ปราโมทย์ สุดจิตพร The Cyber Game Pioneer

ปราโมทย์ สุดจิตพร ถือเป็นผู้บริหารที่ได้รับการโหวตจากผู้อ่านให้เป็น 1 ใน 50 ของผู้บริหารรุ่นใหม่ ในนิตยสารของเราเมื่อเดือนธันวาคม ด้วยวิธีการคิด และความสำเร็จทางทำธุรกิจได้ส่งผลต่อสังคม แม้ว่าประเด็นเกมออนไลน์โดนพุ่งเป้ามาที่การทำงานของเขาโดยตรงในระยะแรก แต่วิธีการก็พิสูจน์ฝีมือบริหารของเขาได้อย่างดี

ภารกิจทั้งนอกและในประเทศ บวกกับธรรมชาติของงานแบบออนไลน์ที่รัดตัวแบบ 24 ชั่วโมง จึงเป็นเรื่องยากกว่าที่เราจะได้นั่งสัมภาษณ์เขาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ท่าทีที่เรียบง่ายของเขากับการพูดคุยที่มีรสชาติก็สะท้อนบุคลิกและปรัชญาของเขา และสามารถให้บทเรียนแทนตัวผู้บริหารรุ่นใหม่สายไอทีของเรา

ภาพรวมการเกิดขึ้นจะเปลี่ยนผ่านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไอทีด้านนี้ เป็นความสัมพันธ์เชิงการตลาดมากกว่าไอทีล้วนๆ ตามความเห็นของเขา ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการเป็นผู้บุกเบิกอยู่ในตลาดเกมคอมพิวเตอร์ระยะแรกของเมืองไทย ซึ่งด้านหนึ่งก็ทำให้เขาได้บทเรียนที่เจ็บตัว แต่ก็ยังได้ลิ้มรสความหอมหวาน เป็นประสบการณ์และวิธีการเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้ก่อนใคร… ภายใต้การบริหารของเขาเป็นวิธีการบุกเบิกและดำรงอยู่ในภาวะเป็นผู้นำตลาด

“ผมบอกคนของผมส่วนใหญ่ว่า เราเป็นธุรกิจบันเทิง (Entertainment Business) ไม่ใช่ธุรกิจไอที (IT Business)…”

ปราโมทย์เริ่มต้นธุรกิจของเขาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแบบโต๊ะทำงานตัวเดียว ก่อนที่ 7 ปีให้หลัง ได้ขยายงานจนมีลูกน้องในบริษัทเกือบ 300 คน กับสองบริษัท คือบีเอ็มมีเดีย (ขายเกมกล่อง) และเอเชียซอฟท์ (ดูแลเกมออนไลน์)

“เมื่อตอน crisis บริษัทที่ทำอยู่เดิม เขาก็เริ่มมีปัญหา จุดนั้นจึงเป็นจุดเปลี่ยน จากที่เราเป็นคนทำงานประจำ ก็เริ่มที่จะมองหาว่าอะไร ทำอะไรต่อดี พอดีเรามีคอนเน็กชั่นเดิมๆ ที่เคยติดต่อกันสมัยทำงาน กับซัพพลายเออร์ในเมืองนอก เขาอยากเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย แต่ตอนนั้นมีปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์มันเยอะ เลยไม่มีใครคิดจะทำ คิดว่าจะไปรอดเหรอ ของเถื่อนเยอะแยะ ของแท้ก็แพง ใครจะซื้อเหรอสภาวะเศรษฐกิจแบบนั้น”

“หลายอย่างที่เป็นสิ่งใหม่ ไม่เคยมีใครเข้ามาทำตลาดอย่างจริงๆ จังๆ แม้ว่าคนที่อยากจะซื้อของแท้ก็มีแต่ไม่รู้จะไปซื้อที่ไหน ก็เริ่มต้นจากจุดนั้นแล้วพัฒนาสินค้าขึ้นมา ผมเริ่มจากผมคนเดียว โต๊ะตัวเดียว ทำทุกอย่างตั้งแต่ดีลต่างประเทศ จนขับรถส่งของในสินค้าตัวแรกๆ”

ปัจจัยที่ทำให้สำเร็จ ?

“ต้องยอมรับว่าเราต้องใช้ Creative Thinking เยอะในธุรกิจนี้ ต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ ผมเห็นด้วยกับคำว่า “ต้องมียุทธศาสตร์” ผมเห็นด้วยว่าคนที่ทำธุรกิจทุกคนต้องมี strategic thinking (คิดเชิงกลยุทธ์) เพราะกลยุทธ์จะนำไปสู่ทุกอย่าง พอวันนี้มันไม่ใช่แค่ว่า วันนี้ลุกขึ้นมาบอกว่าจะทำอย่างเนี้ย… มันไปตอบอะไรอย่างอื่นไม่ได้ แต่แค่คุณมีกลยุทธ์ ตั้งแต่เริ่มต้นว่าคุณทำอย่างเนี้ยเพื่ออะไร เพื่อสอดรับกับยุทธศาสตร์อันไหนของคุณ และยุทธศาสตร์นี้พัฒนาไปยังอะไรได้บ้าง ผมว่าตรงนี้มันจะไปตอบได้หมด แต่คุณควรจะต้องหาคำตอบของยุทธศาสตร์ของคุณให้ได้ก่อน แล้วคุณถึงจะเดิน”

“ผมจะบอกทุกคนเสมอว่า ถ้าคุณจะทำอะไรโดยไม่มีกลยุทธ์ ไม่มียุทธศาสตร์ที่คิดขึ้นมา อย่าทำ อย่าไปคิดต่อ เพราะมันเป็นอะไรที่ระยะสั้นเกินไป”

ดูเหมือนว่าตลาดของเกมจึงต้องกลายเป็นข้อได้เปรียบที่ใครจะรู้ใจผู้บริโภคได้ก่อนกัน และเลือกได้ทันเวลาพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “ความรู้ของผมมันผสมกัน ความรู้ด้านหนึ่ง คือความรู้ของตัวตลาดเกม ในอดีตปีหนึ่งเราออกเกมหลายสิบเกม เรามีสัมพันธ์กับตลาดตลอดเวลาว่าผู้เล่นในบ้านเรานิยมเกมแนวไหน ความยากระดับไหน กราฟิกแบบไหน มาร์เก็ตติ้งแคมเปญแบบไหนที่เขาชอบ”

“ในอีกด้านหนึ่งของการจัดการ เนื่องจากมันเป็นสิ่งใหม่ในเรื่องของตลาดเมืองไทย เราเรียนรู้จากการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ การศึกษา trend ในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเราต้องมาเรียนรู้เอง จากการผิดถูก สำเร็จล้มเหลวในบางเคส ซึ่งตรงนี้จะทำให้เป็นส่วนผสมของเราที่เอามาผสมกัน เราไม่ได้มีบทเรียนจากผู้ประกอบการแบบนี้เลยในระยะต้น เราใช้วิธีลงไปสัมผัสกับผู้บริโภค สัมผัสกับตลาดตรงนี้มานาน มันเลยทำให้เราหยั่งรู้ได้ หรืออาจจะเรียกว่าซิกเซ้นต์ แล้วเรามองกลับมาที่โจทย์ว่าแล้วสิ่งที่เราจะทำต่อมันคืออะไร trend ของโลกกำลังจะไปทางไหน เราเลือกเราเทรนด์มาลงยังไง กับที่บ้านเรามี”

“เรามองในเรื่องการบริหารพอร์ต โดยใช้ทาร์เกตกรุ๊ป หรือเซ็กเมนต์มาแบ่งมากกว่า…”

ภาพการเปลี่ยนผ่านในระยะเพียงเวลา 7 ปีในธุรกิจเกมของเขา สะท้อนการใช้ชีวิตที่เริ่มเปลี่ยนไปเป็นขั้นเป็นตอนของสังคม “พอได้ทำสัก 3-4 ปี ก็เริ่มประสบความสำเร็จ ช่วง 2 ปีแรกเราสร้างทีมและวางรากฐานเพื่อให้ตลาดเกิดการจดจำ เข้าใจ และเรียนรู้มัน แม้แต่หลายๆ คนยังไม่รู้ว่าเฮ้ยมันมีของแท้ขายนะ พอปีที่ 3-4 ก็จะเป็นช่วงของการโตจริงๆ เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องของตัวตลาด ลูกค้าคุ้นเคยขึ้น และเป็นยุคที่การเล่นเกมแบบ LAN พอดี ทำให้มีร้านเน็ตมากขึ้น ปีที่ 5-6 ก็มาเป็นเรื่องของการออนไลน์ เราก็ตั้งบริษัทที่สอง คือเอเชียซอฟท์ เพราะมองว่ามันกำลังจะมา การโตของเรามันจะกลายเป็นสามสเต็ป (ไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค)”

ปีนี้ ?

“ผมว่าอันดับแรกที่ผมเห็นชัดๆ เลย เรื่องอินเทอร์เน็ตเอง การใช้ออนไลน์ก็จะเปลี่ยนมาก ในปีนี้เองการใช้บรอดแบนด์ 6 เดือนหลังก็เริ่มขยับขยายเข้าสู่ครัวเรือนกันจริงจัง พอตรงนี้เข้าไปถึงเนี้ยต้องยอมรับว่ามีหลายอย่างที่ทำให้เปลี่ยนไป เพียงแต่ว่าสุดท้ายมีอะไรที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นฟีเวอร์เลยหรือเปล่าก็ต้องลองดูกัน วันนี้คุณอาจจะเห็นคนถือโน้ตบุ๊กนั่งอยู่ในสตาร์บัคส์มากขึ้น เห็นคนใช้พีดีเอที่เป็นไวเลส จีพีอาร์เอส มากขึ้น”

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ วันนี้เทคโนโลยีกำลังจะเป็นตัวขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราอย่างรวดเร็ว แม้ว่าบางคนอาจจะยังไม่ทันมีสติ หรือเวลาคิดว่าเราต้องการหรือไม่ต้องการมันอย่างไร แค่ไหนก็ตาม…