สุเทพ ตันติรุจ แปลงแบบเรียน เป็นภาพเคลื่อนไหว

“นิทานเวตาล” หนังฟิล์มแอนิเมชั่น เรื่องล่าสุดของไทย เป็นของบริษัท Anya Animation ที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งแสดงฝีมือการทำหนังยาวของคนไทยในยุคปัจจุบันให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวต่างชาติ และคนไทยด้วยกัน โดยมี สุเทพ ตันติรุจ รับหน้าที่ผู้กำกับ

สุเทพเริ่มการทำงานด้านแอนิเมชั่นจากการทำการ์ตูนขนาดสั้น ความยาว 30 วินาที -1 นาที ไม่มีบทพูด ส่วนใหญ่เป็นมุก เหมือนการ์ตูน 3 ช่องจบ แต่ทำให้มันเคลื่อนไหว ทำให้เป็นแอนิเมชั่นขนาดสั้น ที่นำไปฉายคั่นโฆษณาหลังข่าวโทรทัศน์ ซึ่งเขาได้ลองทำอยู่อย่างนี้มาเกือบปี จนแน่ใจในศักยภาพของทีมงานตัวเองว่ามีความสามารถมากพอที่จะทำการ์ตูนซีรี่ส์และหนังใหญ่ได้

“ตอนที่ทำการ์ตูนขนาดสั้นได้ 10 ตอน ก็เห็นพัฒนาการของตัวโมเดล ฉาก และการ acting จึงมั่นใจว่าสามารถทำหนังได้ พอมี skill ในการทำงานก็เริ่มมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น เห็นอะไรบางอย่างที่คิดว่าสามารถทำได้มากกว่าเดิม แต่ก็มีความเสี่ยงที่ว่างานแบบการ์ตูนขนาดสั้นจะไม่มีบทพูด มีแต่ movement ซึ่งการทำเรื่องนิทานเวตาลจะต้องมีบทภาพยนตร์ เป็นงานที่มีความละเอียดมากขึ้น มีขั้นตอนการทำงานมากขึ้น”

การที่เลือกเรื่องนิทานเวตาลขึ้นมาทำเป็นหนังใหญ่ด้านแอนิเมชั่นเป็นเพราะความชอบส่วนตัว บวกกับ นิทานเวตาลเป็นเรื่องในแนวแฟนตาซี ทำให้แต่งเติมได้ เปิดช่องให้เราใส่ความคิดบางอย่าง ฉาก ตัวละคร เข้าไปได้ และนิทานเวตาลยังเป็นเรื่องที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในแบบเรียนภาษาไทย จึงเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้นที่จะทำเรื่องที่คนรู้จักกันอยู่แล้ว ให้มีสีสัน มีชีวิตขึ้นมา

“คนส่วนใหญ่จะคิดว่านิทานเวตาลเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ในมุมมองของเราไม่ได้มองแบบนั้น โดยเราจะทำให้เป็นหนังในแนวแฟนตาซี ลึกลับ เพื่อให้มีความสนุก อยากติดตาม โดยแนวคิดหลักจะอยู่ที่การเล่าเรื่อง ซึ่งการนำเสนอความเป็นไทยในหนังเรื่องนี้ จึงไม่ได้จงใจที่จะนำเสนอออกมาอย่างเด่นชัด เพราะที่มาของเรื่องเป็นของแขก จึงพยายามทำให้มันกลมกล่อม ไม่อยากให้มันออกมาเป็นหนังที่โชว์ความเป็นไทย วัฒนธรรมไทยมากนัก”

นอกจากเรื่องนิทานเวตาล สุเทพยังมีแผนการทำการ์ตูนซีรี่ส์ ที่เนื้อเรื่องจะเป็นในแนวของอนาคต ในแบบหนัง Sci-Fi ซึ่งเขาเชื่อว่าน่าจะมีอะไรที่แตกต่างไปจากการ์ตูนของรายอื่น

ความสนใจในงานแอนิเมชั่นของสุเทพเริ่มมาจากการชอบการ์ตูนตั้งแต่เด็ก และมีความสนใจด้านการทำหนัง เขาจึงตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการทำหนังเพิ่มเติมที่ UCAL

“ที่ไปเรียนต่อก็เพราะว่าไม่มีความรู้ด้านหนังเลย มันเหมือนเราเป็นคนดูมาทั้งชีวิต ตั้งแต่จำความได้ แต่เราไม่เคยรู้ process ในการทำงานของมันเลย แต่ก็มีความสนใจด้านนี้ ก็เลยคิดว่าไปเรียนมันน่าจะได้อะไรที่มากกว่า แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะการทำหนังเป็นอะไรที่ต้องลงมือทำเอง ลงไปลุยงาน เรียนรู้งานเลยจะได้ประโยชน์มากกว่า แต่การไปเรียนก็ทำให้ได้เปิดหูเปิดตามากขึ้น พอเรียนจบกลับมาก็มาของานผู้กำกับหนังไทยทำ เริ่มทำจากหนังฟิล์มก่อน ส่วนงาน 3D แอนิเมชั่นก็ทำไปพร้อมๆ กัน เพราะมีความชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญงานด้านนี้มาก จึงต้องมองหาคนที่จะมาช่วยกันทำงานให้เป็นทีม”

“คนที่จะมาทำอาชีพนี้ต้องใจรัก งานแอนิเมชั่นเป็นงานหนัก ยิ่งงานที่ต้องทำ process นานๆ ถ้าคนทำไม่มีใจก็ยิ่งรู้สึกว่าเหนื่อย ขนาดคนทำมีใจรักยังต้องคอยชาร์จแบตกันเป็นระยะๆ แต่คนจะทำงานด้านนี้ sense ทางด้านศิลปะก็ต้องมีด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ฝึกกันยาก ไม่ใช่จับมาฝึกแล้วจะใช้ได้ทั้งหมด ซึ่งคนที่ไม่มี sense ทางด้านนี้เลยงานที่ทำก็จะออกมาไม่ดี”

นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Anya Animation กลายเป็นบริษัทที่มีจุดแข็งในด้านการทำหนัง เพราะเคยสัมผัสการทำหนังมาก่อน จึงทำให้รู้ว่าบทควรเป็นอย่างไร เพราะแอนิเมชั่นเป็นงานที่ต้องใช้เวลาการทำนาน ถ้าเรื่องไม่ดีตั้งแต่ต้น ก็จะทำให้รู้สึกว่าเสียดายงานที่ได้ทำลงไปได้ และทีมงานของ Anya ยังมีความลงตัวในด้านของบุคลากรที่มีความเหมาะสมในแต่ละหน้าที่ของตัวเอง จึงยิ่งช่วยส่งเสริมการทำงานให้ขับเคลื่อนไปได้

สำหรับสุเทพแล้ว เขาไม่ได้มีความถนัดในการทำแอนิเมชั่นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถนัดในการดูภาพรวม จึงมารับหน้าที่เป็นผู้กำกับ คอยควบคุมทิศทางให้ไปในเรื่องเดียวกัน ซึ่งเขามองว่าคนเป็นผู้กำกับ ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง เพราะทุกคนก็ทำงานในส่วนที่รับผิดชอบเก่งกันอยู่แล้ว เขาเพียงแต่บอกให้ทีมงานรู้เท่านั้นว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร character ของตัวละครในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ปรับให้ตรงกับทิศทางที่จะไป แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดใจกว้าง รับความคิดเห็นจากทีมงานไม่ใช่ไปขีดเส้นให้เขา เพราะงานในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องของการควบคุม และการทำงานที่ใช้ระยะเวลาการทำยาวนาน ยิ่งจะต้องคอยเตือนสติตัวเอง ว่าทำอะไรอยู่ เพื่อไม่ให้ทิศทางที่จะต้องการจะไปเขว จนสุดท้ายไม่เจอปลายทาง

สุเทพ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ธุรกิจแอนิเมชั่นในเมืองไทย ณ วันนี้ ทุกรายพยายามผลักดันผลงานของตัวเองออกมา ซึ่งธุรกิจในแบบที่รับงานจากต่างประเทศ มีทิศทางที่ไปเป็นไปได้สูง มีอัตราการเติบโตเร็ว แต่ถ้าเป็นงานที่ต้อง create เองยังต้องการความช่วยเหลือ อยู่ในภาวะที่ต้องประคับประคองกันจากหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาล คนลงทุน คนให้ความรู้ เทคโนโลยี ผู้ชม และที่สำคัญคือตัวคนทำที่ต้องพยายามสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาดี ไม่ใช่ทำลวกๆ เพื่อเงิน ซึ่งจะทำให้ภาพของเมืองไทยเสียไป ซึ่งอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นของไทย ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องรอลุ้น รอดูกันต่อไป เพราะนี่เป็นเพียงปีที่ 2 ของเมืองไทยที่มี SIPA

Profile

Name : สุเทพ ตันนิรัตน์
Born : 16 ส.ค. 2509
Education :
ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง
Career Highlights:
ผลงานทางคอมพิวเตอร์
1986 ออกแบบและพัฒนาระบบภาษาไทยสำหรับ Apple II – ไทนับสี่
1992 Project Leader – Microsoft Windows 3.0 Thai Edition
1993 Project Leader – Microsoft Windows 3.1 Thai Edition
1996 Project Leader – Microsoft Windows 95 Thai Edition
ผลงานทางภาพยนตร์
1995 เขียนบทและกำกับภาพยนตร์ – รักแท้บทที่ 1
2000 ก่อตั้งบริษัท อัญญา แอนิเมชั่น จำกัด
2001 Script Advisor – บางระจัน และเริ่มงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง อภินิหารนิทานเวตาล
2003 เขียนบทและกำกับภาพยนตร์ – องคุลีมาลย์
2005 เขียนบทและกำกับภาพยนตร์ – อภินิหารนิทานเวตาล
Family :
สถานะ โสด