เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็จะถึงเส้นตาย เบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้บริการ 2G บนคลื่นความถี่ 900 MHz ของเอไอเอส ราว 3-4 แสนราย จะไม่สามารถใช้งานได้ หรือ ซิมดับ หลังจากเที่ยงคืนของวันที่ 15 มีนาคม
ยิ่งเมื่อมาตรการเยียวยาของเอไอเอส ไม่ได้รับการตอบสนองจาก กสทช. ที่ยืนยันตลอดว่า หลังจากออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะประมูลรายใดรายหนึ่งแล้ว มาตรการคุ้มครองลูกค้าสัมปทาน จะต้องสิ้นสุดลง นั่นคือ หลังเที่ยงคืนของวันที่ 15 มีนาคม 2559 ลูกค้า 2G ที่ใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ที่ยังเหลืออยู่ 4 แสนเลขหมายจะใช้งานไม่ได้ หรือ ซิมดับ
เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 14 มีนาคม 2559 เอไอเอสได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อคัดค้านมติคณะกรรมการกิจการโทรคมนคมแห่งชาติ (กทค.) ที่ไม่อนุมัติให้ขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ
พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้เอไอเอสยังคงให้บริการในช่วงคลื่นความถี่ชุดที่ 1 (แจสชนะประมูลได้) แต่ยังไม่ได้ถูกจัดสรร ให้แก่ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการต่อไปอีกระยะหนึ่ง
โดยเช้าวันนี้ (15 มีนาคม) ศาลปกครองกลางได้มีการนัดไต่สวนฉุกเฉิน โดยมีเอไอเอส ในฐานะผู้ฟ้องคดี และคณะกรรมการ กสทช. ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีไปให้ถ้อยคำต่อศาล
ซิมลูกค้าเอไอเอส 4 แสนราย ดับเที่ยงคืน 15 มี.ค.
เมื่อวานนี้ (14 มีนาคม 2559) เวลา 9.00 น. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีมติรับรองออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่สาม และใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz ชุดที่ 2 คลื่นความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz ให้กับบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือทรู มูลค่า 76,298 ล้านบาท โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 2559-15 มี.ค. 2574 รวมระยะเวลา 15 ปี
การรับมอบใบอนุญาต ถือเป็นการเปิดฉากการใช้คลื่น 900 MHz ของทรู อย่างเป็นทางการ
ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 15 มี.ค. 2559 เป็นต้นไป เบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้บริการ 2G บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของเอไอเอส ที่มีอยู่ประมาณ 3 แสนเลขหมาย จะไม่สามารถใช้งานได้ หรือซิมดับลง
กสทช. ระบุว่า เพื่อเป็นไปตามมติ กทค. ก่อนหน้านี้ที่ว่า เมื่อมีการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ชนะการประมูลรายใดรายหนึ่งแล้ว มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการกรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานถือว่าสิ้นสุดลง โดยให้ลูกค้าเอไอเอส 2G คลื่น 900 MHz ยังมีเวลาโอนย้ายอีกสองวัน จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 15 มี.ค. 2559 ให้รีบทำการโอนย้ายเบอร์ไปยังผู้ให้บริการรายอื่นก่อนที่ซิมจะดับ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 กสทช. ได้แจ้งผู้ใช้บริการเพื่อย้ายค่าย หรือหากไม่ย้ายค่ายก็ให้เปลี่ยนใช้คลื่นความถี่อื่น ซึ่งการโอนย้ายผู้ใช้บริการสามารถทำได้วันละ 6 หมื่นเลขหมาย และหากมีการโอนย้ายตั้งแต่วันที่สำนักงาน กสทช. แจ้งไป ผู้ใช้บริการก็จะไม่ได้รับผลกระทบ หรือมีผลกระทบน้อยมาก
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวบนคลื่น 900 MHz เป็นในลักษณะเดียวกันกับการดำเนินการกรณีคลื่น 1800 MHz ที่เมื่อมีการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ชนะการประมูลรายใดรายหนึ่งแล้วมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการกรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานถือว่าสิ้นสุดลง
กสทช.จะมีติดตามปัญหาการใช้บริการตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 15 มี.ค. นี้ และหากพบว่ามีปัญหาการใช้งานประชาชนสามารถร้องเรียนผ่านศูนย์คอลเซ็นเตอร์ เลขหมาย 1200 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
เอไอเอสเสนอเยียวยา ขอใช้คลื่น 900 ของแจส
ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน เอไอเอส นำโดย สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้จัดแถลงข่าว เพื่อยืนยันว่าที่ผ่านมา เอไออเอส ทำทุกอย่างที่จะไม่ให้ลูกค้าที่ใช้คลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 12.9 ล้านเลขหมาย ต้องซิมดับ
ตั้งแต่ การทำแคมเปญ ให้ลูกค้านำมือถือเก่ามาแลกมือถือ 3G หรือ 4G ด้วยการเติมเงินที่มีให้เลือกหลายราคา เพื่อรับเครื่องฟรี ที่ อบต. ทั่วประเทศ โดยปัจจุบันลูกค้า5 ล้านเลขหมายที่เปลี่ยนเครื่องไปแล้ว
ปัจจุบันเอไอเอสยังเหลือลูกค้า 2G บนคลื่นความถี่ 900 MHz 4 แสนเลขหมาย ลูกค้าทีโอทีที่ยังโรมมิ่งอยู่ 2 แสนเลขหมาย และยังมีลูกค้าเอดับบลิวเอ็นที่ยังคงถือเครื่องมือถือ 2G อีกราว 7.6 ล้านเครื่อง ซึ่งในส่วนนี้ เอไอเอสได้โรมมิ่ง 2G คลื่น 1800 MHz ของดีแทค เพื่อให้กลุ่มที่เปลี่ยนเครื่องไม่ทัน ใช้งานได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่อง
ดังนั้นส่วนของลูกค้าที่จะเกิดปัญหาซิมดับ คือ 4 แสนราย และมีในส่วนของ 7.6 ล้านรายบ้างที่อาจกระทบ เนื่องจากสัญญาณของดีแทคไม่ครอบคลุม แต่ก็เป็นลูกค้าส่วนน้อย
ที่ผ่านมา เอไอเอสได้ขยายเครือข่าย 3G/4G อีก 4 หมื่นล้านบาท โดย 1 หมื่นล้านบาท ถูกใช้ไปในการอุดรูรั่วระหว่างรอยต่อสัญญาณเพื่อให้ครอบคลุม
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา เอไอเอสได้ทำหนังสือไปยัง กสทช. 3-4 ครั้ง เพื่อขอให้ขยายระยะเวลาของมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้เวลาในการโอยย้านลูกค้า เพราะมองว่าเป็นอำนาจของ กสทช.ที่จะดำเนินการไม่ให้ผู้ใช้ได้รับผลกระทบได้
ปฏิเสธใช้คลื่นทรู เพราะผิดกฎหมาย
แนวทางเอไอเอสจะทำได้ คือ การขอ กสทช. เช่าช่วงคลื่น 900 MHz ล็อต 1 จำนวน 5 MHzที่ทางแจสประมูลได้ไป แต่ยังไม่ได้มาชำระค่าใบอนุญาตแทน เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือจนถึงประมาณ 30 มิถุนายน 2559 หรือโดยยินดีนำส่งรายได้ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนด
ส่วนกรณีที่ทรูเสนอให้ใช้คลื่น900 MHz ชั่วคราว 3 เดือนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายนั้น ไม่สามารถทำได้จริงไม่ว่าจะใช้ฟรีหรือเช่า เพราะติดข้อกฎหมายที่มีข้อห้ามไม่ให้ผู้อื่นร่วมใช้คลื่นความถี่ และในทางปฏิบัติก็เป็นไปได้ยาก เพราะเอไอเอส ใช้คลื่นล็อตที่ 1 ที่แจสประมูลได้ ไม่ใช่ลอตที่ 2 ของทรู
นอกจากนี้ ทรูเองไม่ได้เสนอให้เอไอเอสใช้คลื่นความถี่อย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น
เอไอเอสตั้งข้อสังเกตว่า ที่น่าแปลก คือ กสทช. กลับเสนอให้เช่าใช้ลอต 2 ของทรู บอกว่าเอไอเอสสามารถทำได้ แต่พอเป็นลอต 1 ที่คลื่นยังอยู่ในมือของ กสทช. กลับทำไม่ได้
อีกแนวทาง คือ ให้ กสทช.อนุญาตให้ย้ายลูกค้า 2G จำนวน 4 แสนราย มาใช้ 3G แบบอัตโนมัติ จะช่วยแก้ปัญหาซิมดับได้ทันที
เอไอเอสระบุว่า ในช่วงบ่ายทางเอไอเอสจะเข้าไปคุยกับทาง กสทช. เพื่อหารือถึงแนวทางดังกล่าวให้สามารถทำได้ หรืออย่างน้อยก็ขอให้ กสทช. ขยายเวลาต่อไป 1 สัปดาห์
อัดข้อเสนอ ให้แลกซิมใหม่ ให้มือถือ แถมค่าโทรฟรีให้อีก 50 บาท
เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้า 2G มาแลกซิมให้เร็วยิงขึ้น เอไอเอสได้เพิ่มข้อเสนอให้ลูกค้าในกลุ่ม 4 แสนรายที่ซิมดับ สามารถนำซิมที่ดับเลขหมายเดิมมาแลกซิมใหม่เบอร์ใหม่ พร้อมรับเครื่อง 3G หรือ 4G แถมค่าโทรฟรี 50 บาท ได้ที่ศูนย์บริการเอไอเอส เทเลวิซ เอไอเอสบัดดี้ รวมถึง อบต. เทศบาลทั่วประเทศได้จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม
ปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด เอไอเอส บอกว่า เป็นไปตามปกติของการเปลี่ยนผ่าน ลูกค้ามักจะรอกันจนวันสุดท้าย และเมื่อลูกค้าไม่สามารถใช้งานได้ ก็จะมาติดต่อที่ศูนย์บริการ เพื่อขอทำเรื่องให้ใช้งานได้ต่อเอไอเอส
ลูกค้า 4 แสนรายของเอไอเอสส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าต่างจังหวัด มีการใช้ค่าบริการเฉลี่ย 100 บาท/เดือน
เอไอเอสฟ้องศาลปกครอง
เมื่อเห็นว่า ท่าทีของ กสทช. ยังคงยืนยันตามมติเดิม คือ ไม่ขยายมาตรเยียวยาตามที่เอไอเอสขอมา โดยยังยืนยันที่จะให้ประชาชนโอยย้ายบริษัทผู้ให้บริการ หรือย้ายหมายเลขให้แล้วเสร็จภายในเที่ยงคืนของวันที่ 15 มี.ค. เป็นต้นไป
จึงทำให้เอไอเอสต้องใช้มาตรการทางด้านกฎหมาย ด้วยการยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้เอไอเอสยังคงให้บริการในช่วงคลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 1 ที่แจสประมูลได้ แต่ยังไมได้จัดสรรให้กับแจส เพราะยังไม่ได้นำเงินมาชำระ ตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการต่อไปอีกระยะหนึ่ง