ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ สลัดคราบปังปอนด์ สู่มนุษย์เหล็กไหล

แน่นอนว่าหลายคนคงรู้จักปังปอนด์แล้ว และบางคนคงเคยเห็นคอมพิวเตอร์กราฟิกในโฆษณาของสินค้าเหล่านี้ด้วย อาทิ 1-2-call ชุด “กบในกะลา”, Title GMM, ขนม ซิลิโกะ ฯลฯ ซึ่งพวกนี้เป็นการ์ตูน 2 มิติ ส่วนการ์ตูนโฆษณา 3 มิติ ก็เช่น comfort 4×4 (ชุดครอบครัวผ้า), จักรยานเทอร์โบ, เต่าทอง, ขนม มาติเน่ซูซู, ผลิตภัณฑ์ จอห์นสัน คิดส์ รวมทั้ง Title รายการ “สู้เพื่อแม่” และ “ชิงช้าสวรรค์” ของ WORK POINT ENTERTAINMENT

ผลงานเหล่านี้เป็นฝีมือของ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ ที่นับเป็นนักแอนิเมชั่นรุ่นแรกๆ ของไทย “ถ้าใน 3D ผมน่าจะเป็นรุ่นแรกเลย” นั่นเพราะ “ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น” เป็นการ์ตูน 3 มิติ เรื่องแรกของประเทศไทยนั่นเอง

หลังจากร่วมงานกับวิธิตามาตั้งแต่กลับจากอเมริกาเมื่อปี 2544 ณ วันนี้พรชัยเลือกที่จะขีดเส้นทางใหม่ให้ตัวเอง ในนาม “บ้านอิทธิฤทธิ์” เพื่อรับทำคอมพิวเตอร์กราฟิก(ซีจี) ที่กินความหมายมากกว่าการ์ตูน

“ผมเรียนทางด้านฟิล์มมา เอกแอนิเมชั่นกับด้านฟิล์ม แล้วไปได้รับรางวัลแอนิเมชั่นเป็นตัวนำ เป็นการ์ตูน พอกลับมาไทย เป็นจังหวะที่แอนิเมชั่นกำลังบูมพอดี ประมาณ 4 ปีที่แล้ว มาช่วยตั้งแอนิเมชั่นที่วิธิตา จนปังปอนด์ประสบความสำเร็จในแอนิเมชั่นการ์ตูน”

…หรือจิตวิญญาณภายในของปังปอนด์ กำลังกลายร่างเป็นซูเปอร์ฮีโร่ในภาพลักษณ์ใหม่แล้ว…

สาเหตุการตัดสินใจในครั้งนี้ ชัยพรบอกว่า “เพราะทำการ์ตูนมา 4 ปีแล้ว ผมรู้สึกว่าจริงๆ ข้างในมันอยากจะทำมากกว่านี้ ยังสนุกอยู่ เพียงแต่ต้องการความหลากหลาย ตอนนี้ลูกค้าต้องการการ์ตูนจากสไตล์ผม แต่เราทำมากกว่านั้นได้ เราก็เลยต้องพิสูจน์ เพื่อบอกเขาว่าผมออกแบบมากกว่านี้ได้”

ถึงวันนี้เขาพยายามฉีกหนีการ์ตูน ด้วยการไปรับงานทำสตอรี่บอร์ดเคลื่อนที่ได้ (Animatic) สำหรับโปรดักชั่นหนังใหญ่ ที่ต้องใช้ซีจีแสดงมุมกล้องก่อนถ่ายทำจริง โดยเฉพาะฉากที่ถ่ายทำยากๆ และจะเปลี่ยนแนวมาทำหนังคนจริงด้วย

“ที่ออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง เพราะต้องการเหมือน PDI ของดรีมเวิร์ค ที่ทำเรื่องเชร็ค เป็นการ์ตูนแต่เหมือนจริงด้วย ในบริษัทนั้นทำการ์ตูน และทำหนังอย่างแบทแมน ผมไม่อยากจะติดภาพเป็นพิกซาร์อย่างเดียว ซึ่งพิกซาร์คนจะพูดว่าเป็นอันดับหนึ่งของการ์ตูน แต่ไม่สามารถจะหลีกไปอย่างอื่นได้ แต่จริงๆ ศักยภาพผมรู้สึกว่าผมมากกว่านั้นได้ ก็เลยอยากจะผันตัวมาเป็นซีจีแอนิเมชั่น ที่มีการ์ตูนด้วย โดยเราจะสเปเชี่ยลด้านการ์ตูน ใครมาจ้างเราก็ไม่ได้จำกัดแค่สไตล์ปังปอนด์ เราทำเรียลลิสติกได้ ผมต้องการพิสูจน์ว่า ผมไม่ใช่แนวการ์ตูนอย่างเดียว ผมทำได้มากกว่านั้น การ์ตูนมันเป็นส่วนหนึ่ง”

ในเมืองไทยคนที่ทำซีจี ส่วนใหญ่เป็นอินเฮาส์ของค่ายหนัง เช่น ทีมปักษาวายุ สำหรับเรื่องมนุษย์เหล็กไหลของค่ายสหมงคลฟิล์ม ผู้กำกับคือ บัณฑิต ทองดี ส่วนชัยพรเข้าไปรับหน้าที่เป็นซูเปอร์ไวเซอร์ส่วนของแอนิเมชั่น-ซีจี “ที่เขามาจ้างผมออกแบบมนุษย์เหล็กไหล ก็เพราะไม่มีฮีโร่ไทยเลย เห็นว่ามันควรจะมีบ้างเท่านั้นเอง เราก็เลยลองทำให้เป็นฮีโร่ของวงการแอนิเมชั่นไทย หลังจากออกแบบคาแร็กเตอร์เหล็กไหล ก็เริ่มมีผู้กำกับหนังไทยให้ออกแบบคาแร็กเตอร์ ทำซีจีเหมือนจริงหลายงานมากขึ้น ความต้องการของตลาดที่อยากได้ซีจีเหมือนจริง มีความต้องการอยู่แล้ว ทั้งแบบเรียลลิสติกและการ์ตูน มันคือซูเปอร์ฮีโร่ ซึ่งผมจะมารองรับตรงนี้ เอาความเป็นการ์ตูนกับความเป็นคนจริง ที่เป็นแอ็กชั่นเว่อร์ๆ มาอยู่ในหนัง”

ซึ่งโปรเจกต์มนุษย์เหล็กไหลนี้ ชัยพรบอกว่า มนุษย์เหล็กไหลจะเป็นหนังแอนิเมชั่นไทยเรื่องแรกที่เป็นซูเปอร์ฮีโร่ และผสมผสานศิลปะไทยเข้าไปด้วย เขาจะทำให้เป็นฮีโร่ไทยตัวใหม่ ที่เป็นเรียลลิสติกแอนิเมชั่นสำหรับภาพยนตร์

“ซีจีของเมืองไทย ยังขาดความเป็นแอนิเมชั่นที่เคลื่อนไหว สเปเชี่ยลเอฟเฟกต์นั้น ซีจีเมืองไทยทำได้ดีอยู่แล้ว เช่นระเบิด แต่ความเคลื่อนไหว ซีจียังเข้าไปช่วยได้อีกมาก ทำให้การเคลื่อนไหวมันเหนือจริงมากขึ้น แม้ซูเปอร์ฮีโร่จะเคลื่อนไหวมากกว่าคนปกติได้ ขณะเดียวกันยังต้องการความเหมือนจริง” ชัยพรพูดพร้อมเปิดไฟล์งานที่เขาทำให้เราดู ตัวละครที่เดินอยู่บนจอ แทบจะเดินออกมาได้ทีเดียว
เมื่อถามถึงแผนอนาคต ชัยพรเกริ่นแต่เพียงว่า อาจจะมีหนังของตัวเองประมาณปีหน้า ขณะนี้กำลังคุยกันเรื่องบทอยู่ ตัวเขาจะเป็นผู้กำกับร่วม “เท่าที่คุยกันคือบทดีมากๆ เรารู้สึกว่าทุกอย่างสำคัญต้องบทดี จะเป็นแอนิเมชั่นล้วนๆ ใช้ซีจีช่วยลดต้นทุนการสร้างด้วย อย่างก้านกล้วยโปรเจกต์ร้อยล้าน ผมจะไม่ทำให้งบสูงขนาดนั้น”

และนอกจากทำบริษัทของตัวเองแล้ว ชัยพรยังรับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งด้วย “ตอนนี้มีบรรยายที่ ม.รังสิต ศรีปทุม ศิลปากร และ ม.กรุงเทพ ก็ติดต่อมา ส่วนใหญ่ถูกเชิญให้ไปบรรยาย เอาประสบการณ์ไปเล่าให้นักศึกษาฟัง บางแห่งก็ให้ช่วยร่างหลักสูตรด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ว่าต้องการคนที่มีความรู้อะไร ทำอะไรได้บ้าง ส่วนที่รังสิตเค้าให้ไปเป็นอาจารย์ช่วยตรวจธีสิส หลายที่อยากจะให้เป็นอาจารย์ประจำ บางที่ก็จะให้เป็นหัวหน้าภาควิชาใหม่เลย ก็กำลังคิดอยู่ แต่ก็ยังไม่ค่อยสะดวกที่จะไปประจำที่ไหน”

ซึ่งก็ไม่แน่ว่า อีกไม่นานเราอาจจะได้เห็นอีกบทบาทหนึ่งของชัยพร ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันแอนิเมชั่นที่ใดที่หนึ่งก็เป็นได้…ยังต้องติดตามกันต่อไป

Profile
Name: ชัยพร พานิชรุทติวงศ์
Education :
ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์
ปริญญาโท MFA in Visual Design & Animation (เกียรตินิยมอันดับ1), University of Oregon
Career Highlights:
ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และแอนิเมชั่น บริษัท บ้านอิทธิฤทธิ์ จำกัด
2001 – 2004
– ผู้อำนวยการ ฝ่ายสร้างสรรค์และแอนิเมชั่น บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด
– อาจารย์พิเศษ วิชา Animation & Character Design หลักสูตรปริญญาตรีและโท มหาวิทยาลัยศิลปากร
– วิทยากรรับเชิญ ผู้เชี่ยวชาญด้านแอนิเมชั่น
1998-2000 กำกับ & Lead Animator, Periscope Pictures, New York, USA
1995-1997 Designer & Artist Dynamix (Part of Sierra Game)
ผลงานในต่างประเทศ
–First prize : Siggraph 1998 การประกวดผลงานแอนิเมชั่น ประเภทนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก
–First prize : World Animation Festival 2000
–First prize : World Animation Celebration Festival 2001 (Flash Animation “ 3000 Miles to the Graceland “, Warner Bros.)