กมล สุโกศล แคลปป์ “Indy Inventor”

“ผมเคารพผู้ใหญ่ทุกคน แต่ผมไม่ได้นับถือผู้ใหญ่ทุกคน ตั้งแต่อายุ 7 – 8 ขวบแล้วที่ผมจะไม่เชื่อใครที่ไม่มีเหตุผลอธิบายให้ผม ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นผู้ใหญ่แค่ไหนก็ตาม” กมล สุโกศล แคลปป์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อเล่นว่า “สุกี้” กล่าวถึงนิสัยตัวเองตั้งแต่วัยเด็กจนมาถึงปัจจุบัน สุกี้มองว่าสังคมเอเชียยึดมั่นในการเชื่อฟังผู้ใหญ่โดยไม่ต้องตั้งคำถาม ทำให้เขาซึ่งชอบตั้งคำถามว่า “ทำไม” รู้สึกเหนื่อยมาตลอด อย่างไรก็ตามสุกี้เชื่อมั่นว่าหลักการปัจเจกนิยมและเหตุผลนิยมนี้ทำให้เขาประสบความสำเร็จกรุยทางของตัวเองมาจนมีวันนี้ได้

สุกี้เล่าถึงบริษัทตัวเองคือ Bakery Music ว่าต้องเจอกับคำ “ไม่ได้” จากคนรอบด้านมาตลอด เช่นเมื่อเขาทำโจอี้บอยชุดแรก มีหลายคนวิจารณ์ว่าร้องแร็พภาษาไทยไม่ชัด ในระหว่างการผลิตนั้นบางคนถึงกับแนะนำให้อัดใหม่และร้องแร็พให้ชัดทุกถ้อยคำตามหลักภาษาไทย แต่สุกี้ยืนยันไม่ยอมเพราะคนเหล่านั้นไม่สามารถให้เหตุผลที่ดีพอ “สุดท้ายอัลบั้มนั้นก็ขายได้เป็นล้านชุด” สุกี้สรุป และนอกจากนี้เบเกอรี่ยังเคยแหวกธรรมเนียมธุรกิจเพลงไทยโดยการให้ผู้จัดจำหน่ายสองรายขายอัลบั้มเดียวกันเพื่ออุดช่องว่างกันและกัน และแข่งขันเปรียบเทียบผลงาน ซึ่งก็ได้ผลดีตามคาดและเป็นแบบอย่างให้ค่ายอื่นๆ ทำตาม แต่กว่าไอเดียนี้จะได้ทำนั้นสุกี้เล่าว่าเขาต้องเหนื่อยกับการตอบคำถามว่า “จะทำได้หรือ”, “คนอื่นเขาไม่ทำกัน”, ฯลฯ สุกี้สรุปปรัชญาของตัวเองว่า “ผมเคารพทุกคน แต่ผมเชื่อในตัวเอง อย่ามาบอกว่าให้ทำอะไรๆ โดยไม่มีเหตุผลที่ดีพอ”

สุกี้เริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่เล็ก โดยพ่อแม่ให้เรียนกีตาร์คลาสสิกและเปียโนซึ่งเจ้าตัวไม่ชอบจึงเรียนได้ไม่นาน จากนั้นเมื่ออายุราว 10 ขวบ เขามีโอกาสได้ดูได้ฟังงานเพลงของวง ACDC ซึ่งเป็นวงร็อกจากอเมริกา สร้างความประทับใจและแรงขับดันให้เขาหัดเล่นกีตาร์ และกีตาร์ก็เป็นเครื่องดนตรีโปรดมาตั้งแต่วันนั้นจนปัจจุบัน ต่อมาในวัยที่ต้องเลือกเรียนระดับมหาวิทยาลัย เขากลับรู้สึกไม่อยากจำกัดโลกทัศน์ตัวเองไว้ที่ดนตรีเท่านั้น จึงเลือกเรียนคณะ Liberal Art เน้นปรัชญาโดยเลือกเรียนใน New York ซึ่งเป็นเมืองโปรดที่เขาชื่นชอบบรรยากาศและเชื่อว่าเป็นที่รวมเอาคนเก่งทุกด้านไว้ด้วยกัน ขณะเดียวกันเขาก็เรียนเสริมด้าน sound engineer และฝึกงานในห้องบันทึกเสียงที่ New York เพื่อสานต่อความฝันทางดนตรีของตัวเองด้วยในเวลาเดียวกัน

เมื่อเรียนจบกลับมาเมืองไทยเขาก็เลือกทำงานเป็น freelance ด้าน sound engineer และมามีผลงานเพลงของตัวเองเป็นครั้งแรกช่วงปี 2535 โดยได้ถูกบรรจุ 1 เพลงลงในอัลบั้ม “พฤษภาทมิฬ Tribute” ของ นุภาพ สวันตรัจ นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น หลังจากนั้นด้วยวัยเพียง 22 ปี เขาก็ร่วมมือกับสมเกียรติ อริยชัยพาณิชย์ และ บอยด์ โกสิยพงศ์ ก่อตั้งบริษัทเบเกอรี่มิวสิคมารับงานเพลงโฆษณา และเป็น production house ให้กับค่ายเพลงต่างๆ จนกระทั่งสุกี้ได้มาพบกับวงดนตรี Moderndog ซึ่งชนะการประกวดมา เกิดความประทับใจจึงชวนมาผลิตงานเพลงหวังแค่จะนำไปเสนอค่าย แต่คำตอบที่แท้จริงค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้นทุกวันว่าหากเขาต้องการจะผลิตงานและนำเสนอให้ได้ดังใจ และเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงแล้ว จะต้องลงทุนเปิดค่ายเทปขึ้นมาเองเท่านั้น เพราะค่ายใหญ่ๆ ล้วนแต่มีกรอบสำเร็จรูปที่วางไว้แล้ว และศิลปินทุกรายต้องปรับตัวให้เข้ากับกรอบเหล่านั้น เป็นแนวทางที่สุกี้ให้นิยามว่าเหมือน “โรงงาน” และมองข้ามตัวศิลปินไป

เบเกอรี่มิวสิคก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนสุกี้ยอมรับว่าช่วงเวลานั้นเขา “นึกว่าตัวเองเก่ง” จนเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2540 ทุกอย่างกลับพลิกไปทางลบ ปัญหาใหญ่ทางธุรกิจ “มาพร้อมกันหมดรับไม่ไหว” บางเดือนหุ้นส่วนทุกคนถึงกับต้องควักบัตรเครดิตส่วนตัวขึ้นมาสมทบทุนเป็นค่าใช้จ่ายทุกด้านของบริษัท ช่วงนี้สุกี้เผยว่าวิธีแก้ปัญหาของเขามีอย่างเดียวคือ “ต้องชกไม่หยุด” คือทำงานหนักและหาวิธีแก้ปัญหาไม่หยุดหย่อน ถึงแม้ไม่เห็นจุดหมายก็ต้องสู้ การปิดกิจการยกเลิกบริษัทไม่เคยอยู่ในความคิดเขาแม้แต่น้อย หนึ่งในการต่อสู้ก็คือแสวงหาทุนภายนอกเข้ามายืดอายุบริษัทต่อไป สุกี้ได้คุยกับหลายกลุ่มทั้งค่ายเพลงในประเทศ ค่ายเพลงต่างประเทศ และกองทุนแบบ venture capital ในการประชุมพูดคุยนั้นค่ายเพลงในประเทศมาพร้อมกับกรอบที่เบเกอรี่ต้องเปลี่ยนตาม ส่วนกองทุนแบบ venture capital เรียกร้องหาแผนการทำกำไรและผลตอบแทนที่แน่นอนต่อปี ความลงตัวเกิดขึ้นกับทางค่ายต่างประเทศได้แก่ BMG ที่สุกี้สรุปว่าถึงแม้แนวทางจะไม่เหมือนกับเบเกอรี่ แต่ก็ใกล้เคียงกว่าของค่ายในประเทศและ venture capital มาก สุกี้ยอมรับว่าเหมือนได้เข้า business school กับ “อาจารย์ Martin” ซึ่งเป็น “พี่เลี้ยงธุรกิจ” ที่ BMG ส่งมา และ BMG เองก็เคารพในเส้นกั้นของเบเกอรี่ ไม่ก้าวล่วงมายุ่งกับการสร้างสรรค์งานเพลง

ส่วนการบริหารลูกน้องและศิลปินในค่ายนั้น สุกี้มีหลักคือจะต้องรู้ว่าเมื่อไรจะ “ฟัง” และเมื่อไรจะ “เผด็จการ” หากศิลปินจะไปทำงานของตัวเองหรือเป็น “guest” ให้กับงานของค่ายอื่นๆ บ้างเขาก็ไม่ขัดข้อง จุดยืนสำคัญอีกข้อคือการมองว่าที่ผ่านมาค่ายอื่นๆ ทั่วไปนั้นงานเพลงมักเริ่มที่ศิลปินแต่คนที่ได้สุดท้ายคือศิลปิน แต่เขาเองพยายามจะให้ความสำคัญและอิสระกับศิลปินมากกว่าค่ายอื่นๆ เพราะเขาเองเป็นศิลปินด้วยเช่นกันจากการออกอัลบั้มในนามวง “พรู” เขายอมรับว่ามีความสุขกับการอยู่ข้างเดียวกับศิลปิน ก่อนตั้งเบเกอรี่เขาเคยพาวง TKO ไปเจรจาต่อรองกับค่ายต่างๆ และสนุกกับงานมากกว่าปัจจุบันซึ่งเขาเป็นฝ่ายต่อรองกับศิลปินเสียเอง ฉะนั้นเขาจะพยายามให้ศิลปินได้ผลประโยชน์มากขึ้นและทำตัวอยู่ข้างเดียวกับศิลปินเสมอ

กมล สุโกศล แคลปป์ ภูมิใจที่ได้สร้างเบเกอรี่มิวสิคขึ้นมาเป็นผู้บุกเบิกการผลิตเพลงที่ศิลปินมีอิสระมากกว่าในอดีต หลักการข้อนี้เขายืนยันว่า “ไม่เคยเป๋” ไม่ว่าบริษัทจะมีวิกฤตเพียงใด เขาภูมิใจที่กล้าคิดค้นและกล้ายืนหยัดใน business model ที่เหมาะสมกับตัวเองโดยไม่ต้องไปมุ่งเดินตามใคร และในปีหน้านี้เขาแย้มว่าจะมี business model ใหม่เอี่ยมถอดด้ามออกมาฮือฮาวงการเพลงไทยอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้เขาปรึกษาหลายๆ ฝ่ายรวมถึงทนายความแล้วว่าเป็นไปได้ ถึงตรงนี้สุกี้ยิ้มกริ่มพร้อมปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่านี้

Profile

Name : กมล สุโกศล แคลปป์
Age : 35 ปี
Education
2531 – 2535 Bachelor of Music Technology จาก New York University, N.Y., USA
2528 – 2531 Loomis Chaffee School : Windsor, C.T., U.S.A.
Career Highlights :
2535 – 2536 โปรดิวเซอร์และซาวนด์เอนจิเนียร์อิสระ
2536 – ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการบริษัทเบเกอรี่มิวสิค
Family : สมรสกับคุณกัญญศร นิลดำ บุตรชาย ด.ช. เดชจุฑา แคลปป์