การเกิดขึ้นของ “โรงแรมบูติก (boutique hotel)” และกระแส “บูติกนิยม (boutique fever)” ถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนถึงอุตสาหกรรม lifestyle hospitality หรืออิทธิพลของไลฟ์สไตล์ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ โรงแรมบูติกมักจะมีเป้าหมายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีไลฟ์สไตล์และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง (highly individual person หรือ hip) และต้องการแสดงอัตลักษณ์ที่ตนเองภูมิใจ แม้กลุ่มนี้ไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ แต่มักเป็นกลุ่มคนที่มีสถานะดี และมีอิทธิพลต่อสังคม (ในสังคมไทย คนกลุ่มนี้มักเป็น trend setter) โรงแรมบูติกแต่ละแห่งมีองค์ประกอบสำคัญเหมือนๆ กันคือ การดีไซน์และบริการที่แตกต่างกันตามลักษณะไลฟ์สไตล์ และ“ตัวตน” ของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายของโรงแรมนั้นๆ (niche market)
“The Chedi” ภูเก็ตเป็นหนึ่งโรงแรมบูติกที่แฝงไลฟ์สไตล์คนทำงานรุ่นใหม่ผู้ชอบความเป็นส่วนตัว และโหยหาความงามสงบจากธรรมชาติเป็นรางวัลชีวิตให้ตัวเอง ด้วย “กระท่อม (cottage)” ส่วนตัวแยกจากห้องอื่นซึ่งซุกตัวในวงล้อมของภูเขาและทะเล “เมืองกุเรปัน” เป็นอีกโรงแรมที่ตอบสนองนักเดินทางผู้ใฝ่ประสบการณ์และการเรียนรู้ด้านศิลปะ แนวคิด และไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของชุมชนแถบนั้น หรือ Costa Lanta ซึ่งมีสถาปัตย์เป็นเอกลักษณ์ สะท้อนความ “ฮิพ” ในตัวตนของผู้เกี่ยวข้องทั้งเจ้าของ สถาปนิก และผู้มาพัก ได้เป็นอย่างดี และ The Metropolitan โรงแรมบูติกกลางกรุงเทพฯ ที่โดดเด่นเรื่อง “เทรนดี้” ดีไซน์ในทุกรายละเอียด และความพร้อมในบริการสำหรับผู้ใส่ใจดูแลสุขภาพ ตามสไตล์คนทำงานรุ่นใหม่ที่เน้น “สมดุลแห่งชีวิต”
ไลฟ์สไตล์และความต้องการของนักเดินทางรุ่นใหม่นับวันจะหลากหลายเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกระแส “บูติกนิยม” แต่ด้วย “ความเล็ก” โรงแรมบูติกแต่ละแห่ง (ทั่วโลก) จึงมักพบอุปสรรคในการเติบโตสู่ตลาดโลก ทั้งด้านเทคโนโลยี และการตลาด แต่ปัจจุบันมีบริษัทในต่างประเทศไม่น้อยที่เล็งเห็นโอกาสจากอุปสรรคตรงนี้ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวให้กับโรงแรมบูติก กลายเป็นธุรกิจระดับโลกที่กำลังเติบโตควบคู่กับการขยายตัวของโรงแรมบูติกทั่วโลก
ฉบับนี้ POSITIONING จึงขอ “ผ่า” เทรนด์ “บูติกนิยม” และธุรกิจลักษณะนี้ผ่าน “Design Hotels TM” บริษัทที่กำลังมาแรงในระดับโลก และรุกสู่ประเทศไทยมากขึ้น