ในช่วงที่การเรียกร้องให้เกิดพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยในขณะนี้ ถูกทำให้เกิดการชักนำให้ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครคนใหม่ได้ปราศรัย และหวังผลจากการปราศรัยไปทวงสัญญาตอนเมื่อได้เป็นผู้ว่าฯ กันจริงๆ ซึ่งตอนนี้คนที่ได้เราก็รู้ว่าเป็นใคร ก็คงเริ่มโชว์ตัวกันก่อนที่จะได้ทำงาน โดยที่เราท่านก็รอให้ผลงานของเขาปรากฏสักที
เรื่องพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์เป็นการเรียกร้องที่เกิดขึ้นกันมาอย่างทรหด เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเราได้ยินคำใหม่ๆ อย่าง Knowledge Economy, Learning Center, ห้องสมุดมีชีวิต, เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงคำว่า “Smithsonian” ให้ฮือฮากันอยู่พักหนึ่งจากปากของคนที่เราก็รู้ว่าใคร
หากใครยังไม่ทราบ “สมิธโซเนียน” นั้นเป็นชื่อของพิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในโลก ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา Dr. Frank Proschan เดินทางมาเมืองไทยเพื่อแสดงปาฐกถาเรื่อง “เรียนรู้จากสถาบันสมิธโซเนียน : บทเรียน (ดีและเลว) จากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา” จากผลการทำงานร่วมกับสถาบันนี้มากว่า 30 ปี ให้คนไทยได้ฟัง พอจับใจความได้ถึงการถูกบิดเบือนในปรัชญาต่างๆ ขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อคุณค่าทางสังคมที่มีมาตรฐานสูง ไปกับกรณีการหวังผลจากการทำกำไรหรือคนดูมากๆ จนเป็น Dilemma ของทุนนิยมแบบปกติ
คุณค่าที่ต้องสำรวจและพินิจพิเคราะห์กัน มาจากกรณีตัวอย่างดังเช่น
ผู้ว่าฯ คนเดิม มีทัศนะว่าหอศิลป์กลางแยกปทุมวันที่ได้วางศิลาฤกษ์ไปแล้วนั้นควรถูกยกเลิก เพราะเห็นว่าไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการสร้าง และกทม. อาจเสียประโยชน์ได้ ต่อมาเลยประกาศว่า “ตราบใดที่ยังเป็นผู้ว่าฯ หอศิลป์อันนี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่กทม.ไม่ได้” ทางออกที่เคยเสนอจึงให้เปลี่ยนสัดส่วนของพื้นที่หอศิลป์และพื้นที่เช่าเอกชน (หรือห้างสรรพสินค้า) 70 ต่อ 30 ให้เป็น 30 ต่อ 70 แทน ซึ่งแน่นอนย่อมถูกคัดค้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวเดิม จนถึงเมื่อคราวเปลี่ยนผู้ว่าฯ คนใหม่
ดูเหมือนว่าในมุมนี้หลายคนอาจจะรู้สึกแง่ลบกับการตลาด เรามาลองดูกับอีกตัวอย่าง
“Art Market” โครงการใหญ่ยักษ์ที่มีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นแม่ดัน ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่หอศิลป์แห่งชาติ ถนนเจ้าฟ้า ทุกวันเสาร์อาทิตย์ ถ้าใครยังไม่ทราบ งานนี้ที่ตอนนั้นเคยบอกกันว่าจัดแค่ 4 สัปดาห์ แต่ตอนนี้ก็ยังจัดกันอยู่ทุกอาทิตย์ แต่แบบทนอยู่กันไป เพราะร้างไร้ผู้คนแต่ก็ยังทนฝืนจัดกันไป แล้วโทษตัวการสำคัญคือ “การประชาสัมพันธ์” ที่อ่อนด้อย
ตอนนี้ถ้าใครยังไม่รู้ การดิ้นรนดังว่า ทำให้ต้องย้ายมาอยู่กลางแยกปทุมวันเพื่ออย่างน้อยก็เรียกร้องสายตาได้พอสมควร อันเป็นผลมาจากคำประกาศของอนุรักษ์ จุรีมาศ เจ้ากระทรวง ว่า “ตราบใดที่ผมยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ อาร์ตมาร์เก็ตตรงนี้จะปิดในสมัยผมไม่ได้” (เรียกเสียงปรบมือได้อย่างดี) ซึ่งเป็นความเหมือนในความต่างจากตัวอย่างแรก
ถ้ามองกันตามตรงกรณีอาร์ตมาร์เก็ตโดย “Positioning” ของสินค้าเพื่อขายนั้น ทำให้ภาพลักษณ์หรือโปรดักส์ของศิลปะ (Pure Art) ถูกดึงลงไปเป็นสินค้ามีฝีมือ (Handicraft) แต่ถูกวางในช่องทางการขาย (Place) แบบหอศิลป์… ส่วนกลุ่มเป้าหมาย (People) ก็ย่อมต้องการคนที่มีการศึกษา รู้ค่าของงาน เดินเข้าหอศิลป์มากกว่าคนซื้อของแต่งบ้าน… ที่สอดคล้องกันไปในระดับราคา (Price) ตอนแรกก็ตั้งกันแบบงานอาร์ต และจำเป็นต้องลดในภายหลัง
ถ้าหากใครเรียน “Marketing 101” มา ก็ต้องรู้ว่า “4P” แบบนี้ยังไงก็ “เหนื่อย” แม้ไม่ต้องเสียค่าที่ แต่ก็คงไม่พอค่าขนงานมาและกลับ ทางออกที่อาจจะดีขึ้นหน่อย ถ้าของแบบนี้ไปอยู่ใกล้จตุจักรมากขึ้น เทียบกับตัวอย่างของ Success Story ในกลุ่ม SME แบบนี้ในตลาดก่อนหน้า
หากไม่ได้นับช่วงปรากฏการณ์ในตอนแรกที่ทำมายังไงก็ขายหมด แรงในตอนต้นและมาแผ่วปลายซึ่งก็เป็นตามธรรมชาติของสื่อ และแรงเชียร์ตามปกติ…
ผลก็คือชัยชนะในการตลาด ก็มีตัวอย่างให้เห็นว่า ความจริงบนโลกนั้นไม่สามารถตั้งอยู่ได้บนอุดมคติแต่ข้างเดียว
ดังนั้นสิ่งที่ควรสร้างก่อนหอศิลป์คืออะไร ระหว่างถาวรวัตถุหรือสำนึก และอุดมการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่มีคุณค่าในสังคม เช่น ความงาม หรือวัฒนธรรม ???
คำว่า “Thai Smithsonian” หรือหอศิลป์อื่นๆ ที่อาจเกิดหรือไม่เกิดในชั่วชีวิตนี้ หรืออาจจะเป็นได้ตามลมปากของใครบางคนได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามและการอดทนรออยู่บ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับสมิธโซเนียนที่โน่นก็เป็นผลให้เรารอเตรียมรับมือกับอะไรบางอย่างได้
“Commercializing Smithsonian”
Smithsonian เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2389 (1846) กว่า 150 ปีมาแล้ว จากชาวอังกฤษที่ชื่อ “เจมส์ สมิธสัน” (James Smithson) ได้ยกสมบัติในของเขาให้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเจตนาเพื่อเพิ่มพูนและเผยแพร่ความรู้ (Increase and Diffusion of Knowledge among Men) อันเป็นปรัชญาการทำงานสูงสุดของสถาบันทางวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งนี้ต่อมา ที่ได้มาจากเอกชนไม่ใช่รัฐบาลในเบื้องต้น
ภาพรวมการทำงานนั้น ปัจจุบัน 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายมาจากเงินภาษีของรัฐ แต่ความเป็นจริงในระดับหน่วยงานและโครงการบางแห่งนั้นต้องพึ่งความผันแปรของเศรษฐกิจหรือแม้แต่ตลาดหุ้น รวมไปถึงความใจบุญของผู้บริจาคแต่ละราย ซึ่งบางหน่วยงานนั้น 60 เปอร์เซ็นต์กลายเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอนที่ต้องหากันเอง โดยตามธรรมเนียมเดิมเงินที่ได้มาจากเอกชนถือว่าเป็นเงินที่ไม่มีพันธะผูกพัน (string attached) ผู้บริจาคจะไม่ได้อะไรมากกว่าการได้รับมอบจดหมายขอบคุณ (heartfelt letter of thanks) หรือรางวัลบางอย่างเท่านั้น
เมื่อธรรมเนียมและสภาพสังคมเปลี่ยนไป ยุคกบฏผู้มีบุญได้ผ่านพ้นไปนานแล้ว การเป็นผู้บริจาคสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าได้ในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ คำว่า “สปอนเซอร์” มีอิทธิพลเชิงพาณิชย์ต่อการสนับสนุนงานทางสังคมที่ค่อนข้างจะไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-profit) เพราะตอนนี้แค่ชื่อก็ขายได้
สิ่งนี้นำไปสู่ความเชื่อว่า มีการบิดเบือนในการจัดทำเนื้อหาของกิจกรรมภายในว่าเป็นไปตามอิทธิพลของเม็ดเงิน จนเป็นคำถามต่อความชอบธรรมขององค์กรนี้ ยังเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมอเมริกันที่น่าเชื่อถือได้อีกหรือไม่ มากไปกว่าเป็นตัวแทนของเหล่าองค์กรต่างๆ เหล่านั้น
Lawrence M. Small เลขาธิการสถาบันสมิธโซเนียนปัจจุบัน ถูกกล่าวหาว่าได้ใช้สถาบันที่มีคุณภาพทางวิชาการ ความเป็นกลาง และชื่อเสียง เป็นเครื่องมือฟอกภาพลักษณ์บางอย่างของบางบริษัท อย่าง “General Motors Hall of Transportation” เป็นห้องนิทรรศการถาวรที่เกิดขึ้นหลังจากให้เงินบริจาคในโครงการ “America on the move” แน่นอนย่อมให้ภาพความรุ่งเรืองของ GM กับการเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางคมนาคมที่รุดเจริญหน้าด้านอื่นของประเทศ แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่า GM ก็เป็นบรรษัทเอกชนที่เป็นต้นเหตุของความเสื่อมข้ามชาติอันมีส่วนทำลายระบบเศรษฐกิจ รวมถึงระบบขนส่งในบางเมือง แม้แต่ในประเทศตัวเอง แลกกับเงิน 10 ล้านดอลลาร์ โดยยังมีอีกหลายกรณีตัวอย่าง
ปัจจุบันสถาบันได้กลายเป็น “พื้นที่เช่า” สำหรับบุคคลที่มีเงินพออยากจะแสดงผลประโยชน์ส่วนบุคคล ในพื้นที่ที่เสมือนเป็นของส่วนรวม และเป็นตัวแทนของคนทั้งชาติ เหมือนอย่างที่เราไม่เคยรู้สึกรู้สา และเห็นกันอย่างชินตาที่ “ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย” เป็นพื้นที่แสดงปาหี่ของคนมีเงิน
เมื่อของของเราถูกใช้กันอย่างเปรอะเปื้อนมานาน จนเราไม่รู้สึกรู้สม หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าพื้นที่การขายชาติ และแบบนี้เราคงไม่มีคำอื่นใดสำหรับเรียกนอกเสียจาก “Shopping Mall” แต่จะเรียกห้างสรรพสินค้าชั้นดี หรือพิพิธภัณฑ์ชั้นเลวก็สุดแท้แต่
แม้ว่าสมอลล์ อาจจะไม่ผิด ถ้าหากว่าก่อนหน้านั้น เขาเคยเป็นนักการธนาคารมีชื่อเสียง และเขาก็ได้รับการเลือกตั้งจากบอร์ดให้ดำรงตำแหน่งนี้ ก็เพราะวิสัยทัศน์ที่ว่าจะทำให้องค์กรแห่งนี้ “มีเงิน” ขึ้นมากับเขาสักครั้ง แต่มีคำถามย้อนกลับมาให้คิดว่า เราต้องการคนแบบไหน หรือวิธีการจัดการแบบใด เพื่อทำหน้าที่ในองค์กร “แบบนี้” กัน
รวมไปถึงคำถามที่ว่า เราต้องการอะไรเป็นตัวแทนประวัติศาสตร์หรือสิ่งอันแสดงสุนทรียะของคนในชาติแบบไหน คนหรือสังคมเราต้องการอะไรกันจริงๆ อันจะเป็นบทเรียนสะท้อน ไทย-สมิธโซเนียน หอศิลป์ หรือพิพิธภัณฑ์ที่จะเกิด (หรืออาจจะไม่เกิด) ให้ต้องขบคิด…
ด้วยความนับถือ
Did you know?
รายงานประจำปี 2003 ของ สถาบันสมิธโซเนียน สรุปว่า สถาบันแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพิพิธภัณฑ์และห้องจัดแสดง 17 แห่ง และศูนย์วิจัย 9 แห่งทั่วโลก มีผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดเกือบ 6 พันคนกับอาสาสมัครอีกพอกัน ในจำนวนนี้มีอยู่ 9 แห่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดย 2 ใน 9 แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก (เฉลี่ยมีผู้เข้าชม 24-28 ล้านคน กับอีก 80 ล้านคนผ่านเว็บไซต์) พิพิธภัณฑ์ไม่เก็บค่าเข้าชม แต่ทำรายได้จากภาพยนตร์ รายการพิเศษ และขายอาหารกับของที่ระลึก ปีที่ผ่านมีรายรับ 691 ล้านเหรียญ แต่มีรายจ่าย 730 ล้านเหรียญ!!!