พรชิตา ณ สงขลา Value Adding by “Popularity” Management

พูดถึง “เบนซ์ พรชิตา” ภาพแรกที่ลอยเข้ามาคงเป็น “ความเป็นดารา” ของสาวน้อยวัย 24 ปี ซึ่งเธอบ่มเพาะความโด่งดังในวงการมาแล้วร่วม 10 ปี แล้วก็ได้แปรความดังที่สั่งสมมาเป็นฐานแห่งธุรกิจเครื่องสำอาง “เบนเซ่”…กว่า 2 ปีบนเส้นทางธุรกิจ เธอได้เรียนรู้ว่า กลยุทธ์การบริหารเพียงอย่างเดียวอาจไม่สร้างความสำเร็จมาสู่ “เบนเซ่” ได้มากเท่าทุกวันนี้ หากยังอยู่ที่วิธีการจัดการความดังของเธอเองด้วย

POSITIONING นัดสัมภาษณ์กับเบนซ์ ณ สตูดิโอมนตรี ซอยลาดพร้าว 101 เวลา 9 โมงเช้า โดยหวังใช้ช่วงเวลาที่รออัดรายการ “แฟนซีโดน” ทว่าเบนซ์เพิ่งเสร็จจากการบันทึกมิวสิกวิดีโอเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “แจ๋ว” เมื่อ 8 โมงเช้าวันเดียวกัน ประโยคแรกที่เธอพูดกับเราคือ “ขอโทษจริงๆ คะที่เบนซ์มาช้า ตามคิวจะต้องอัดเสร็จตอน 6 โมง” เธอบอกเหตุผลที่มาสายร่วมชั่วโมง

“ทุกวันนี้ทำงาน 7 วันเลยคะ ก่อนหน้านี้จะยุ่งมากกว่านี้ เพราะว่ามีละคร 4 วัน หนัง 3 วัน และก็มีพิธีกรอีก 4 รายการ และก็มีหนังด้วย ช่วงที่ผ่านมาก็เลยไม่ได้เข้าไปเคลียร์งานในบริษัท แต่โชคดีที่มีพ่อกับพี่ชายคอยดูแลให้ และก็มาเล่าความเคลื่อนไหวให้ฟัง” เบนซ์เล่ากิจวัตรของชีวิตช่วงนี้ ก่อนสรุปให้ฟังถึงหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการบริหารของบริษัท พรชิตา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

เบนซ์มีส่วนดูแลเรื่องผลิตภัณฑ์ออกใหม่ ว่าควรเป็นอะไร มีสีสันลวดลาย หรือเนื้อแป้งอย่างไร อาศัยการพูดคุยกับเพื่อนฝูง ช่างแต่งหน้า และแฟนคลับ พร้อมกับดูความเคลื่อนไหวของตลาดและคู่แข่ง และร่วมคิดกิจกรรมโปรโมชั่น และช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า เช่น เอาสินค้าไปแจกเมื่อออกทัวร์คอนเสิร์ตหรือเดินสายต่างจังหวัด กระทั่งไอเดียในการโฆษณา เธอก็มีส่วนร่วมวางคอนเซ็ปต์และแสดง นอกจากนี้ ยังมีงานอย่างอื่นที่เธอทำโดยใช้ความเป็นดารา เช่น การโชว์ตัวโปรโมตสินค้าตามร้านดีลเลอร์

“คนมักจะเข้าใจว่าเบนซ์ร้องเพลง (จากละครสะใภ้ไร้ศักดินา) จนดังแล้วมาเปิดเบนเซ่ แต่จริงๆ เบนซ์วางแผนเปิดบริษัทเอาไว้ก่อนเกือบ 2 ปี ตั้งแต่ก่อนเรียนจบ เคยคิดจะเปิดสนามไดรฟ์กอล์ฟแต่กลัวกว่าจะคืนทุนช้า และพอดีเบนซ์มีคุณพ่อบุญธรรมเป็นเจ้าของฮานาโกะ (โซบุน ซึกิกาวา นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น) เขาก็เลยชวนว่าลองไหม…เรียกว่าโชคดีมากกว่า ที่เรียนจบแล้วมาเปิดบริษัท มันพอดีกับที่เราเป็นนักร้องแล้วดัง” …เสมือนการปฏิเสธว่า เบนเซ่ไม่ได้เกิดจากการฉวยโอกาสจากความดังเป็นพลุแตก ในยุคนั้นของเธอ

อย่างไรก็ดี กว่าจะเป็นเบนเซ่วันนี้ ทีมผู้บริหารนำโดยเบนซ์ พ่อ และพี่ชายได้ศึกษาตลาดและกลุ่มเป้าหมายของสินค้า เน้นจับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาหญิงอายุ 15 – 25 ปี และเป็นกลุ่มที่ชอบซื้อของกระจุกกระจิกเหมือนเธอ โดยมองตลาดต่างจังหวัดเป็นตลาดหลัก เพราะเชื่อว่าแฟนคลับของเบนซ์ส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในตลาดนี้ เพื่อให้เจาะตลาดได้ง่าย “เบนเซ่” จึงมีจุดยืนเป็นสินค้าคุณภาพดีราคาปานกลาง จับกลุ่มลูกค้าระดับซีบวกถึงบี

“เราต้องรู้ว่า เราอยู่ตรงไหนได้ ไม่พยายามปีนขึ้นไป เบนซ์ก็เป็นแบบเบนซ์ไม่ใช่แบบน้องพอลล่า บางครั้งเราก็จำเป็นต้องยอมทำตลาดแบบที่เป็นเราให้ได้”

กลยุทธ์ต่างๆ ถูกงัดมาใช้เพื่อเจาะตลาด เริ่มจากชื่อ “เบนเซ่” มาจากความคิดที่อยากให้สินค้ามีชื่อของเบนซ์ เพื่อง่ายต่อการรับรู้และยอมรับ ตอกย้ำด้วยโฆษณาที่มีใจความหลักคือ “ทำไงก็ได้ให้คนจำได้ว่าเบนเซ่นี่เป็นของเบนซ์” โดยใช้เบนซ์เป็นพรีเซ็นเตอร์ รวมถึงการ์ตูนผู้หญิงตัวแทนของเบนซ์ในบุคลิกร่าเริง และมั่นใจ บนแพ็กเกจ นอกจากเพื่อความแตกต่างยังแฝง “ความเป็นเบนซ์” ใช้เชื่อมโยงลูกค้าเข้ากับเธอ ขณะที่คำว่า “by HANAKO” และการวางขายในบูธฮานาโกะในช่วงแรกช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ “เบนเซ่” ได้เป็นอย่างดี

“เบนซ์เชื่อว่า อันดับแรกคนมาซื้อเบนเซ่เพราะเป็นแฟนละครเรา แต่ถ้าคุณภาพไม่ดีจริง เขาจะไม่กลับมาซื้ออีก และอาจไม่ชอบงานแสดงของเราไปเลยก็ได้ หรือถ้าจะไปทำอย่างอื่นคนก็จะนึกถึงแต่เบนเซ่…กลับกัน ตัวเบนซ์เองก็เป็นแบรนด์ไปในตัว เลยต้องดูแลตัวเองให้ดีทั้งเรื่องงานและการวางตัว เพราะถ้าภาพลักษณ์ไม่ดีก็จะทำให้เสียลูกค้า และกระทบกับบริษัทได้”

แน่นอนว่า การรักษาภาพพจน์ให้ดูดีตลอดเวลาเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะกับบุคคลสาธารณะอย่างดารา วันนี้เบนซ์จึงตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี เบนเซ่จะต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ใช่เพราะ “ความเป็นเบนซ์” แต่กว่าจะถึงวันนั้นคงต้องระวังในการรับงานอยู่ไม่น้อย เพื่อย้ำภาพลักษณ์ทางการตลาดของเบนเซ่ให้แข็งแรง “หากต้องเล่นเป็นตัวร้ายก็ต้องดูว่ารับเล่นดีไหม หรือออกแนวขำขันดีกว่า ถ้าได้เงินตรงนี้ แล้วยังทำให้ได้เงินจากอีกทางด้วยก็ดี”

และกว่าจะถึงวันนั้นจริงๆ เบนซ์ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยวงการบันเทิงในการเกื้อกูลธุรกิจ “เบนเซ่” โดยใช้ความโด่งดังของ “เบนซ์” ช่วยเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์และข้อได้เปรียบกว่าคู่แข่ง เช่น การออกทัวร์คอนเสิร์ตเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “แจ๋ว” จะเป็นโอกาสที่เบนซ์จะได้นำสินค้าไปแจกแฟนคลับทั่วประเทศ หรือความเป็นดาราที่ยังคงอยู่ก็จะทำให้เบนซ์โปรโมตสินค้าได้ง่ายขึ้น และช่วยประหยัดงบค่าตัวพรีเซ็นเตอร์ได้ด้วย ฯลฯ

“บางคนตอนดังไม่อยากรับงานก็เลยได้พักยาว ฉะนั้นถ้ายังมีงานแสดงก็ทำไปเถอะ ของเบนซ์จะรับงานละครก็ปีละประมาณ 2 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นงานพิธีกร เพื่อให้มันดังอยู่ได้นานๆ และอยู่ไปเรื่อยๆ ดีกว่า”

นอกจากนี้ เบนซ์ยังยอมรับว่า ร่วม 2 ปีครึ่งที่ดำเนินธุรกิจ วันนี้เธอยังต้องนำเงินที่หาได้จากวงการบันเทิงมาจุนเจือกิจการเบนเซ่อยู่บ้าง…

ด้วยจำนวนสาขาตามห้างทั่วประเทศร่วม 240 สาขา (ไม่รวมดีลเลอร์) ปีหน้าน่าจะมียอดขายถึง 300 ล้านบาทซึ่งก็คงไม่ไกลเกินจริง หากเธอยังรักษาความดังและความดีได้ต่อไป…ยิ่งวันนี้ เบนเซ่ได้เข้าไปเจาะตลาดในลาวบ้างแล้ว ส่วนคนลาวนิยมก็นำเข้าละครไทยและฟังเพลงไทยมากขึ้น ฉะนั้นโอกาสที่เบนเซ่จะถูกนำเข้าสู่ประเทศลาวพร้อมๆ กับ “ความดังของเบนซ์” ย่อมมีมากขึ้นด้วย

Profile

Name : พรชิตา ณ สงขลา (เบนซ์)
Born :20 มิถุนายน 2523
Education :
มัธยม สาธิต มศว.ประสานมิตร
ปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการแสดงและกำกับ มศว.ประสานมิตร
Career Highlights :
ก.ค. 2544 – ปัจจุบัน ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการบริหาร บริษัท พรชิตา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ทุนจดทะเบียนชำระเต็ม 10 ล้านบาท) โดยมีบริษัท ฮานาโกะ คอสเมติกส์ เป็นผู้สนับสนุนด้านการผลิตผลิตภัณฑ์
อาชีพในวงการ : นักแสดง (ภาพยนตร์ และละคร), นักร้อง, พิธีกร, นางแบบ, พรีเซ็นเตอร์โฆษณา
Family : พี่น้อง 3 คน เป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัว และเป็นน้องสาวคนสุดท้อง