Ice Cream Designer : New Creative Design, New Cool Job

รู้หรือไม่ว่า ไอศกรีมในยุคโรมัน เป็นไอศกรีมที่ทำมาจากหิมะ ผสมด้วยน้ำผลไม้และน้ำผึ้ง ไอศกรีมเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะช่วงที่ไอศกรีมเข้าไปในอเมริกาใหม่ๆ George Washington ยังยอมจ่ายเงินเกือบ 200 ดอลลาร์ให้กับ Thomas Jefferson เพียงเพื่อขอสูตรไอศกรีมรสวานิลลา

ไอศกรีมไม่ได้ให้แค่รสชาติเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดอาชีพใหม่ขึ้นในสังคม ในยุคสินค้าและบริการเวลานี้ จำเป็นต้องมุ่งตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต สร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นในสังคม กลายเป็นโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ที่มักชื่นชอบความแตกต่าง สร้างทางเลือกใหม่ๆ มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างไอศกรีม นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พริมา จักรพันธุ์ ณ อยุธยา เกิดไอเดียใหม่ขึ้น และทำให้ POSITIONING ได้รู้จักกับอาชีพใหม่อย่าง Ice Cream Designer

“ปิ๊งไอเดียขึ้นมาตอนที่เพิ่งจบใหม่ ตอนนี้เวลาอยากเปิดร้าน เขาอยากได้ของหวานอย่างไอศกรีม แต่ร้านไอศกรีมส่วนใหญ่ก็จะมีแต่รสชาติเหมือนๆ กันหมด เราก็เลยคิดว่าทำไมเราไม่ออกแบบรสชาติไอศกรีมเฉพาะสำหรับร้านของเขาไปเลย เป็น unique เป็นจุดขายของร้านด้วย มันเป็นวิธีคิดที่เราดัดแปลงมาจากที่เรียนมา”

พริมา หรือติ๊บ จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ด้าน ID (ออกแบบอุตสาหกรรม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอออกแบบสินค้าหรือของมาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ ป้ายต่างๆ ของโรงแรม และเครื่องเขียน ซึ่งเธอได้ออกแบบให้กับทางร้าน Mola Stationary ที่สยาม เป็นคอลเลกชั่น Changeable Color สามารถเปลี่ยนสีสันได้ตามคอนเซ็ปต์ จนกระทั่งมาถึงสิ่งที่เธอชอบมาก นั่นก็คือ ไอศกรีม

“คุณพ่อจะชอบกินไอศกรีมมาก แต่สมัยก่อนรสชาติมันมีให้เลือกน้อย อีกอย่างมันไม่เต็มที่ มันไม่เข้มข้น ก็เลยทำกินเองที่บ้านเล่นๆ ดีกว่า พอเรียนจบก็เกิดไอเดียขึ้นมา เลยไปลงเรียนเกี่ยวกับไอศกรีม คอร์สจะเรียนเกี่ยวกับ Creamery Science ลงไปทาง Technical Term มากขึ้น”

โชคก็เข้าข้างเธอ เมื่อติดอยู่ 1 ใน 21 Young Designer งาน Big ปี 2546 ทำให้เธอมีโอกาสออกมาโชว์ผลงาน รวมทั้งโชว์ไอศกรีมที่เธอคิดค้นสูตรเองด้วย ทำให้มีคนรู้จักตัวเธอมากขึ้น และรู้จักกับคำว่า Ice Cream Designer และจากจุดเล็กนี้ทำให้คนสนใจ ไม่ใช่เฉพาะคนไทย มีคนญี่ปุ่น รวมทั้งร้านต่างๆ ติดต่อเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งร้านเฟอร์นิเจอร์

“มีอยู่ร้านหนึ่งตอนนี้กำลังคุยกันอยู่ เป็นร้านที่นำเข้าของตกแต่งบ้าน ร้านจะเป็นสีขาว ของในร้านก็จะเป็นสีๆ ก็เลยอยากได้ไอศกรีมสีๆ เล่นสีอย่างเดียวไม่สนุก เลยใช้คอนเซ็ปต์ Color Blind คือ ไอศกรีมอาจจะเป็นสีเขียว แต่กินเข้าไปเป็นรสสตรอเบอรี่ กินไปก็งงๆ”

เมื่อตลาดตอบรับด้วยดี เธอจึงตัดสินใจจัดตั้งบริษัท Icedea : Idea in Ice Cream ลงขันร่วมกับครอบครัว รับออกแบบรสชาติไอศกรีมตามความต้องการ จานชามที่จะใช้ใส่ไอศกรีม รวมไปถึงการออกแบบร้าน ขึ้นอยู่ความต้องการของลูกค้า บริษัทรับจัดกิจกรรม event ก็เป็นอีก 1 ในลูกค้าหลักที่มาใช้บริการของเธอ

ไอศกรีมก็จะเป็นไปตาม theme ของงาน เช่น งานเปิดตัวเครื่องสำอางของ Sisley ซึ่งมีส่วนผสมของมะพร้าว ดอกทางตะวัน และข้าวโพด ออกมาเป็นไอศกรีมในแก้วช็อตที่ข้างล่างเป็นข้าวโพด ชั้นต่อมาเป็นไอศกรีมมะพร้าว ส่วนบนสุดเป็นไอศกรีมดอกทานตะวัน เรียกได้ว่า ถ้าไม่ได้กินที่งานนี้ ก็อด เพราะหากินที่อื่นไม่ได้

หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า ไอศกรีมแบบนี้คงจะมีราคาสูง แต่ติ๊บบอกกับทาง POSITIONING ว่า เวลาทำก็เหมือนกับตอนทำที่บ้าน คือเต็มที่สุดๆ ราคาจึงสูงบ้าง แต่ใช่ว่าจะเกินกำลังความสามารถ บ้านของเธอจะมีเครื่องทำไอศกรีม 2 เครื่อง เครื่องเล็กไว้ทดลองสูตร ส่วนเครื่องใหญ่เอาไว้ผลิตเป็นกิโลๆ คิดเป็นกิโลละ 280 บาท (รสชาติธรรมดา) 330 บาทต่อกิโล สำหรับรสชาติที่คิดขึ้นใหม่ สั่งอย่างต่ำ 5 กิโล ซึ่งจะคิดตามวัตถุดิบที่ใช้ เกิดคุณสั่งไอศกรีมไวน์แดงอย่างดี อันนี้ก็คงต้องแพงหน่อย

“ติ๊บชอบออกแบบทุกอย่างนะ ขอให้มันมี concept มีลูกเล่นนิดนึง ชอบหมดทุกอย่าง เพราะแต่ละอย่างมันมีความสนุกของมันอยู่แล้ว ไม่เหมือนกัน ขอให้สนุกเข้าไว้ ในอนาคตอาจจะมีอะไรเพี้ยนๆ ไปอีก ขอให้ได้คิดอะไร บ้าๆ บอๆ ก็จะชอบ”

งาน BIG ที่ผ่านมา ที่ซุ้มของ Redbox Caf? มีตู้ไอศกรีมตู้หนึ่งตั้งอยู่ พร้อมไอศกรีมหลายรสชาติที่เธอคิดค้นขึ้นตามคอนเซ็ปต์ Redbox เลยมีทั้งไอศกรีม Redbull, Red Punch แต่ที่ติดใจมาก (แอบถามสูตรก็ไม่ยอมบอก) ก็คือ Red Marlboro ไอศกรีมรสบุหรี่ ทำได้อย่างไรไม่รู้ แต่ขอบอกว่ารสชาติเหมือนบุหรี่มากๆ

ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้เอง ทำให้เธอได้รับเลือกจากทาง Fabrica ซึ่งเป็น Research Center ของ Benetton ให้เข้าไปฝึกงานที่ประเทศอิตาลี โดยที่เขาจะรับคนรุ่นใหม่ไฟแรง อายุไม่เกิน 25 ปี จากหลายๆ สาขา เช่น magazine, design หรือ music มาแชร์ไอเดียกัน และถ้าผลงานโดนใจก็จะได้เซ็นสัญญา 1 ปี

“กลับมา ในอนาคตก็อยากเปิดร้านในลักษณะที่ว่า เรามี product อะไรที่เราทำได้บ้าง มีความสามารถในการทำไอศกรีมแบบไหนได้บ้าง ลูกค้าสามารถมาดูว่ามีตัวอย่างแบบนี้แบบนั้น เหมือนกับเป็นโชว์รูม”

เดี๋ยวอีก 1 ปีข้างหน้า เราอาจจะได้เห็นโชว์รูมไอศกรีมแห่งแรกของประเทศไทยก็ได้ ใครจะไปรู้