แจส เบี้ยวจ่ายใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ดับฝันผู้ให้บริการรายที่ 4 ดีแทค-เอไอเอส ลุ้นประมูลอีกครั้ง แต่จะไปต่อ ใครจะได้ร่วมวง ขึ้นอยู่กับ กสทช.จะเดินเกมรอบใหม่อย่างไร
หลังจากที่รอลุ้นกันอยู่นาน ในที่สุด แจส โมบาย บรอดแบนด์ ก็ไม่เดินทางมาจ่ายค่าใบอนุญาตให้กับ กสทช. ตามข้อกำหนดของการประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ภายใน 90 วัน ซึ่งมีกำหนดเส้นตาย คือในวันที่ 21 มีนาคม 2559 เวลา 16.30 น.
นับตั้งแต่ประมูลได้มา พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ตั้งโต๊ะแถลงข่าว ถึง 2 ครั้ง แบบห่างกันแค่วันเดียว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า แจสไม่ได้มาเล่นๆ เพราะมีทั้งฐานลูกค้าจาก 3 BB และยังระบุถึงแหล่งเงินกู้ที่มาจากธนาคารกรุงเทพฯ
แต่หลังจากนั้น แจส โมบายก็เงียบหายไป มีแต่กระแสข่าวจากสถาบันการเงินมาเป็นระลอก แต่ก็ไร้คำตอบจากแจส จนเมื่อมีการเคลื่อนไหวของแจสที่มีทั้งการจ่ายเงินปันผล และการประกาศซื้อหุ้นคืน รวมเป็นเงิน 6 พันล้านบาท นักวิเคราะห์ต่างก็ตีความกันไปคนละขั้ว มีทั้งเดินหน้า และถอดใจ
จนคำตอบมาแน่ชัดเมื่อไร้เงาแจสเดินทางมาชำระเงินในเวลา 16.30 ของวันที่ 21 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นเส้นตายสุดท้าย โดยที่ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ จากแจสเช่นเคย
แต่การไม่มาชำระเงินของแจส ใช่ว่าจะจบลงง่ายๆ เพราะถือว่าสั่นสะเทือนวงการไม่น้อย กสทช. เองถูกมองว่าจัดการประมูลไม่รัดกุมมากพอ ในขณะที่การแข่งขันของผู้ให้บริการมือถือที่เคยลุ้นกันว่าจะมีเบอร์ 4 เข้ามาเขย่าตลาดก็ยังอยู่ในมือของ 3 รายเดิมต่อไป และที่ต้องลุ้นกันต่อไป คือ การนำคลื่นความถี่ 900 MHz ออกมาประมูลใหม่
ส่วนแจสเองต้องถูกปรับไปตามระเบียบ ถูกริบเงินค้ำประกันจำนวน 644 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในรูปของเช็กเงินสดทันที
นอกจากนี้ เรื่องค่าเสียหายจากค่าเสียโอกาส ที่แจสต้องถูกปรับเป็นเงินอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งกสทช.ได้แต่งตั้งคณะทำงาน โดยมีอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย และตัวแทนจากกระทรวงการคลัง อัยการสูงสุดเข้ามาร่วมประเมินความเสียหาย รวมทั้งเรื่องของการที่ต้องถูกแบล็กลิสต์ไม่ให้เข้าประมูล และอาจต้องรวมถึงการถูกยึดใบอนุญาตอื่นๆ และอาจกลายเป็นคดีอาญา
แต่แจสได้ชี้แจงกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่แจสโมบายจะต้องถูกริบเงินประกันการประมูล 644 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากแจสโมบายมิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขใดๆ ตามข้อ 5.2 ของหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 900 MHz
สะท้อนว่า แจสคงไม่ยอมจ่ายเงินค่าเสียโอกาสเพิ่มให้กับ กสทช.ง่ายๆ เป็นอีกโจทย์ที่ กสทช.ต้องกลับไปขบคิดกันต่อว่าจะดำเนินการเอาผิดกับแจสอย่างไร
ความเงียบเชียบของแจส ทำเอาตลาดหลักทรัพยฯ ขึ้นป้ายห้ามซื้อขายหุ้น เพื่อให้แจสมาอธิบายสาเหตุไม่มาจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ในวันที่ 21 มีนาคม
แจสระบุถึงสาเหตุว่า ผู้สนใจร่วมลงทุนซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศจีน และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ของประเทศจีน ติดข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาในการขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องของประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จประมาณกลางเดือนเมษายน 2559 และ กสทช.ก็ไม่สามารถผ่อนผันเงื่อนไขของเวลาได้ จึงทำให้แจส โมบายไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกันจำนวน 72,000 ล้านบาท มาให้กับสำนักงาน กสทช.ได้ทันตามกำหนดเวลาในวันที่ 21 มีนาคม
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามซื้อขายหุ้นแจสต่อไปอีก เนื่องจากแจสยังชี้แจงข้อมูลไม่ครบถ้วนว่า ทำไมแจสโมบายไม่ทำตามเงื่อนไขเพื่อให้ได้ใบอนุญาต มูลค่าหลักประกันที่อาจถูกริบ และค่าใช้จ่ายต่างๆ และความเสียหายอื่น ผลกระทบต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน แต่ในที่สุดได้ให้ซื้อขายในวันถัดไป
ขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงขั้นที่ว่า การเข้าประมูลของแจส และทิ้งไพ่หมอบ ถือเป็นเกมที่ลึกล้ำมาก อาจเป็นการสมคบคิดเพื่อให้เป็น “ปาหี่” ที่มีผู้ได้และเสียประโยชน์ชัดเจน โดยเฉพาะทรูที่ต้องจ่ายค่าคลื่นไปในราคาแพงเกินความเป็นจริง ส่วนแจสเองก็ไม่ต้องเสียอะไร เนื่องจากเงินส่วนต่างที่ได้จากราคาหุ้นในตลาดจากการเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา ก็มากเกินกว่าเงินประกันการประมูลไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่ต้องจับตากันต่อไป คือ การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz รอบใหม่นี้ จะเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหน ภายใน 4 เดือนตามที่ กสทช.เคยกำหนดมาหรือไม่ ที่สำคัญ ราคาตั้งต้นในการประมูลรอบใหม่ ที่ล่าสุดที่ประชุม คณะกรรมการโทรคมนาคม หรือ กทค.ก็ได้สรุปเงื่อนไขสำคัญในการประมูลแล้วว่า จะต้องเริ่มต้นด้วยตัวเลข 75,654 ล้านบาท ตามที่แจสเคยประมูลได้ เพราะเป็นเงื่อนไขที่ทำไว้กับทรู ในการนำเงินมาชำระค่าใบอนุญาต หากมีการประมูลใหม่ ราคาเริ่มต้นต้องไม่ต่ำกว่านี้ แต่ราคาตั้งต้นอาจจะลดลงได้ 3 ระดับ
นอกจากนี้ กติกาในการตัวเลขการวางหลักประกันปรับใหม่ให้เข้มงวดมากขึ้น โดยอยู่ในสัดส่วน 10%, 20% และ 30% ของราคาเริ่มต้น จากนั้นจะเปิดฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้ง จากนั้นคาดว่าจะการประมูลได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้
เงื่อนไขดังกล่าว ก็ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าจะมีผู้เข้าประมูล หากดูท่าทีของดีแทค และเอไอเอส
ดีแทคเสนอ ราคาตั้งต้น 16,080 ล้านบาท ห้ามทรูประมูล
ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค ได้ออกมาสนับสนุนให้ กสทช.ประมูลคลื่น 900 MHzชุดที่ 1 ใหม่ (Re-auction) ตามประกาศ กสทช. กฎการประมูลและเงื่อนไขการประมูลซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน แต่ควรจำกัดไว้เฉพาะผู้ที่เข้าร่วมการประมูลที่เหลืออยู่จากการประมูลคลื่น 900 MHzคราวก่อนเท่านั้น
นอกจากนี้ ราคาขั้นต่ำ (Reserve Price) ของการประมูลคลื่น 900 MHzชุดที่ 1 ครั้งใหม่นี้ควรกำหนดที่ราคา 16,080 ล้านบาท เท่ากับการประมูลคลื่น 900 MHzคราวก่อน (ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมประมูลมีจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ราย) โดยวิธีนี้ จะเป็นการประมูลแข่งขันที่จะเป็นการกำหนดมูลค่าคลื่นความถี่ 900 MHzชุดที่ 1 ที่แท้จริงและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และขอให้มีการทำประชาพิจารณ์ด้วย
ส่วนเอไอเอส ก็แบ่งรับแบ่งสู้ โดยออกมาบอกว่าสนใจจะเข้าประมูล แต่ก็ต้องรอดูแนวทางของ กสทช.ที่จะพิจารณาออกมา ทั้งราคาประมูล และเงื่อนไขต่างๆ ว่าสอดคล้องกับการแข่งขันในตลาดหรือไม่ เพราะเอไอเอสก็ได้ลงทุนในการขยายเครือข่ายตามแนวทางที่ไม่มีคลื่น 900 MHz อยู่แล้ว จึงต้องดูว่าราคาตั้งต้นก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่
ในเมื่อท่าทีของเอไอเอสและดีแทค ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับราคาตั้งต้นประมูล ก็ต้องรอดูว่า กสทช.จะหาทางออกกับเรื่องนี้อย่างไร เพราะหากไม่มีผู้สนใจประมูลก็ต้องเก็บคลื่นไว้ 1 ปี จึงจะนำออกมาประมูลได้
ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มองว่า จะมีการเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 MHz เพราะไม่เช่นนั้นทรูจะเป็นผู้ให้บริการมือถือเพียงรายเดียวที่มีคลื่นความถี่ 900 MHz ในมือ ซึ่งทรูเองจะลงทุนเต็มที่ในคลื่น 900 ที่ได้ใบอนุญาตมา
ทีดีอาร์ไอเสนอราคาประมูลตั้งต้น 70,180 ล้านบาท
ทางด้านสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอให้ประมูลใหม่ภายใน 2-3 เดือน เพราะความต้องการมี และทำให้มูลค่าไม่ตกลงมาก เนื่องจากผู้ประกอบการน่าจะยังเสนอราคาประมูลไม่ต่างจากเดิมมากนักแม้ไม่มีแจสก็ตาม
ส่วนการตั้งราคาประมูลใหม่ หากเป็นราคาเดียวกับแจสชนะประมูลคือ 75,654 ล้านบาท มองแล้วไม่สมเหตุผล เพราะสูงกว่าผู้ประมูลรายอื่นที่เหลือทั้ง 3 รายเคยเสนอไว้ หาก กสทช. พยายามยึดถือราคาดังกล่าว ก็อาจมองได้ว่า กสทช. ไม่ต้องการให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นดังกล่าว ซึ่งจะมีผลนำไปสู่การผูกขาดบริการ 4G กสทช.
ควรนำคลื่นมาประมูลใหม่โดยเริ่มที่ราคาสุดท้ายที่ผู้ประกอบการทุกรายยังรับได้คือ 70,180 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ประกอบการรายแรกที่ออกจากการประมูลเสนอไว้เป็นครั้งสุดท้าย และควรให้ทรูเข้าร่วมประมูลด้วย เพิ่มการแข่งขันในการประมูล และเป็นธรรมแก่ทรู
นี่คือท่าทีของผู้เกี่ยวข้อง ดูแล้วยังเป็นโจทย์ใหญ่ของ กสทช.ต้องหาคำตอบว่าจะเดิมเกมเรื่องนี้อย่างไร
สู้กัน 3 ก๊ก 3 ค่าย แบบเดิม
การโบกมืออำลาจาก 4G ของแจส ส่งผลให้การแข่งขันจะคงมีผู้เล่น 3 รายเดิม เอไอเอส ดีแทค และทรู เป็น 3 ก๊กมือถือที่ต้องห้ำหั่นกันต่อไป
แม้ราคาหุ้นสื่อสาร 3 ราย จะขยับสูงขึ้นรับกับการไม่มีคู่แข่งรายที่ 4 ในตลาด แต่การแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งของทั้ง 3 ค่าย ก็ยังต้องสู้กันยิบตา และ “ลุ้น” กันชนิดตาไม่กะพริบ
เนื่องจากค่ายทรูนั้น หมายมั่นปั้นมือจากการยอมทุ่มประมูลชิง “คลื่นความถี่” ในมือมากที่สุด เพราะมองว่า จะเป็น “แต้มต่อ” สำคัญที่จะทำให้ทรูก้าวจากเป็นเบอร์ 3 ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่น 900 MHz ที่จะทำให้ทรูได้ฐานลูกค้า 2G ที่ใช้คลื่น 900 MHz ของเอไอเอสมาอยู่ในมือจะเป็น “สปริงบอร์ด” ที่ทำให้ทรูได้กวาดต้อนลูกค้าพรีเพดมาไว้ในมือ โอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดก็จะมีมากขึ้น
ศุภชัย ซีอีโอ ทรู บอกว่า ก่อนหน้านี้ แม้ว่าทรูจะใช้กลยุทธ์การตลาดเข้มข้นแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถช่วงชิงลูกค้าจำนวนมากๆ ได้ เพราะขีดจำกัดเรื่องคลื่นความถี่ ดังนั้นเมื่อทรูมีคลื่นความถี่มากที่สุด มีคลื่นความถี่ 850 MHz 900 MHz 1800 MHz และ 2100 MHz ครอบคลุมมากที่สุด จะเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้ทรูเพิ่มฐานลูกค้าได้ไม่มีขีดจำกัด
แคมเปญ ชวนลูกค้าย้ายค่ายก็เลยซัดกันสนั่น นำโดยค่ายเอไอเอส หลังจากตัดสินใจยกธงขาวไม่ประมูลคลื่น 900 MHz ต่อ ปรับกลยุทธ์นำเงินมาขยายเครือข่ายที่มีอยู่ควบคู่ไปกับแคมเปญแจกเครื่อง เพื่อจูงใจให้ลูกค้ามาเปลี่ยนจาก 2G มาเป็น 3G และ 4G ผ่านเครือข่ายร้านค้า และ อบต. เป็นจุดแจกจ่ายเครื่อง เพื่อกวาดต้อนให้ได้มากที่สุด ทรูจะมาจ่ายค่าใบอนุญาต และจะมีผลให้ซิมดับลง
ส่วนค่ายทรู หลังจากจัดการเงินกู้ และแบงก์การันตีมาจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น900 MHz ได้ ก็รีบออกแคมเปญ ให้ลูกค้าเติมเงินแล้วแจกเครื่องฟรี รูปแบบคล้ายกัน โดยที่ทรูใช้เครือข่ายร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นช่องทางสำคัญในการกวาดต้อนให้ลูกค้าย้ายค่ายมาใช้ทรูมูฟเอช
เมื่อต่างฝ่ายต่างต้องการรวบรัดให้ลูกค้าย้ายค่ายมาใช้ของตัวเอง ทั้งใต้ดินและบนดิน จึงนำไปสู่การฟ้องร้องระหว่างกัน รวมทั้งผลักดันโปรโมชัน “เติมเงินแลกเครื่องฟรี” ของทั้งคู่ ที่ยังคงเดินหน้าอย่างเข้มข้น กับการโกยลูกค้า2G ใช้คลื่น 900 จำนวน 4 แสนเลขหมาย และลูกค้าของเอไอเอสที่โรมมิ่งใช้คลื่น 900 MHz อีก 7.6 ล้านเลขหมาย ให้ได้ก่อนวันที่ 14 เมษายน 2559 เป็นเส้นตายของเอไอเอส หลังจากได้คุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครองต่อไปอีก 1 เดือน
เอไอเอส-ทรู จัดงานใหญ่ชน
ในขณะเดียวกัน ทั้งคู่กำลังเดินเกมสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ เพื่อชิงความเป็นผู้นำ 4G โดยทั้งทรู และเอไอเอส ก็พร้อมกันจัดงานใหญ่ขึ้นในวันและเวลาเดียวกัน คือ ช่วงบ่ายของวันที่ 23 มีนาคม 2559 สถานที่ก็ยังใกล้กัน
ทรูใช้ชื่องานว่า “The Leader of 4G ดีที่สุด เพื่อชีวิตที่สุดกว่า” ในการเปิดตัว ”แคมเปญ 4G Plus…รวมพลังคลื่นมากที่สุด เพื่อเติมเต็ม Digital Lifestyle ที่ดีที่สุด โดยมีศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ มาเป็นประธานจัดงาน ถือเป็นบิ๊กอีเวนต์ของทรู เพราะเปิดแพ็กเกจใหม่ 4G หลังจากปล่อยให้คู่แข่ง 2 รายนำร่อง พร้อมกับเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ H-Man ที่มี ณเดชน์ คูกิมิยะ แบรนด์แอมบาสเดอร์ร่วมแสดง สะท้อนความแรงของเครือข่ายที่มีคลื่นในมือมากที่สุด
ขณะที่เอไอเอส ในฐานะของเบอร์ 1 ก็ไม่ยอมน้อยหน้า จัดแถลงข่าวใหญ่ โดยมี สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ซีอีโอ มาร่วมพร้อมกับผู้บริหารของหัวเว่ย เพื่อประกาศร่วมมือระหว่างเอไอเอส และหัวเว่ย ภายใต้ชื่องาน World’s First Innovative Technology Network เพื่อแสดงถึงศักยภาพพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่าย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
ผศ.เสริมยศ ให้ความเห็นว่า โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายนั้น จะได้เห็นการแบไต๋ของแต่ละแบรนด์ออกมา การแข่งขันจะ Aggressive มากขึ้น เห็นได้จากกรณีวันที่มีเหตุการณ์ซิมดับเกิดขึ้น ได้เห็นพฤติกรรมของแบรนด์ การแสดงออกของแบรนด์ จะกระทบถึงวิธีคิดของผู้ประกอบการ แบรนด์หนึ่งได้กลายเป็นแบรนด์ใจดี อีกแบรนด์หนึ่งกลายเป็นแบรนด์ขายของไป แต่ต้องมาดูหลังจากนี้ที่มีการประมูลอีกรอบว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่คงดุเดือดมากขึ้น