์เดิมเท่านั้น แต่ยังมีกระแสข่าวว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ไม่มีการจำหน่ายบัตรเติมเงินของเอไอเอสและดีแทค ก็เป็นไปได้ เนื่องจากเวลานี้ลูกค้าเริ่มหาซื้อบัตรเติมเงินที่เซเว่นอีเลฟเว่นไม่ได้แล้ว พนักงานจะแจ้งว่าหมด หรือไม่มีให้บริการ หากเป็นจริงก็เท่ากับว่าทั้งคู่จะขาดช่องทางการจำหน่ายตลาดพรีเพด (เติมเงิน) ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่กว่า 90% เป็นของบัตรเติมเงิน เมื่อคู่แข่งถูกตัดแขนตัดขา ก็เท่ากับว่าจะโอกาสทรูได้ชิงส่วนแบ่งพรีเพดมาครอง 
 
 
สงครามข้อมูลแบบความจริงครึ่งเดียว
 
กลยุทธ์ถัดมาคือการจับกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานดาต้า เพราะถ้ามองถึงฝั่งของผู้ให้บริการแล้ว ลูกค้าในกลุ่มที่ยังใช้งานเครื่อง2Gก่อนย้ายมาสู่ระบบ3Gไม่ได้ถือว่าเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลัก แต่จะเข้ามาช่วยในส่วนของปริมาณฐานลูกค้าที่แต่ละรายมีอยู่ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด
 
เพราะในความเป็นจริง กลุ่มลูกค้าหลักๆ ที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้ให้บริการทั้ง3รายในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากกลุ่มที่ใช้งานวอยซ์ มาเป็นกลุ่มที่ใช้งานดาต้าแล้ว และถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีการใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือน ส่งผลให้ปัจจุบันอัตราค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือนมีการขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผู้ให้บริการแต่ละรายเปิดให้บริการ4Gอย่างเต็มรูปแบบ
 
ทำให้ทั้ง3ค่ายต่างต้องออกมาแย่งชิงฐานลูกค้าที่ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ต ผ่านการให้ข้อมูล โดยในฝั่งของเอไอเอส จะเน้นข้อมูลไปในเชิงที่ว่า เมื่อถือครองคลื่นน้อยกว่า ก็สามารถชดเชยได้ด้วยการลงทุนที่เพิ่มขึ้น สามารถรองรับปริมาณลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีเงินมาทำแคมเปญแจกเครื่องให้ลูกค้าได้ด้วย 
 
ส่วนทางฝั่งทรู นำเสนอในมุมว่าเป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นความถี่มากที่สุดในเวลานี้ ทำให้สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพียงแต่ได้มีการหยิบยกประเด็นในเรื่องของ 4G Advanced ของจริงต้องเร็วเกิน 300 Mbps ก่อนจะยุติการเผยแพร่ไป เพราะในความเป็นจริงมาตรฐานดังกล่าวไม่ได้มีกำหนดความเร็วไว้อย่างชัดเจน แต่เป็นชื่อเรียกของการนำคลื่นความถี่หลายย่านนำมาให้บริการ (Carrier Aggregation : CA)
 
ดังนั้น คำว่า4G Advancedของจริง จึงเป็นอันตกไป เพราะผู้ให้บริการ4Gในตลาดตอนนี้ต่างมีการนำคลื่นความถี่มาให้บริการ4Gมากกว่า1ย่านความถี่กันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทรู ที่วางแผนจะนำทั้งคลื่น2100 MHz 1800 MHzและ900 Mhzบางส่วนมาใช้งาน ขณะที่เอไอเอสก็เปิดตัวด้วยการนำคลื่น2100 MHzและ1800 Mhzมาให้บริการ เช่นเดียวกับดีแทคที่ใช้ช่วงคลื่นดังกล่าวมาให้บริการด้วยเช่นเดียวกัน
 
 
ศึกแพ็กเกจเพิ่มดาต้า 
 
ประกอบกับการเริ่มสงครามแพ็กเกจที่แต่ละค่ายต่างงัดไม้เด็ดออกมากระตุ้นตลาด ด้วยการชูเรื่องของการที่ให้ลูกค้าย้ายค่ายได้รับส่วนลดแพ็กเกจ50% เป็นระยะเวลา12เดือนรวมถึงการออกแพ็กเกจเฉพาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการใช้งาน4Gที่ให้ปริมาณดาต้าเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่จะเฉลี่ยอยู่ราว18-20 GBก็กระโดดขึ้นไปสูงถึง75 – 80 GBในแพ็กเกจระดับราคาเกือบ2,000บาท ในขณะที่แพ็กเกจเริ่มต้นที่199บาท ก็จะได้เน็ตมาใช้งานชัวร์ๆ1.5 GB
 
เพียงแต่ในเวลานี้มีเพียงเอไอเอสและดีแทคเท่านั้น ที่มีการออกแพ็กเกจใหม่มาจับลูกค้าที่ใช้งานดาต้าปริมาณมากๆ ขณะที่ทรูยังคงใช้แพ็กเกจเดิมที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ดังนั้นเชื่อได้ว่าเมื่อทรูขยับตัวในแง่ของแพ็กเกจใหม่ออกมา ก็จะมีระดับราคาเทียบกับปริมาณดาต้าที่ได้ไม่แตกต่างกันมาก เพราะโดนการแข่งขันในตลาดนี้มาคอยกำหนดอยู่แล้ว
 
กลยุทธ์ล่าสุดที่ออกมาถี่มากขึ้นคือการร่วมกับแบรนด์สมาร์ทโฟน ในการทำแคมเปญลดราคาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าที่มีสมาร์ทโฟน3Gในมือ เปลี่ยนเครื่องใหม่มาใช้งานเครื่องที่รองรับ4Gดังจะเห็นได้จากช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ทั้ง3โอเปอเรเตอร์นำสมาร์ทโฟนเรือธงหลายๆ รุ่นออกมาจำหน่ายในราคาพิเศษ เพียงแต่จะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมอย่างต้องชำระค่าบริการล่วงหน้า และสมัครใช้งานแพ็กเกจควบคู่กันไปด้วย 
 
ทั้งหมดนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นของศึก 4G เท่านั้น เชื่อว่านับจากนี้เกมการแข่งขันจะยิ่งดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ  เพื่อช่วงชิงความเป็นเบอร์ 1 ในตลาดมือถือ ชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร