Costa Lanta : Thinks Out of “Box”

เมื่อแรกเห็นรูปโรงแรมนี้จากหนังสือ directory ของ Design HotelsTM ก็รู้สึกถึงความแปลกของดีไซน์ตัวโรงแรม และเมื่อได้สัมผัสด้วยตัวเองก็ยิ่งประทับใจในโรงแรมแห่งนี้ อันเป็นผลงานการออกแบบโดยดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกที่มีแรงบันดาลใจจากความเรียบง่าย (simplicity) ถ่ายทอดผ่าน “ความดิบง่าย” ของปูนฉาบที่ไม่ปกปิดด้วยสีสันของวอลเปเปอร์ใดๆ

“หลักการคือ เอาสิ่งแปลกปลอมเข้ามาให้น้อยที่สุด ทำไมต้องเอาธรรมชาติที่มีอยู่แล้วออกเพื่อเอาสิ่งที่เลียนแบบธรรมชาติเข้ามาแทน แล้วทำไมต้องเอาสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติอยู่แล้วมาทำเลียนแบบธรรมชาติ หรือทำไมต้องเอาต้นไม้ที่มีอยู่เดิมออกเพื่อปลูกต้นไม้อื่น” พี่หนี กษีร กันตวณิช หุ้นส่วนคนสำคัญที่นำจินตนาการร่วมกันของหุ้นส่วนอีก 4 คน มาทำให้เป็นจริงร่วมกับสถาปนิก

“โรงแรมกล่อง” เป็นชื่อที่ชาวบ้านแถวนั้นพากันขนานนาม Costa Lanta ทั้งนี้เพราะรูปทรงสี่เหลี่ยมของตึกซึ่งถือเป็นหนึ่งห้อง หลังคาเรียบปราศจากจั่ว หลังคาห้องน้ำเป็นพลาสติกขุ่นใสกรองแสงด้วยกาบมะพร้าวแห้งที่ถูกวางไว้อย่างเป็นธรรมชาติ ส่วนผนังสามารถเปิดเพื่อชื่นชมกับบรรยากาศที่สงบและความสวยงามของธรรมชาติได้ถึงสองด้าน ทำให้แขกสัมผัสกับธรรมชาติได้เต็มอิ่ม แม้จะอยู่แต่ภายในห้อง

จากความเฮฮาบนโต๊ะกินข้าวระหว่างกลุ่มเพื่อนสนิท 5 สาว ที่อาจฟังดูเป็นเรื่องฟุ้งซ่านในครั้งแรกที่พูดถึงการทำธุรกิจโรงแรมร่วมกันเมื่อ 5 ปีก่อน แต่เมื่อถูกพูดบ่อยขึ้น ประกอบกับความฝันที่จะมีกิจการที่ทำให้ได้รวมตัวเฮฮาตามประสาเพื่อน และได้สร้างเพื่อนใหม่ ธุรกิจโรงแรมจึงไม่ใช่สิ่งเหลวไหลสำหรับพวกเขา หลังจากนั้น ที่ดิน 22 ไร่ติดหาดคลองดาว บนเกาะลันตา ซึ่งได้มาจากครอบครัวกันตวณิช พร้อมด้วยทุนที่ระดมมาได้ 15-25 ล้านบาท ก็ทำให้โรงแรมแห่งนี้ถูกเนรมิตขึ้นมา ใช้เวลาเพียงปีกว่าจึงเสร็จ และเปิดบริการเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2002

“เริ่มจากอารมณ์สนุกและไร้เดียงสาเหมือนว่าโลกนี้เป็นของเรา คิดอยากจะทำโรงแรมที่ไม่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ เอาความพอใจของเราเป็นหลัก แล้วโรงแรมที่ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ควรจะมีลักษณะเป็นอย่างไร เริ่มจากความง่ายคือ กางเต็นท์ให้ back packer แต่พอคิดถึงสิ่งที่พวกเราเองต้องการเวลาไปเที่ยว เช่น ห้องน้ำที่สะอาด สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย อาหารดีๆ ความคิดก็เริ่มใหญ่ขึ้น” พี่กาญ กาญจนา โอภาสปกรณ์กิจ บอกเล่าที่มา

ที่ผ่านมากว่า 2 ปีก่อนที่ Costa Lanta จะเข้าเป็นสมาชิกของ Design HotelsTM พี่หนีบอกว่ามีลูกค้ามาพักตลอด (ยกเว้นหน้าฝน หรือ low season ที่โรงแรมปิด) ทั้งที่ไม่เคยได้ทำการโฆษณาผ่านสื่อใด ทั้งนี้ พี่หนีสรุปว่า “เพราะตัวโรงแรมขายตัวมันเองได้” ดีไซน์ที่โดดเด่นสามารถเรียกร้องความสนใจจากนักท่องเที่ยว และยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้สื่อต่างชาติเขียนถึงโรงแรมแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ลูกค้าส่วนใหญ่ของที่นี่จึงเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากแถบยุโรป

“โรงแรมแบบนี้ คนที่ชอบก็ชอบเลย เราก็แค่ทำให้เขาประทับใจมากขึ้น ซึ่งก็ง่าย แต่กับคนที่ไม่ชอบ เราก็คงต้องยอมปล่อยไป ไม่พยายามทำอะไรมาก เพราะเรารู้ดีว่าโรงแรมของเรามันค่อนข้าง extreme” ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโรงแรมก็คือ กลุ่มคนที่มีรสนิยม มีรายได้ดีและพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อความสุขจากประสบการณ์แปลกใหม่ และความเงียบสงบพร้อมความสวยงามทางสายตา และมีไลฟ์สไตล์การเดินทางเพื่อชื่นชมในบรรยากาศของสถานที่ ไม่ใช่เพื่อความหรูหราสะดวกสบาย “ซึ่งก็คือคนอย่างพวกเรา (หุ้นส่วนทั้ง 5 สาว) นี่แหละ”

“โชคดีที่ตัดสินใจเลือกทำแบบ highly niche market เพราะมันช่วยทำให้ได้ตลาด hi-end ที่ just-click กับทั้งหมดที่เป็นโรงแรมของเรา” พี่หนีกล่าว

นอกจากดีไซน์ของโรงแรม มนุษยสัมพันธ์ของเจ้าของกับรอยยิ้มของพนักงานชาวเกาะที่นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจ พี่หนีคัดเลือกพนักงานทั้งหมดเป็นคนท้องถิ่น ด้วยเหตุผลว่า “นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เขาจะได้ประโยชน์จากการที่มีผู้อื่นมาลงทุน และคนใต้มีเสน่ห์ที่รอยยิ้มที่จริงใจ หลายคนเริ่มทำงานที่นี่เป็นแห่งแรก และทุกคนไม่เคยผ่านงานโรงแรมมาก่อน ดังนั้นทุกคนจึงบริการอย่างเป็นธรรมชาติ ขณะเดียวกันเราก็อาศัยเขาด้วย เพราะเราขาย “ประสบการณ์” ที่ทำให้นักท่องเที่ยวได้ใกล้ชิดกับคนท้องถิ่น”

“ยุคนี้เราต้องเน้นที่การขายประสบการณ์ เพราะโครงสร้างของสถาปัตย์เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เราขาย ทำเลก็เป็นอีกแค่หนึ่งส่วน แต่หลังจากนั้นทั้งหมดคือ บริการ และอาหารที่บวกกันเป็นประสบการณ์ เรายอมรับว่าที่นี่ด้อยในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก แต่เราตั้งใจตอบแทนด้วยประสบการณ์อื่น” ประสบการณ์ที่ว่าก็เช่น ล่องเรือจับปลากับชาวเล เยี่ยมชมหมู่บ้านชาวเกาะ เป็นต้น โดยว่าจ้างชาวบ้านที่เป็นเพื่อนหรือญาติที่ไว้ใจได้ของพนักงาน ที่นี่จึงยิ่งเป็นที่พึงพอใจของชาวต่างชาติที่ชอบเรียนรู้วิถีชีวิตท้องถิ่น

Claus เห็นโรงแรมนี้จากหนังสือ Wallpaper และเมื่อได้พูดคุยรู้จักกับเจ้าของโรงแรม “การคิดนอกกรอบ” ของพวกเธอยิ่งสร้างความประทับใจ จน Claus ต้องกลับไปหารือกับบอร์ดเพื่อขอลดค่าธรรมเนียมสมาชิกให้ Costa Lanta เป็นกรณีพิเศษ เพราะข้อจำกัดด้านเงินลงทุนทำให้พวกเธอปฏิเสธ Design HotelsTM “คุยกันตอนแรก เราบอกว่าเราไม่มีเงินลงทุนตรงนั้น เขาก็เสนอให้เราทดลองเป็นสมาชิกโดยเขาเกือบไม่ได้อะไรเลย และ 1-2 ปีนี้ ถ้าเราเห็นว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรก็ไม่ต้องเป็นสมาชิกต่อก็ได้”

วันนี้ โรงแรม Costa Lanta ได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือท่องเที่ยวไทย และต่างประเทศหลายฉบับ เช่น Wallpaper, Art4d, Cool Hotels รวมถึงหนังสือที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในวงการการโรงแรมทั่วโลก คือ Hip Hotels ของ Herbert Ypma ก็ร่วมบันทึกความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของ Costa Lanta ด้วยเช่นกัน ล่าสุด นิตยสาร Conde Nast Traveler (UK Edition) ฉบับพฤษภาคม 2004 ก็ยกย่องให้เป็น ”The Best 50 New Hotels in the World” และก็เพิ่งได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ซึ่งเป็นรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ ประเภทโรงแรมและสถานพักตากอากาศอีกด้วย

“เรามองโรงแรมวันนี้ก็ภูมิใจที่เราได้ทำสิ่งที่รักและอยากทำ และวันนี้เรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจอีกเยอะเลย เพราะมันไม่ใช่แค่การขายที่พักและอาหาร แต่ยังพาคุณไปได้อีกไกลในธุรกิจค้าขายสินค้าทุกอย่าง เพราะวันนี้เรามีเน็ตเวิร์กทางธุรกิจที่ได้มาจากแขกที่เคยมาพักกับเรา เราคงไม่หยุดอยู่แค่โรงแรมนี้“ เป็นบทสรุปที่พวกเธอเรียนรู้จาก Costa Lanta

Did you know?

Costa Lanta แปลว่า Lanta Coast ทั้งนี้ Costa เป็นภาษาสเปน ขณะที่บางภาษาแปลว่า “บ้าน”

ธุรกิจอื่นของหุ้นส่วนทั้ง 5 คน

– กษมา และกษีร กันตวณิช ร่วมหุ้นกับกัญญารักษ์ โอสถานนท์ เปิดกิจการส่งออกสินค้าประเภทหมอนไปเยอรมนี ชื่อร้าน “Soft Furnishing” ในซอยสุขุมวิท 33
– สุนิดา สิงขรภูมิ ร่วมหุ้นกับภาณุ อิงคะวัต และหุ้นส่วนคนอื่นเปิดร้าน To Die For ที่ H1 และเปิดเว็บไซต์ www.paikinkao.com (ไปกินข้าว)
– กาญจนา โอภาสปกรณ์กิจ เปิดกิจการนวดชื่อ “เรือนนวด” ในซอนคอนแวนต์ ถนนสีลม