"เถ้าแก่น้อย" สู่เถ้าแก่ใหญ่ จากไทยแบรนด์สู่ "โกลบอลแบรนด์"

เป็นมิชชั่นที่ “เถ้าแก่น้อย” ตั้งเป้ามาตั้งแต่ปี 2557 ในการที่จะก้าวเท้าออกจากประเทศไทยสู่การเป็นแบรนด์อินเตอร์ โดยเริ่มต้นสเต็ปแรกกับการเป็นแบรนด์สาหร่ายอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2561 พร้อมมีรายได้ 5,000 ล้านบาท และก้าวขึ้นสู่เป็นโกลบอลแบรนด์ให้ได้ภายในปี 2567 ด้วยรายได้โตเท่าตัว 10,000 ล้านบาท
 
ทำให้ความท้าทาย และกลยุทธ์ส่วนใหญ่ จึงมุ่งไปอยู่ที่การเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว และเน้นตลาดส่งออก ซึ่งปัจจุบันได้ตีตลาดต่างประเทศไปแล้ว 34 ประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน และจีน เป็นต้น ทำให้ในปัจจุบันสัดส่วนรายได้ในส่วนของต่างประเทศของเถ้าแก่น้อยแซงหน้าในประเทศไปแล้วอยู่ที่ 52% และในประเทศ 48% แต่ภาพในฝันของ “ต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” อยากให้เป็นสัดส่วนต่างประเทศ 90% และในประเทศ 10% ด้วยซ้ำ เพราะต้องการตอกย้ำความป็นโกลบอลแบรนด์   
 
ประเทศจีนเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีโอกาสในการเติบโตสูง และต้องการโฟกัสเป็นพิเศษ เพราะได้อานิสงส์จากคนจีนได้มาเที่ยวที่เมืองไทยบ่อย และได้เห็นสินค้าเถ้าแก่น้อยจากในหลายๆ ประเทศที่มีการทำตลาดไปแล้ว ประเทศจีนสามารถสร้างรายได้ในสัดส่วนถึง 23.9% รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย 59% มาเลเซีย 4.2% ฮ่องกง 3.1% สิงคโปร์ 2.9% ไต้หวัน 2.2% และอื่นๆ 9.9% อีกทั้งเถ้าแก่น้อยยังติดอันดับ Shopping List ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนต้องซื้อกลับไป ทำให้เถ้าแก่น้อยต้องโฟกัสมากขึ้น
 
อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราบุกตลาดประเทศจีนมา 5 ปีแล้ว ตอนแรกยังไม่รู้รสนิยมด้วยซ้ำ แต่ก็ได้เรียนรู้จากแพ็กเกจจิ้งที่จากปกติจะใช้ฉลากภาษาอังกฤษ แต่ที่จีนเราใช้ภาษาจีน ปรากฏว่าคนจีนไม่ค่อยโอเค เพราะคิดว่าเป็นสินค้าของประเทศเขา ทำให้เราเรียรู้และเปลี่ยนแปลงตลอด แต่โชคดีของเราที่ได้ดิสทริบิวเตอร์โลคอลที่เก่งมากๆ ที่กวางเจา และเซี่ยงไฮ้ เหมือนกับคนท้องถิ่นทำตลาดให้เลย รวมทั้งคนจีนได้รู้จักเถ้าแก่น้อยจากหลายๆ ประเทศที่ได้เข้าไปทำตลาดแล้ว”
 
แตกไลน์ทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป-มะพร้าวผง 
 
แต่เมื่อมองสเกลที่เล็กลงมาเป็นการทำตลาดภายในประเทศ ก็ยังคงเน้นที่ตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ เน้นที่ช่องทางร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ ทีจะเป็นใบเบิกทางสำคัญในการให้นักท่องเที่ยวซื้อของฝากกลับไป กลยุทธ์สำคัญก็คือการออกสินค้าใหม่เพื่อตอบรับกับกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ในปีนี้ได้ออกมาแล้ว 2 ตัวด้วยกัน คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (ราเม็ง) และน้ำมะพร้าวแบบผง
 
อิทธิพัทธ์ บอกว่า ในการออกสินค้าใหม่จะมีหลักเกณฑ์ดังนี้ 
 
1.ดูตามกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก 
 
2.สินค้าจะต้องมีมาร์จิ้น 38-40%
 
3.เป็นสินค้า ที่นักท่องเที่ยวต้องการ เช่น การที่เถ้าแก่น้อยมาทำราเม็งเพราะลูกค้าที่มาซื้อของที่เถ้าแก่น้อยแลนด์ จะซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลับไป จะมีทั้งมาม่า ไวไว ยำยำ ส่วนน้ำมะพร้าวก็เช่นเดียวกัน คือกลุ่มนักท่องเที่ยวจะชื่นชอบน้ำมะพร้าวมาก แต่ติดที่ว่าซื้อเป็นลูกกลับไปลำบาก เราเลยคิดออกมาในรูปแบบผงเพื่อซื้อกลับไปง่าย
 
ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป/ น้ำมะพร้าวผง เพิ่งทดลองวางจำหน่ายไปเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ทั้ง 5 สาขา ซึ่งถ้ามีผลตอบรับที่ดีอาจจะมีแนวโน้มทำและวางจำหน่ายที่คิงพาวเวอร์ และร้านขายของฝากที่เป็นจุดสำหรับนักท่องเที่ยวลง หรืออาจจะผลิตเพื่อส่งออกเลยก็ได้
 
สำหรับแผนในในประเทศ ยังคงมุม่งเน้นสาหร่ายเช่นเดิม แต่เพิ่มอัตราการกินให้มากขึ้น และหาวิธีการขายในช่วงเทศกาลต่างๆ รวมถึงหาผู้บริโภคหน้าใหม่ให้มากขึ้น
 
ในปีนี้จะมีสินค้าใหม่สำหรับขายในประเทศอีก 2 รายการ ต่างประเทศ 2 รายการ และขายกลุ่มนักท่องเที่ยวอีกหลายรายการ ตั้งเป้าเติบโต 15% แบ่งเป็น 10% จากตลาดต่างประเทศ และ 5% จากตลาดในประเทศ จากปี 2558 ที่ผ่านมามีรายได้รวมทั้งหมด 3,500 ล้านบาท