แรงบันดาลใจจากความไม่สมบูรณ์

เรื่องของ “Design HotelsTM” จริงๆ น่าจะได้ลงตั้งแต่ 2 เล่มก่อน แต่เพราะข้อมูลที่มีน้อยเกินไป และด้วยบัญชาของอดีต บ.ก. ก็ทำให้ต้องเลื่อนออกมา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ลึกขึ้น งานนี้ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ต เข้าช่วยในการค้นหาข้อมูล และที่สำคัญก็คือ ในการสัมภาษณ์ผ่านอีเมลกับ Claus Sendlinger ประธานบริษัท แต่ก็ใช้เวลารอคำตอบนานพอสมควร เพราะ Claus เดินทางบ่อย แต่ในที่สุดก็รับได้คำตอบ มาใช้เป็นโจทย์ในการค้นคว้าข้อมูลต่อไป รวมถึงการอีเมลสอบถามข้อมูลจากนักวิชาการการโรงแรมระดับโลกคนอื่น ซึ่งได้คำตอบบ้าง ไม่มีการตอบกลับบ้าง …นี่คือ ความพยายามที่ออกมาเป็นข้อมูลครึ่งแรกของเรื่อง Design HotelTM

ส่วนครึ่งหลังเป็นข้อมูลโรงแรมสมาชิก Design HotelTM ในประเทศไทย ที่กว่าจะรวบรวมข้อมูลมาได้ครบทั้ง 4 แห่ง ก็ต้องใช้เวลานานไม่แพ้กัน แต่ที่หนักกว่าก็คือ งบประมาณ และความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางและการตามล่าสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งนัดได้บ้าง ไม่ได้บ้าง (ก็เป็นอีกเหตุที่ทำให้เรื่องนี้ต้องเจอภาวะ “โรคเลื่อน”) แต่สุดท้ายก็สำเร็จและได้ลงในฉบับนี้ ทั้งนี้เพราะความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้บริหารและเจ้าของโรงแรมทั้ง 4 แห่ง รวมถึงดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดังแห่งยุคซึ่งมีคิวสัมภาษณ์แน่นเอี้ยด แต่ก็ให้ทีมงานได้เกาะติดทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และที่ร้าน

การเดินทางเริ่มจากการไปสัมภาษณ์ผู้บริหารแห่งโรงแรม The Chedi ภูเก็ต แต่ทีมงานมีเวลาเพียงไม่ถึง 3 ชั่วโมง ในการเดินทางและสัมภาษณ์ เพื่อกลับมาขึ้นเครื่องให้ทัน (เราใช้โอกาสที่สายการบินแห่งหนึ่งแถลงข่าวเปิดตัวเครื่องบินที่ภูเก็ต) จึงต้องหักใจจากอาหารหน้าตาดีที่เพิ่งถูกเสิร์ฟ และโปรแกรมเที่ยวเมืองภูเก็ตกับนักข่าวคนอื่น เพื่อรีบไปสัมภาษณ์และถ่ายรูปให้เสร็จภายในชั่วโมงครึ่ง ซึ่งความเร่งรีบก็ทำให้ทีมงานไม่ได้ปล่อยอารมณ์สัมผัสกับความงามสงบของธรรมชาติที่นั่นได้มากนัก…แต่ก็ผ่านไปด้วยดี ทีมงานกลับมาขึ้นเครื่องทันแม้จะต้องหิ้วท้องว่างอยู่ทั้งวัน

สำหรับ Costa Lanta และโรงแรมเมืองกุเรปันนั้น เหมือน “สวรรค์เป็นใจ” เป็นวูบแรกที่คิดในทันทีที่อดีต บ.ก. อนุญาตให้ (งบ) ลงไปตามเรื่องนี้ ซึ่งใช้เวลาเตรียมตัวไม่นาน (เพราะไม่มีเวลาให้เตรียมตัวนาน) ก็ได้บินลงไปกระบี่ และนั่งรถตู้ที่ทาง Costa Lanta จัดมาให้เพื่อไปยังเกาะลันตา… การเดินทางมาเกาะลันตาไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องเอารถลงแพถึงสองครั้ง ก่อนจะขึ้นบกไปพบกับทางขรุขระ แต่ดูเหมือนว่า “การพัฒนา” จะเข้ามาในเร็ววัน เมื่อภาครัฐก็ตระหนักถึงจำนวนนักท่องเที่ยวและนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นบนเกาะแห่งนี้ จึงส่งท่านปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์มาสำรวจพื้นที่ ฉันก็ได้แต่หวังว่า “ธรรมชาติ” กับ “การพัฒนา” จะอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวบนเกาะแห่งนี้

ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางถูกลืมไปทันทีที่ทีมงานได้เห็นกับ “โรงแรมกล่อง” ของจริง (ก่อนมาทีมงานได้ดูรูปจากเว็บไซต์มาบ้างแล้ว) กลายเป็นความตื่นตาและแปลกใจเข้ามาแทน ผนังห้องปูนฉาบที่ดูเหมือน “ยังไม่เสร็จ” ก็มีความสวยในความเรียบ…หนองน้ำที่ดูเหมือนน้ำท่วมมากกว่า ทว่าก็สร้างความเย็นตาและเป็นที่พักพิงของสัตว์น้ำกร่อยหลายร้อยชีวิต…ต้นไม้เกะกะไม่เป็นทิวแถว แต่ก็ร่มรื่นตาตามแบบธรรมชาติที่สร้างไว้… สะพานไม้ไม่มีราวจับ แม้ดูไม่มั่นคงแต่ก็ทำให้เกิดสมาธิทุกครั้งที่ต้องเดิน (ไม่เช่นนั้นอาจตกสะพาน)

…ทั้งหมดนี้ “พี่หนี” กษีร กันตวณิช แห่ง Costa Lanta สรุปไว้อย่างน่าฟังว่า “มีหลายครั้งที่ความสนุกและแรงบันดาลของมนุษย์เกิดมาจากความไม่สมบูรณ์แบบ” และความไม่สมบูรณ์สำหรับทีมงานก็เริ่มขึ้น พร้อมกับห่าฝนกระบะแรกที่ตกลงมา และทยอยโปรยปรายเรื่อยมาตลอด 2 วัน… แล้วความหวังใหม่ก็เริ่มขึ้น พร้อมกับเช้าวันใหม่ที่ต้องเดินทางไปเกาะสมุย

การนั่งเครื่องบินเล็กฝ่าสภาพอากาศแปรปรวนดูเหมือนจะเป็นความสนุกได้เหมือนกันสำหรับคนที่ชอบความท้าทาย แต่ถ้าไม่ใช่ เวลานั้นคุณอาจรู้สึกเหมือน “สวรรค์แกล้ง” (เหมือนฉัน)… จนล้อสัมผัสพื้นจึงนึกขอบคุณฟ้าอยู่ในใจ… สนามบินบนเกาะสมุยเป็นสนามบินที่มีการตกแต่งสวยงาม (ฤาเพราะเป็นสนามบินเอกชน??) จนอยากเรียกว่าเป็น “บูติก แอร์พอร์ต” รับกับ “บูติก แอร์ไลน์” ของบางกอกแอร์ก็ว่าได้ ซึ่งเป็นสายการบินเดียว (ขณะนี้) ที่รับส่งผู้โดยสารที่มีกะตังค์บนเกาะสมุย ซึ่งผู้โดยสารค่าออกต้องเสียค่าธรรมเนียมสนามบินถึง 400 บาท (ขากลับ ทีมงานจึงต้องใช้เรือเฟอร์รี่ข้ามฟากและต่อรถโดยสารร่วม 3 ชั่วโมง เพื่อไปขึ้นเครื่องบินในตัวเมืองแทน)

“เมืองกุเรปัน” เป็นโรงแรมที่มีสไตล์ที่ค่อนข้าง “โดด” จากโรงแรมอื่นแถบนั้น ด้วยศิลปะแบบอิสระ (free style) ของ ม.ล.อารชว วรวรรณ ผู้ออกแบบซึ่งเลือกที่จะใช้ชีวิตเกือบครึ่งหนึ่งในปารีสด้วยตัวเอง เลือกที่จะเรียนไม่จบ และไม่รับ “ปริญญาโท” เพื่อหันไปสร้างผลงานออกแสดง เลือกที่จะสร้างศิลปะแฝงปรัชญาพุทธแทนงานอิมเพรสชั่นนิสต์ที่ชาติฝรั่งพากันนิยม “เราจะชนะฝรั่งได้ไม่ใช่เพราะตามฝรั่ง แต่เราต้องเป็นแบบเรา” เป็นคำพูดจับใจฉัน ที่ฝันอยากเห็น “กระแสชาตินิยม (ในทางที่ดี)” ฟุ้งจรุงในบ้านเรา หม่อมเป็นคนเลือกที่จะทำงานออกแบบในโรงแรมทุกอย่างเอง แม้จะไม่ได้จบด้านนี้โดยตรง ด้วยความมานะและการเรียนรู้

…และวันนี้หม่อมก็เลือกใช้ชีวิตแบบสมถะ แลกกับอาหารและที่พักในโรงแรมนี้ เพื่อให้ได้อยู่ในที่ที่รัก และมีอิสระในการทำงาน (งานออกแบบของใช้ของตกแต่งให้โรงแรม) ….งานออกแบบของหม่อมแม้จะให้แนวคิดหลายอย่าง แต่สำหรับฉัน การดำเนินชีวิตของหม่อมสะท้อนทุกอย่างได้ดีกว่า

การเดินทางครั้งนี้แม้จะไม่สมบูรณ์แต่ก็จบลงด้วยแรงบันดาลใจจากแง่คิดดีๆ มากมาย จนช่างภาพถึงกับทิ้งกล้องมาจับปากกาเพื่อบรรยายความรู้สึกเหล่านี้ “…ประสบการณ์ของแหล่งข่าวแต่ละคนนั้นล้วนเป็นเหมือนหนังสือสารคดีดีๆ ที่ไม่ต้องไปหาอ่านเป็นวันๆ ทุกครั้งที่จบการสัมภาษณ์ มันเหมือนมีพลังชีวิตซ่อนอยู่ในทุกคำพูดเหล่านั้น อันเติมเต็มร่างกายที่เหนื่อยล้าจากการเดินทางให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ และแม้จะปิดหนังสือเล่มนี้ไปแล้ว แต่คุณค่าในจิตใจก็ยังคงอยู่ และถูกนำกลับมาใช้ได้ใหม่ทุกครั้งที่นึกถึง”