วิทยุข้ามสายพันธุ์

เป็นการจับคู่ธุรกิจ ระหว่างบริษัท ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ เรดิโอและเวอร์จิ้น บีอีซี-เทโร เรดิโอ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) ตัดสินใจร่วมหอลงโรงรวมกิจการเป็นหนึ่งเดียว

ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ เรดิโอ ของ “เสี่ยป๊อบ” สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย จัดเป็นขาใหญ่ของรายการวิทยุประเภทแนวเพลงลูกทุ่ง ส่วนเวอร์จิ้นเรดิโอ ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างบีอีซี-เทโร และเวอร์จิ้น ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ มุ่งเน้นกลุ่มคนนิยมเพลงสมัยใหม่ และเพลงฝรั่ง เป็นกลุ่มคนฟังระดับบน เปิดเกมรุกด้วยกลยุทธ์แจกบ้านพร้อมรถยนต์ และการเปิดเพลงติดต่อ 30 นาทีโดยไม่มีโฆษณาคั่น

ทั้งสองเชื่อว่า การรวมกิจการเพื่อขยายกลุ่มคนฟังให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่นเดียวกับโฆษณาก็สามารถเป็น “แพ็กเกจ” ให้เลือกได้มากขึ้น และยังเป็นการสร้างอำนาจต่อรองในการแข่งขัน ฐานคนฟังที่มากขึ้น และลดต้นทุน ใช้กำลังคนจากหน่วยงานหลังบ้าน ธุรการ บัญชี ร่วมกัน

“การแข่งขันของธุรกิจวิทยุทุกวันนี้ต้องวัดกันด้วยเงินทุน สัมปทานอย่างเดียวเป็นค่าใช้จ่ายมากกว่าครึ่ง ยังมีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ค่า operation ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เป็นสถานการณ์ของปลาใหญ่กินปลาเล็ก ”เชษฐ มังคโลดม กรรมการผู้จัดการ บริษัทเวอร์จิ้น บีอีซี-เทโร เรดิโอ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) บอก

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นการสะท้อนสงครามบนหน้าปัดวิทยุ ที่มีมูลค่าโฆษณาปีละ 6,000 ล้านบาทจนเกิดการช่วงชิงคลื่นวิทยุ ส่งผลให้ราคาค่าเช่าคลื่นวิทยุถูกปั่นเพิ่มไปขึ้นหลายเท่าตัว

ธุรกิจที่คาดว่าจะไปได้สวย ก็เริ่มไม่สดใสอย่างที่คิด เพราะต้นทุนในทำธุรกิจสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เฉพาะค่าเช่าคลื่นเกินกว่าครึ่งไปแล้ว ยังไม่รวมค่าจ้างทีมงาน ทุกค่ายจึงต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด หากไม่ควบรวมกิจการ ก็ต้องร่วมมือกันเป็นพันธมิตร

ค่ายคลิกเรดิโอ ได้ “ป๋าเต๊ด” ยุทธนา บุญอ้อม กลับมาสู่อ้อมอกอีกครั้ง ด้วยตำแหน่งใหญ่ กรรมการผู้จัดการ คุมธุรกิจวิทยุ ยังได้ วนิดา ทักษิณาภินันท์ ที่เคยแยกตัวออกไปจับมือกับไอเอ็นเอ็น เปิดบริษัทวีอาร์วัน กลับมาเป็นพันธมิตร เพื่อร่วมรบในศึกครั้งใหม่ ก็ต้องรอดูค่ายเอไทม์ ที่เป็น “ขาใหญ่” จะรับมือกับศึกครั้งนี้อย่างไร ไม่นานก็รู้ แต่ที่แน่ๆ สงครามบนหน้าปัดวิทยุกำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง

Structure Deal

โครงสร้างการร่วมทุนเริ่มจาก บริษัททราฟฟิกคอร์นเนอร์ เรดิโอ (TCR) ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อขายให้กับบีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และบริษัทเวอร์จิ้น เรดิโอ (เอเซีย) จำกัด

จากนั้น TCR จะไปถือหุ้นในบริษัท เวอร์จิ้น บีอีซี-เทโร เรดิโอ เซอร์วิสเซส ในสัดส่วน 99.99% แทน บริษัทบีอีซี-เทโร และเวอร์จิ้น เรดิโอที่จะไปถือ

แต่ข้อตกลงนี้ยังเป็นแค่การบันทึกความเข้าใจ MOU เท่านั้น ต้องให้ที่ปรึกษาการเงินทำหน้าที่ “ตีมูลค่า”ธุรกิจ รวมไปถึงสัดส่วนการถือหุ้น และการจัดแบ่งหน้าที่การบริหารงาน ที่ต้องให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายน

Did you know?

การควบรวมกิจการระหว่าง บีอีซี-เทโร ของ ไบรอัน แอล มาร์การ์ และทราฟฟิกคอร์นเนอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากย้อนอดีต เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ทั้งสองค่ายเคยร่วมหอลงโรงทำธุรกิจร่วมกันก่อนจะแยกทางกันไปเพื่อสร้างดาวคนละดวง