หากใครได้ไปที่สถานทูตฝรั่งเศส จะเห็นรูปโฉมใหม่ของอาคารที่ทำการที่ถูกปรับปรุง จนดูโล่งโปร่งให้ความรู้สึกสบายๆ ขณะเดียวกันก็มีความทันสมัยแฝงเทคโนโลยีอยู่ในตัว และการสอดคล้องกับการใช้สอย
ความเรียบง่ายลงตัวนี้เอง จึงเป็นที่มาของรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นเหรียญทอง ประจำปี 2547 โดยการพิจารณาของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมกันกับที่ อัชชพล ดุสิตนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิกอัชชพล ดุสิตนานนท์ และคณะ จำกัด ผู้ออกแบบอาคารดังกล่าว ได้รับรางวัลสถาปนิกดีเด่นด้านวิชาชีพ
“เราเอาปัญหามาเป็นโจทย์ อาคารนี้สร้างเมื่อ 30 ปีก่อน เป็นการรีโนเวตอาคารเก่า ที่ออกแบบโดย อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ เป็นกลุ่มบุกเบิกสถาปัตยกรรมโมเดิร์นนิสซึ่ม ซึ่งเป็นแนวคิดจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อิทธิพลจาก Bauhaus และแนว Mat Building ของ Le Corbusier ตอนนั้นทั่วโลกเศรษฐกิจตกต่ำ อาคารต้องประหยัดงบ สมัยนั้นใครออกแบบตึกได้เตี้ยเท่าไรก็เก่งเท่านั้น หลังคาต้องแบนที่สุด พื้นถึงฝ้าต้องเตี้ยๆ ชั้นล่างต้องแตะดินให้มากที่สุด” สถาปนิกอัชชพล ซึ่งมีอีกบทบาทเป็นอาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาตั้งแต่ปี 2527 เล่าถึงแนวคิดการออกแบบ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป หน่วยงานเจ้าของอาคารต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสถานทูตเองมีเอกสิทธิ์ที่สามารถต่อเติมได้ตามสบายโดยไม่ต้องขออนุญาต สถาปัตยกรรมโมเดิร์นนิสซึ่มจึงเริ่มกลายสภาพคล้ายสลัม รวมทั้งหลังคาที่ลาดเอียงไม่พอ วัสดุหมดอายุ หลังคารั่วจนทำงานกันไม่ได้ กลายเป็นสลัมสมบูรณ์แบบ
ทีมสถาปนิกจึงเริ่มเก็บข้อมูล นำปัญหามาเป็นโจทย์ในการออกแบบ เช่น ปัญหาฝนรั่วก็ต้องหาว่าวัสดุอะไรที่เหมาะสมในการคลุมหลังคา พื้นผนัง ที่ปิดทึบเกินไป จะทำอย่างไรให้แสงธรรมชาติเข้า ซึ่งเป็นแสงที่เรียกว่า Indirect light เพื่อให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้น ปัญหาสภาพอาคารที่ดูซอมซ่อ ทำให้ดูเป็นธรรมชาติที่สุด โดยการปูพื้นไม้ชิ้นเล็กทั้งหมด ให้ความรู้สึกนุ่มขึ้น เย็นขึ้น แล้วเปิดใช้แสง สี ภายในที่ดูสว่าง รวมทั้งพื้นที่ภายนอกอาคาร การจัดภูมิทัศน์ใหม่ทั้งหมด
พื้นที่ใช้สอยโดยรวมเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งแต่เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นที่รวมของ 4 หน่วยงานด้วยกัน คือ สถานทูตฝรั่งเศสฝ่ายวัฒนธรรม สถานกงสุล สมาคมฝรั่งเศส และโรงเรียนฝรั่งเศส สถาปนิกต้องออกแบบโดยคาดการณ์การใช้งานในอนาคตด้วย
“บางคนพอเข้าไปรีโนเวตก็พยายามเอาสไตล์ของตัวเองไปครอบของเก่า…ไม่ถูก.. เราควรเคารพคนออกแบบเก่าให้มากที่สุด ปรับเปลี่ยนบางอย่างให้เหมาะสมกับการใช้ในปัจจุบัน และจุดไหนที่เป็นจุดอ่อนก็แก้ให้มันดีขึ้น คือเป็นอาคารที่มีคอร์ริดอร์ แบบเอาต์ดอร์ แต่ฝนสาด เราก็ต้องยื่นชายคาออกไป พอยื่นชายคาก็ต้องมีค้ำยัน ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความจำเป็นทั้งหมด และเราก็ใช้บริบทของโมเดิร์นสไตล์เข้าไปสวม เพื่อให้งานนั้นทรงคุณค่าของผู้ออกแบบเดิมไว้ อันนี้คือเนื้อหาสำคัญ”
วิธีการทำงานของอาจารย์อัชชพล ใช้วิธีการวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ด้วยการค้นคว้าจากเอกสาร การพูดคุยสัมภาษณ์ผู้ใช้อาคาร ไปจนถึงการเฝ้าสังเกตการณ์
ขณะเดียวกันสถาปนิกต้องออกแบบพื้นที่ใช้สอยสอดคล้องกับการใช้งาน โดยคาดการณ์ไปถึงการใช้งานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้การทำนายนี้จะมีโอกาสผิดพลาด ฉะนั้นจึงต้องสอบถามผู้รู้หรือคนต่างๆ เพื่อให้เกิดโอกาสผิดพลาดน้อยที่สุด
“แม้กระทั่งที่ดิน เราต้องไปนั่งเผ้าดูพฤติกรรมของที่ดินผืนนั้นเป็นวันๆ ก่อนจะออกแบบ เช่น มีคนเดินผ่านไหม รถผ่านมากตอนกี่โมง ทิศทางการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ทิศทางลม เสียงรบกวน ฝุ่นละออง แสงเงาที่ทอดตกจากอาคารข้างเคียงที่มีผลกระทบต่อพื้นที่ จุดที่คนเดินผ่าน เพราะดูแค่กระดาษเราจะไม่รู้จริง บางทีต้องไปคุยกับเจ้าหน้าที่ว่าในอนาคตจะมีโครงการอะไรตัดผ่านหรือเปล่า เช่น อาจมีรถไฟฟ้าตัดผ่าน จากที่เดิมจะหันหน้าออกถนน ก็ลองเปลี่ยนเป็นหันหลังออกถนน แล้วไปเปิดคอร์ตเอาข้างใน”
อาจารย์อัชชพลย้ำว่า “เราต้องกล้านำเสนอ ถ้าสมมติว่าเจ้าของต้องการอะไรบอกมา แล้วสถาปนิกไปเขียนให้ตามนั้น คุณจะไม่ใชสถาปนิกเลย คุณจะเป็นดราฟต์แมนทันที”
ในฐานะที่อาจารย์นอกจากจะสอนวิชาโปรเจกต์ดีไซน์ แล้วยังสอนวิชาโปรเฟสชั่นแนลเพรคทิซด้วย เมื่อถูกถามถึงคุณสมบัติของสถาปนิกที่ดี
“
สำคัญต้องตั้งใจทำงาน รักในสิ่งที่ทำ ซื่อตรงกับงานที่ทำ ถึงแม้จะไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า เพราะเราไม่จำเป็นต้องทำให้กับลูกค้าทุกคน เค้ามีสิทธิเลือกอยู่แล้ว แต่คุณต้องกล้าเสนอ ถ้าสิ่งที่เราเสนอไปแล้วเค้าไม่ต้องการเสพ ก็ให้เค้าไปเสพร้านอื่น ไม่มีความจำเป็นที่ว่าเราจะต้องมานั่งเอาอกเอาใจลูกค้าทั้งที่เรารู้ว่าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ไม่ดี หมั่นศึกษา เปิดโลกทัศน์ มีทีมงานที่เก่ง ทำตัวให้ง่าย คิดว่าหน้าที่ของเราคือการสร้างสถาปัตยกรรมที่มีคุณภาพ แค่นั้นพอ”
“ถ้ามันไม่ดี คุณต้องกล้าบอกเลยว่าสิ่งที่เขากำลังขอมันสร้างพิษภัยกับสิ่งแวดล้อมยังไง ฉะนั้นถ้าขบวนการเรียนการสอน สอนให้เด็กหงอ เวลาเขาจบไปเป็นนักวิชาชีพ เขาจะไปคล้อยตามกับความต้องการของคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจจริงๆ” เป็นความเห็นเพิ่มเติมของอาจารย์ ในฐานะเป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้านการบริหารการศึกษา ของ Victoria University อยู่ด้วยในปัจจุบัน
ส่วนคุณสมบัติของสถาปัตยกรรมที่ดีนั้น เขาบอกว่าต้องเป็นสถาปัตยกรรมที่ Logic มีเหตุมีผลรองรับในตัวเอง สถาปัตยกรรมต้องพูดได้ สื่อสารได้ด้วยภาษาของตัวมันเอง และไม่ได้สำคัญที่รูปทรงภายนอกเท่านั้น เพราะสถาปัตยกรรมไม่ใช่แค่เรื่องฟังก์ชัน หรือฟอร์มเพียงอย่างเดียว แต่เป็นองค์ประกอบหลายสิ่งที่ประมวลขึ้นมาเป็นสถาปัตยกรรม เช่น Guggenheim Museum ในเนื้อหาที่แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ ทำที่นิวยอร์กที่เป็นสไปรัล หรือแม้กระทั่งที่บิลเบา ประเทศสเปนก็มีเนื้อหาและการตอบสนองการใช้งานที่สุดยอด ไม่ได้เป็นสถาปัตยกรรมที่ดีแค่เพราะมีฟอร์มแปลก
ความเห็นต่องานออกแบบเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน อาจารย์อัชชพลบอกว่า “หมู่บ้านจัดสรรดีๆ ผมว่างานของกลุ่มสมประสงค์สมัยก่อน งานดีในแง่สภาพแวดล้อมและเนื้อหา ส่วนของโนเบิลก็ดี แต่ก็อาจจะขาดความเข้าใจบางอย่าง เช่นการทำสระว่ายน้ำในบ้าน ปกติเค้าไม่ทำกันมันอันตราย โดยรวมสถาปัตยกรรมเติบโตควบคู่ไปกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อคนเราเริ่มมีภาวะความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็เริ่มคิดถึงสถาปัตยกรรม ภาพรวมความเป็นไปของสถาปัตยกรรมจากนี้ไป สิ่งหลักๆ ที่ต้องคำนึงถึง คือ การเคารพสิ่งแวดล้อม ความสามารถรองรับเทคโนโลยีในอนาคตได้ และสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะเกิดขึ้น”