รวมกันเราอยู่ : 19 Feb club (The New Rule for Data Management)

ครบปีพอดีกับ 19 Feb club by CHIVAS กับการรวมตัวของ 6 ผับแอนด์เรสตัวรองต์ ที่สร้างสีสันยามราตรีให้กับกรุงเทพฯ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของคนทำธุรกิจกลางคืน สถานประกอบการประเภทผับแอนด์เรสตัวรองสต์ได้เกิดขึ้นและมีอยู่มากมายเต็มท้องตลาด ทางประจักรพร จินดาโชติ เจ้าของร้าน Gimmick ประธานกลุ่ม 19 Feb เห็นว่าร้านเหล่านี้ในกรุงเทพฯ มีมากถึง 2 พันกว่าแห่ง และกำลังแข่งขันกันเพื่อดำเนินธุรกิจกันอย่างเข้มข้น

การรวมตัวกันของ 6 ผับดังอย่าง Bar Bu Ree, De’ Bar, Gimmick, Ha Lo สาระพา, Yes in deed, Zan Zi Bar ที่มี Chivas Regal เป็นสปอนเซอร์หลักให้กับกลุ่มร้านค้า เป็นการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเพื่อสร้างช่องทางของการโฆษณา เช่น พื้นที่โฆษณาในห้องน้ำ ก็เป็นส่วนที่ทำกันมากในผับตอนนี้

“แนวความคิดเราคล้ายๆ กัน มันถึงง่ายในการรวมตัว ก่อนที่เราจะรวมตัวกันเราก็รักกันแบบพี่แบบน้องกันอยู่แล้ว แต่โมเดลในโลกใหม่ ธุรกิจมันต้องมีพันธมิตร มีการแชร์ความรู้ แชร์ข้อมูล ในการแข่งขันที่สูงเราจำเป็นต้องรวมตัว ไม่ได้รวมตัวเพื่อต่อรองกับใคร เพื่อต่อให้วงจรอายุของการบันเทิงมันยาวขึ้น และทำให้มันกลายเป็นอุตสาหกรรมให้ได้” ประจักรพรกล่าว

การรวมตัวกันของ 19 Feb ไม่ใช่แค่การรวมตัวกันเฉพาะกิจ แต่เป็นการรวมตัวกันเพื่อจัดการ สร้าง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่มากจากลูกค้า แต่ไม่ได้ทำเป็นเรื่องราว ให้ใช้ประโยชน์ได้จริงกับธุรกิจ

“ในปีที่ผ่านมา เราทำงานค่อนข้างเป็นระบบ มีการรีเสิร์ช การวิเคราะห์ข้อมูล การทำฐานข้อมูลร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีเว็บไซต์ มีการลิงค์ลูกค้าซึ่งกันและกัน มีระบบการจองโต๊ะ ซึ่งปีที่ผ่านมาทั้งปีค่อนข้างจะเป็นการวางพื้นฐาน ปีนี้ทั้งปีถ้าเรามั่นใจแล้วเราก็เริ่มออกสู่ระบบการตลาด เช่น Member Card ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ลูกค้าที่เข้ามาเที่ยวทุกร้าน หรือจะมีสิทธิประโยชน์ที่ร่วมกันสำหรับแต่ละร้าน”

“สิ่งที่เราคิดกันมาตั้งแต่เริ่มเลยว่าจะทำให้อย่างไรให้ระบบข้อมูลที่มีของเรา กับข้อมูลความต้องการของลูกค้า มันจับกันได้ แล้วสร้างให้เป็น event หรือกระแสอะไรต่างๆ ซึ่งจะทำได้ในอนาคต ตอนนี้เราต้องจำเป็นต้องจ้างบริษัทรีเสิร์ช 2-3 ราย ให้ลงมาทำงานร่วมกับเรา อันนี้เป็นต้นทุนแฝงที่ค่อนข้างจะเยอะอยู่มากกับการจัดการข้อมูลเหล่านี้” ประจักรพรกล่าว

ความพยายามทั้งหมดใช้ระบบจัดการข้อมูลเพื่อสร้างแคมเปญทางการร่วมกัน โดยเสริมกลยุทธ์ผ่านช่องทางที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากจำนวนร้าน รวมถึงการลงทุนอุปกรณ์หนักที่ต้องใช้เป็นบางครั้ง โดยสามารถแบ่งเป็นต้นทุนร่วม ที่ไม่ต้องรับภาระมากนัก เช่นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับงาน event ซึ่งประจักรพรเห็นว่าจำเป็นต้องมี เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับร้าน

“แต่เราไม่ได้แค่ต้องการคนมาแชร์ค่าโฆษณาหรือค่าต้นทุนร่วมกัน ตอนนี้มีคนขอเข้ามารวมกลุ่มเยอะมาก แต่ เราต้องดูวิสัยทัศน์ด้วย โดยเฉพาะเรื่องระบบงานที่ต้องเป็นระบบ เพื่อที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เป็นกลายอุตสาหกรรมได้ ถ้ามาตรฐานไม่ใกล้เคียงกัน ก็รวมกันลำบาก”

“สิ่งที่เขาจะได้เมื่อมารวมกับเราก็คือข้อมูลมหาศาล เราไม่ได้เน้นที่มาร์เก็ตติ้ง เน้นที่ข้อมูลลูกค้ามากกว่า เรารู้ว่าควรจะพัฒนาไปอย่างไรได้ เพราะถ้าเราอยู่เดี่ยวๆ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าอุตสาหกรรมมันเป็นอย่างไร รู้ว่าผู้บริโภคตอนนี้ต้องการอะไร การใส่เงินจัดกิจกรรมหรือสร้างอะไรอย่างถูกวิธีถูกทาง เราอยากได้เพื่อนอยู่แล้ว แต่จะรักษายังไงให้อยู่ด้วยกันยาวที่สุดมันเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องการให้มันเป็นอุตสาหกรรมจริงๆ”

“ปีนี้คำว่า 19 Feb จะจับต้องได้ เพราะระบบดาต้าคิดว่าคงที่แล้ว” และคาดว่าปีนี้จะมีเอาต์เลตเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยประมาณ 4 แห่ง

“เดี๋ยวนี้ผู้บริโภคเป็นคนที่ตัดสินใจเองได้ว่า 500 บาทเที่ยวที่ไหนเนี่ยจะคุ้มสุด”

Website

www.19th-feb-club.com