“เมืองกุเรปัน” นี้…มีที่มา

สำหรับผู้หลงรักวรรณคดีคลาสสิกเรื่องอิเหนา คงพอจะรู้ว่า “กุเรปัน” เป็นชื่อเมืองของอิเหนา แต่สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวรรณกรรมดีๆ ของไทย ก็อาจจะงุนงงกับบรรยากาศและคอนเซ็ปต์ของโรงแรมแห่งนี้ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามา ไม่ว่าดีไซน์ของอาคาร สไตล์การตกแต่ง ชุดพนักงาน …จนกระทั่งเข้าห้องพัก แทนที่กรอบรูปภาพกลับเป็นกรอบรูปใส่กลอนบทละครอิเหนาเขียนด้วยตัวหนังสือไทยสมัยพระนารายณ์ปรากฏบนฝาผนัง พร้อมกับม้วนจดหมายแสดงความยินดีต้อนรับแก่ผู้มาเยือน และเฉลยถึงความเป็นมาของ “เมืองกุเรปัน”

“กุเรปันเป็นชื่อเมืองอิเหนา และอิเหนาก็คือเรื่องเกี่ยวพันกับภาคใต้ของเราในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยด้วย และพอดีแม่ของชวดผม คือ เจ้าจอมมารดาเขียน ท่านเคยรำเป็นตัวอิเหนาถวายให้รัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตร ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจตรงนี้” ม.ล. อารชว วรวรรณ สถาปนิกและผู้ช่วยเพื่อนสนิทของอุดมเดช บุญรักษ์ เจ้าของโรงแรมเล่าที่มาของคอนเซ็ปต์โรงแรม

หลังจากได้ “ธีม” แล้ว หม่อมจึงเริ่มใส่ใจออกแบบรายละเอียดทั้งหมดให้สอดคล้องกับธีมที่ตั้งไว้ ทั้งสัญลักษณ์ “กริช” ซึ่งเป็นอาวุธของอิเหนา ชื่อร้านอาหาร “บุษบา” นางเอกในเรื่อง ชื่อห้อง “จินตะหรา” นางรองของเรื่อง ชื่อห้อง VIP “อิเหนา” หรือกระทั่ง ชุดพนักงานแบบต่างๆ และภาพอิเหนาบุษบาในอุดมคติที่ประดับอยู่ในห้อง VIP อิเหนา เป็นต้น สอดคล้องกับสไตล์ของสถาปัตยกรรมซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจาก “ความเป็นชวาผสมความเป็นสมุย” จนออกมาเป็นโรงแรมกุเรปันดั่งฝัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 -10 ปีก่อน สถาปัตยกรรมเช่นนี้แตกต่างจากโรงแรมตามสไตล์นิยมบนเกาะสมุยมาก จนทำให้นักท่องเที่ยวคนไทยไม่เปิดรับ จนหม่อมต้องใช้วิธีสร้างกระแสด้วยการชวนเพื่อนต่างชาติสมัยเรียนที่ฝรั่งเศสมาถ่ายแบบที่โรงแรมแห่งนี้เพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศก่อน “ถ้าฝรั่งรู้จักเดี๋ยวคนไทยก็คงรู้จักเอง” โดยกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้คือ “นักท่องเที่ยวที่เรียบง่ายแต่มีสไตล์ และรสนิยม ชอบความเป็นส่วนตัว ยอมรับความแตกต่างทางด้านไลฟ์สไตล์ รวมถึงวัฒนธรรม และพร้อมจะรับความรู้สึกหรือประสบการณ์ที่มากกว่า” ซึ่งบทสรุปตบท้ายคือ “เหมือนผม”

การตกแต่งภายในห้อง หม่อมจะแฝงวิถีชีวิตของชุมชนที่หม่อมเคยไปสัมผัส เช่น โอ่งน้ำที่ระเบียงของทุกห้องมีไว้ใช้ยามขาดน้ำ (เพื่อปัญหาการขาดแคลนน้ำบนเกาะ) หรือบันไดสำหรับพาดผ้า หน้าต่างเล็กแทนช่องมองที่ประตู ขนมไทยในห่อใบเตยแทนคุกกี้ของฝรั่ง รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้หม่อมบอกว่า เป็นรอยยิ้มเล็กๆ น้อยๆ ที่แขกจะได้รับเมื่อเข้าใจถึงเรื่องราวที่มาของสิ่งเหล่านั้น (ซึ่งก็ทำให้ฉันอดยิ้มไม่ได้ ทันทีที่หม่อมเฉลยว่า บันไดไว้พาดผ้า เพราะฉันและช่างภาพเพิ่งใช้ปีนขึ้นไปปรับช่องแอร์)

จนวันนี้ นอกจากสไตล์จะทำให้โรงแรมเมืองกุเรปันแตกต่างจากโรงแรมอื่นบนหาดเชวงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว เสียงดนตรีไทยเล่นสด และการแสดงรำไทยชุดที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน กับนางรำหน้าขาวในเครื่องแต่งกายเต็มยศ พร้อมด้วยบรรยากาศดินเนอร์บนศาลาทรงสมุย ประยุกต์จากศาลาเล็กหน้าบ้านของชาวสมุย ช่วยเพิ่มความเป็นไทยและความแตกต่าง “ถ้าเราจะชนะฝรั่งได้ ไม่ใช่เพราะตามฝรั่ง แต่ฝรั่งจะให้ความสนใจเราเพราะเราเป็นตัวของเราเอง ถ้าเราทำตามเขาก็เป็นได้แค่ผู้ตาม ไม่มีทางจะเกินหน้าเขาไปได้ แต่ถ้าเราเป็นเรา เขาต้องมองเราเพราะเขาไม่มีแบบเรา และทำแบบเราได้ไม่ดีเท่า” หม่อมเผยเคล็ดลับการต่อสู้ของ “เมืองกุเรปัน”

Profile

ม.ล.อารชว วรวรรณ

อายุ 52 ปี จบปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วบินไปเรียนต่อด้านศิลปะที่ประเทศฝรั่งเศส ณ มหาวิทยาลัย Ecole De Beaux Arts De Paris ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 แต่ไม่จบ เพราะพอใจกับการสร้างผลงานออกงานแสดงระดับชาติมากกว่า ซึ่งก็ทำให้ได้ประกาศนียบัตรจากสถาบันในโมนาโกและแคนาดา และปี 2529 ผลงานของหม่อมได้รับเหรียญทอง “Salon des Artistes Francais” จากนั้น ก็ได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกพิเศษ “สภาวัฒนธรรมศิลปะ” ของสหภาพยุโรป หรือ Membre Correspondant de I’ Acadmie Europenne, des Arts et des Lettres และบินไปมาระหว่างปารีสและเกาะสมุย ตั้งแต่ปี 2534 ก่อนจะกลับมาลงหลักปักฐานในปี 2542