msn.co.th ไม่ต้องซอฟต์แวร์ เว็บไซต์ก็ทำเงินได้

เปิดตัวเว็บไซต์ msn.co.th เวอร์ชั่นภาษาไทยทั้งทีต้องไม่ธรรมดา ไมโครซอฟท์เลือกบริเวณด้านหน้าธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 พันธมิตรยุคบุกเบิก เป็นสถานที่จัดงานแถลงข่าว ทำเอาย่านถนนสีลมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาเต็มไปด้วยสีสันของสัญลักษณ์ ผีเสื้อ

สำหรับไมโครซอฟท์แล้วการเปิดตัวเว็บไซต์ msn.co.th เวอร์ชั่นภาษาไทย ถือเป็น “strategic move” ทางธุรกิจของการ เคลื่อนเข้าสู่ธุรกิจ portal web ซึ่งจัดเป็น business unit ที่สำคัญอีกขาหนึ่ง

“ผมถือเป็น strategic move ที่สะท้อนว่าไทยเป็น 1 ในตลาดสำคัญ งบประมาณเปิดเผยไม่ได้ แต่บอกได้ว่าไมโครซอฟท์ต้องระดมทีมงานจากสิงคโปร์ และทีมในไทยเข้าร่วม set up เว็บไซต์”

ไมโครซอฟท์ตั้งใจทำให้เว็บไซต์นี้เป็นแหล่งชุมชนของนักท่องเว็บ ขณะเดียวกันก็ต้องทำเงินได้ด้วย และทำให้เว็บไซต์ msn.co.th เต็มไปด้วยเรื่องราวทางธุรกิจ

เนื้อหาบนเว็บไซต์ส่วนใหญ่จะได้มาจาก “พันธมิตร” ที่เป็นเจ้าของสินค้าและบริการ รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ไมโครซอฟท์เชื่อว่าฐานผู้ใช้ msn ในไทย 1 ล้านคน และ hotmailอีก 1.6 ล้านคน จะเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้เจ้าของสินค้าและบริการเลือกเว็บไซต์ msn.co.th เป็น “ช่องทาง” เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

การร่วมมือที่เป็นลักษณะ win win ในลักษณะนี้ พันธมิตรเจ้าของสินค้าและบริการจะจ่าย fee เป็นรายปีให้กับไมโครซอฟท์ เพื่อแลกกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารบริการไปยังกลุ่มเป้าหมาย ไมโครซอฟท์จะอาศัยเนื้อหามาสร้างความเป็นท้องถิ่นให้กับเว็บไซต์ msn.co.th และอีกส่วนที่มาจากโฆษณาผ่านแบนเนอร์

“เรามีข้อมูลในเรื่องของผู้ใช้บริการ chat ใน msn อย่างธนาคารกรุงเทพหรือซัมซุง สามารถนำเสนอแพ็กเกจไปยังกลุ่มเป้าหมาย“

ณัฐกิตต์ ตั้งพูลสินธนา ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ บอกว่า การเลือก msn.co.th เพื่อต้องการทำกิจกรรม “online marketing” โดยอาศัยฐานผู้ใช้ hotmail ที่มีเป็นจำนวนมาก เป็นสื่อเพื่อสร้างกิจกรรมร่วมกันลูกค้า เริ่มจากโทรศัพท์มือถือเป็นหัวหอกแรก

“เราเอา MP3 เข้ามาทำตลาด ลูกค้าสามารถ down load เพลงจากอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกับลูกค้ามือถือที่ดาวน์โหลดภาพ ริงโทน wall paper ต้องยอมรับว่า คนใช้อินเทอร์เน็ตเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกค้าเป้าหมายของเรา”

Did you know?

ย้อนรอยกำเนิด MSN

MSN หรือ Microsoft Network เริ่มแรกนั้น Microsoft ทุ่มลงทุนปั้นมาเพื่อแข่งกับ America Online (AOL) เจ้าตลาดบริการออนไลน์ขณะนั้น คำว่าบริการออนไลน์ (online service) ในยุคนั้นคือการที่ผู้ใช้เปิดโปรแกรมเฉพาะ เช่นของ AOL ต่อผ่านโมเด็มและโทรศัพท์เข้าศูนย์ AOL เพื่ออ่านเนื้อหาหรือพูดคุยกับคนอื่นๆ โดยไม่เกี่ยวข้องอินเทอร์เน็ตที่ในยุคนั้นยังมีแค่ตัวอักษรและจำกัดแค่ในวงวิชาการอยู่

สิงหาคม ปี 1995 Microsoft ออก Windows รุ่นใหม่ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่คือ Windows 95 (รุ่นก่อนนั้นคือ Windows 3.11) และ MSN ก็เป็นไอคอน (icon) หนึ่งบนหน้าจอ Windows 95

จนเมื่อ Windows 95 ออกมาไม่นาน WWW ที่เคยมีแต่ตัวอักษรก็ถูกพัฒนาจนใส่สีสันเลย์เอาต์และรูปภาพ จึงกลายเป็นหัวขบวนทำให้อินเทอร์เน็ตกลายมาเป็นสื่อหลักในโลกออนไลน์ บัดนั้นเองไอคอน MSN ที่อยู่บนหน้าจอ Windows 95 ทั่วโลกก็แทบจะไร้ความหมาย บริการ online service ทั้งหลายกลายเป็นของเชยทันที บริษัทเกิดใหม่อย่าง Netscape ที่ผลิตโปรแกรมดูเว็บ (browser) เข้าครอบครองโลกอินเทอร์เน็ต ทาง Microsoft จึงต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ โดยซื้อโปรแกรมบราวเซอร์ชื่อ Spyglass มาปรับปรุงเป็น Internet Explorer, ซื้อ Hotmail.com, เปลี่ยนแปลง MSN ให้เป็นเว็บไซต์ท่า, และมาสร้างแบรนด์ MSN ให้ติดปากคนทั่วโลกด้วย MSN Messenger โปรแกรมสื่อสารอเนกประสงค์

ฉะนั้นนับจาก Windows 95 OSR 2 (Windows 95 ฉบับปรับปรุงรับอินเทอร์เน็ต) ที่ออกมาในปี 1997 มาเป็น Windows 98 จนถึง Windows XP ในปัจจุบัน คำว่า MSN ก็ผูกติดแน่นกับอินเทอร์เน็ต และการกลับตัวครั้งใหญ่ของ Microsoft ในครั้งนั้นก็เป็นที่เล่าขานเป็นกรณีศึกษามาจนปัจจุบัน

ปัจจุบัน เว็บไซต์ msn.com แพร่หลายอยู่ใน 38 ประเทศ ถูกแปลเป็นภาษาท้องถิ่น 18 ภาษา โดยไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย 2 ประเทศแรกที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ ตามมาด้วยไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทุกประเทศจะยึดคอนเซ็ปต์ของเว็บไซต์เดียวกัน จะต่างกันที่รายละเอียดของเนื้อหา
ก่อนหน้าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ไมโครซอฟท์ soft launch แนะนำเว็บไซต์แก่ผู้ใช้ชาวไทยเป็นเวลา 6 เดือน

ออนไลน์เอเยนซี่

บริษัท Impaq Interactive “ออนไลน์เอเยนซี่” ของไมโครซอฟท์ รับผิดชอบเกี่ยวกับเนื้อหา msn.co.th โดยต้องทำหน้าที่ติดต่อกับเจ้าของสินค้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงค่ายสิ่งพิมพ์ต่างๆ เพื่อนำเนื้อหามาบรรจุอยู่ในเว็บไซต์แห่งนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างติดต่อกับสิ่งพิมพ์ค่ายต่างๆ เพื่อนำเนื้อหามาบรรจุลงในหมวด news sport และ game

Competitor

การเข้ามาเปิดตัว msn.co.th นับว่าเป็นการท้าประลองกับ portal web ในไทย ที่ครองตลาดอยู่ก่อนหน้านี้ เช่น sanook.com, kapook.com, mthai.com, hunsa.com

Website

www.msn.co.th
www.homedd.com
www.samsungfunclub.com