House Brand Mobile สนามนี้ ใครๆ ก็ต้องเล่น

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของโทรศัพท์ small brand เป็นสิ่งที่ผู้ผลิต หรือร้านขายโทรศัพท์มือถือตระหนัก และต่างไม่อยากที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดนี้ไป จึงไม่แปลกเลยที่จะเห็นมือถือ small brand เหล่านี้วางขายอยู่เกลื่อนตลาดกว่า 20 แบรนด์ ตัวเลขจาก JFK ในเดือนมีนาคมพบว่า มือถือ small brand ได้กินส่วนแบ่งตลาดรวมในไทยไปแล้วประมาณ 16%

การเปิดฉากในตลาดมือถือของพวกแบรนด์เล็กๆ (small brand) ที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงมากนัก เช่น J-fone, Distar, MTEL, Dbtel, Trium, Codacom, bird เป็นต้น รวมไปถึงการจ้างผลิตโทรศัพท์ที่เป็นแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา (house brand mobile) เหมือนอย่างที่บริษัทสามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ได้พยายามทำอยู่ โดยใช้ชื่อยี่ห้อโทรศัพท์ว่า i-mobile นั้น เริ่มมีความเข้มข้น เพราะต่างฝ่ายเห็นช่องว่างของตลาดใน segment ที่ผู้ใช้ไม่ได้สนใจเรื่องแบรนด์เป็นหลัก แต่เน้นที่คุณภาพ การรับประกัน และราคาที่เหมาะสม มาเป็นตัวแปรแรกๆ ในการพิจารณา ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้ทำให้ตลาดรวมขยายขนาดใหญ่ขึ้นด้วย

บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (DPC) ผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ภายใต้สัญลักษณ์ Mobile from Advance จึงเป็นผู้เล่นรายใหม่ แต่หน้าเก่า เริ่มเดินหมากทำมือถือแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาบ้าง โดยใช้ชื่อยี่ห้ออย่างเป็นทางการว่า “MFA” ซึ่งมีเจตนาเพื่อการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง และเพิ่มยอด market share

ในอดีต DPC ได้นำมือถือ small brand มาขายตั้งแต่ปี 2002 ในชื่อยี่ห้อ enjoy ซึ่งประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้รู้ว่า ตลาดเมืองไทยแม้ว่าจะยึดติดกับแบรนด์ เลือกซื้อสินค้าที่มียี่ห้อ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีบางส่วนที่ไม่ได้สนใจในเรื่องแบรนด์ แต่สนใจที่คุณภาพสินค้า ราคาโดนใจ แม้จะไม่ใช่ big brand ก็สามารถจำหน่ายได้

นอกจากนี้ผู้ผลิตจากจีน และในแถบเอเชีย ไต้หวัน มีความสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ มีฟีเจอร์ คุณสมบัติ คุณลักษณะที่สลับซับซ้อนได้ไม่แพ้ทางฝั่งยุโรป เช่น จอสี เสียงเรียกเข้าแบบ Polyphonic การใส่กล้องในมือถือ ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งคือโทรศัพท์มือถือที่เป็น big brand เกือบทุกยี่ห้อได้ย้ายฐานการผลิตมาอยู่ในประเทศจีน

กุลดิษฐ์ สมุทรโคจร ผู้จัดการทั่วไปธุรกิจค้าเครื่องลูกข่าย บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด กล่าวว่า การเข้ามาทำตลาด house brand ของ DPC ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ตลาด big brand ที่ทำตลาดอยู่ลดลง แต่เป็นเพราะเห็นโอกาสทางการตลาดใน segment นี้ ตอนนี้ในตลาดมีมือถือ small brand เต็มไปหมด

“ถ้า DPC ไม่ลงไปเล่น ก็จะเสีย market share ในตลาดกลุ่มนี้ให้กับรายอื่นไป เมื่อทำแล้วก็ต้องทำให้แข็งแรงกว่า ซึ่งเราหวังว่า ถ้ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเลือกซื้อ small brand เป้าหมายคือเบอร์ 1”

การวาง position ของสินค้าที่จำหน่ายโดย DPC ทั้งหมดได้แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ basic, trendy, business, smart และ special product โดยมือถือยี่ห้อ MFA จะเน้นไปที่ segment ของ trendy และ business

กุลดิษฐ์ กล่าวว่า การที่เน้นทำตลาดในกลุ่มสินค้า trendy และ business เพราะเชื่อว่า จะทำราคาให้ดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมายได้ เมื่อเทียบเครื่องที่เป็นฟีเจอร์เดียวกันกับ big brand แล้ว เครื่องยี่ห้อ MFA จะมีราคาที่ต่ำกว่าประมาณ 30% ซึ่งในเบื้องต้นได้เปิดตัวสินค้าออกมา 3 รุ่น ได้แก่ i2i, MARS และ MONET โดย i2i กับ MARS ต้องการจัดกลุ่มลูกค้า trendy และ business ส่วน MONET นั้นออกแบบมาเพื่อจับตลาดผู้หญิง

สภาวะการแข่งขันได้ส่งผลให้อายุสินค้าสั้นลง ความถี่ในการออกสินค้ารุ่นใหม่เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมาก ไม่ยืดอายุสินค้าในตลาดออกไป โดยยอดขายของโทรศัพท์ยี่ห้อ MFA แต่ละรุ่น อาจจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 เครื่องเท่านั้น

ไม่เพียงแต่ DPC เท่านั้นที่ลงมาเล่นในตลาดนี้ แต่ผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เกือบทุกค่ายได้ลงมาเล่นในตลาดนี้เช่นกัน เช่น Jay Mart, Samart i-mobile, M-link, Dtac Shop เป็นต้น

สามารถ ไอ-โมบาย ที่เก๋าเกมในการเลือกต้นแบบ เพื่อจ้างผลิตมือถือที่เป็นแบรนด์ของตัวเองในชื่อ i-mobile ให้มีรูปทรงที่ทันสมัย ฟังก์ชันตรงใจผู้บริโภค ทำตลาดอย่างคึกคักต่อเนื่อง ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกตลาดมือถือ house brand จนเป็นที่รู้จักและนิยมของผู้บริโภคเป็นรายแรกๆ ซึ่งมือถือยี่ห้อ i-mobile ทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเพราะสามารถควบคุมต้นทุน ราคาขายได้เอง ซึ่งการผลิตโทรศัพท์ house brand ที่เป็นจอสีขึ้นมาเอง ทำให้กำไรโดยรวมในส่วนโทรศัพท์จอสีสูงขึ้นด้วย

โรงงานผลิตตัวแปรสำคัญ

ผู้เล่นในสนามนี้ส่วนใหญ่จะเลือกเครื่องต้นแบบจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในสายการผลิตในโรงงานแถบภาคพื้นเอเชีย อย่างเช่น จีน ไต้หวัน เกาหลี เป็นต้น โดยจะเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติบางอย่าง เช่น ซอฟต์แวร์ ฟีเจอร์ packaging ดีไซน์ การใส่ชื่อรุ่น ยี่ห้อของตัวเอง เป็นต้น อีกทั้งการที่ผู้เล่นในตลาดนี้ ต่างฝ่ายก็เป็นผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ทำให้เห็น Roadmap ของสินค้า big brand ก่อนวางตลาดเหมือนๆ กัน จึงไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกต้นแบบกันมากนัก

ในช่วงครึ่งปีหลัง ความหลากหลายในตลาดมือถือ small brand มีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะยังมีความเชื่อกันว่า โทรศัพท์มือถือยังจะเป็นธุรกิจที่สามารถขายสินค้าได้ และมีการเติบโตสูง

ทิศทางความผันผวนในตลาดนี้ ใครจะได้ส่วนแบ่งมากหรือน้อย จึงอยู่ที่ว่ารายไหนจะมีจุดแข็งที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้มาก มีกลยุทธ์การทำตลาด ราคาดึงดูดใจ และที่สำคัญที่สุด ใครจะเดาใจผู้บริโภคได้เก่งกว่ากัน

Website

www.dpc.co.th
www.i-mobileshop.com