ถึงเวลาที่ใครๆ ก็ (เป็นนัก) บินได้

นอกเหนือจากคุณสมบัติด้านสติปัญญา ร่างกายและจิตใจ ค่าใช้จ่ายการเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเป็นนักบิน ที่สูงถึง 1.765 ล้านบาท/คน ก็เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้ขาดบุคลากรด้านนี้ในตลาด สวนทางกับการเติบโตของธุรกิจสายการบินในประเทศที่นับวันเริ่มแข่งขันสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดสายการบินต้นทุนต่ำ (Low cost Airline) เช่น นกแอร์ และแอร์เอเชีย เข้ามาแข่งกับรายเดิมที่มีในตลาด คือ บางกอกแอร์ และการบินไทย

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับการที่รัฐบาลอนุมัติให้มีสายการบินต้นทุนต่ำขึ้น กระทรวงคมนาคมก็มีการประกาศนโยบายให้สถาบันการบินพลเรือน ทำโครงการ “นักบินและแอร์โฮสเตสเอื้ออาทร” ด้วยเหตุผลเพื่อสร้างโอกาสให้กับคนจำนวนมากที่ใฝ่ฝันอยากทำอาชีพนี้

ผลการคัดเลือกรุ่นที่ 1 จากผู้สมัครรวม 4,084 คน (ในจำนวนนี้ 32.5% มีผู้ได้รับทุนเรียนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี 10 ทุน เป็นทุนจากบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด 8 คน (ชาย 6 หญิง 2) เป็นทุนจากบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด 2 ทุน และมี 28 คนได้รับทุนหลักสูตรพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้ทุน (ค่าเรียนคนละ 60,000 บาท) รุ่นที่ 1 นี้จะเริ่มการอบรมในเดือนกันยายน 2547 ใช้เวลา 1 ปีสำหรับหลักสูตรนักบิน และ 3 เดือนสำหรับแอร์โฮสเตส และเมื่อจบหลักสูตรแล้วแต่ละคนต้องไปทำงานใช้ทุนให้กับสปอนเซอร์ของตน

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จของโครงการ ที่วิน-วินกันทั้ง 3 ฝ่าย สถาบันฯมีลูกค้ามาเข้าเรียน สายการบินได้คนฝึกบุคลากรป้อน ตัวผู้สมัครก็สมหวังได้เรียนฟรีแถมมีอาชีพที่ใฝ่ฝัน คาดว่ารุ่น 2 ที่กำลังเปิดรับจะยิ่งมีใบสมัครมากขึ้นอีก

Did you know?

โครงการนักบินเอื้ออาทร ตั้งเป้าไว้ที่ 115 ทุน/ปี มีระยะเวลาดำเนินการถึงปี 2549 สำหรับการสมัครรุ่น 2 (ปี 2548) เริ่มรับสมัคร 1 กันยายน – 30 ธันวาคม 2547 ส่วนหลักสูตรแอร์โฮสเตส รุ่นที่ 2 เริ่มรับสมัคร 1 พฤศจิกายน-24 ธันวาคม 2547 การคัดเลือกพิจารณาเรียงความ การสัมภาษณ์ การตรวจร่างกายและจิตเวช ผู้สนใจรับใบสมัครได้ที่ โครงการนักบินเอื้ออาทร สถาบันการบินพลเรือน 1032/355 ถนนพหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0-2272-5741-4, 0-2272-4210-7 ต่อ 205, 261

Website

www.catc.or.th