จากเด็กอายุ 14 ปี ที่มีเพียงความชื่นชอบเพลง ฮิพ-ฮอพ โจ้ หรือ โจอี้ บอย ได้แปรความชอบ นำพาตัวเอง เข้าสู่การเป็นนักร้องเพลง “แร็พเปอร์” ค่ายเบเกอรี่มิวสิค
โจอี้ บอย สร้างโอกาสครั้งใหม่ ด้วยการเข้าร่วมค่ายใหญ่อย่างแกรมมี่ ผลสำเร็จจากงาน Thai Hop ก้านคอ คลับ ทำให้เขาก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้บริหารค่ายเพลง “ก้านคอคลับ” ผลิตศิลปินคอเดียวกันออกสู่ตลาด
ส่งผลค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง “แกรมมี่” ไม่ต้องหลุดกระแสนิยมของวัยรุ่น โจอี้ บอย กลายเป็นแบรนด์ที่สามารถดึงดูดผู้คน สินค้าและบริการ
POSITIONING พบกับ โจอี้ บอย และชุมชนแร็พเปอร์อยู่ในค่ายเพลงของเขา เป็นห้องเล็กๆ ชั้น 30 บนตึกแกรมมี่ กับโซฟาสีดำ ที่เขาใช้เป็นโต๊ะทำงาน ประชุม และเขียนเพลง พร้อมกับ คำตอบ ในแง่มุมต่างๆ จาก เจ้าของฉายา เจ้าพ่อแร็พเปอร์ของไทย
“ข้อจำกัดของร็อกคือมันเป็นคนเล่นดนตรีร็อก แล้วก็จบเค่นั้น แต่ฮิพ-ฮอพเป็นสังคม ที่ไม่ใช่แค่สังคมเพลงตอนนี้มันมี activity มี element ต่าง ๆ ดีเจทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุดก็จะเป็นดีเจเพลงฮิพ-ฮอพ”
POSITIONING : ฟังฮิพ-ฮอพ ครั้งแรกอายุเท่าไร
โจอี้ บอย : ประมาณอายุ 14 – 15 ปี แต่จริงๆ มันไม่ใช่วัฒนธรรม มาจากความที่ฟังแล้วชอบ เราไม่ได้เป็นฝ่ายเลือกมันด้วยซ้ำ แต่เหมือนกับว่าเราถูกเลือก มันเข้ามาหาเราเอง we don’t choose hip-hop but hip-hop choose us คือ ฟังแล้วชอบเลย ชอบมากกว่าเพลงอัสนีย์-วสันต์ ที่เขาฟังกันอยู่ทั่วไปเวลานั้น จากนั้นมันเป็นไลฟ์สไตล์เลย กลายเป็นสังคม
POSITIONING : วันนี้ของโจอี้ บอย แตกต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างไร
โจอี้ บอย : ถ้าพูดถึงในแง่ของการทำงาน การตลาด เป็นกลุ่มที่เล็กมากๆ เล็กจนแบบว่าไม่มีใครเห็นด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเห็นสเก็ตบอร์ด หรืออะไร ต่างๆ คือเป็นกลุ่มที่เราจะต้องวิ่งออกไปหาคนที่จะให้โอกาสเรา เป็นสปอนเซอร์ hip-hopไหมครับ อยากจะเป็นนี่ไหมครับ
พอมันเริ่มบูมขึ้นมา โอกาสทุกอย่างเริ่มเข้ามาหาเรา ง่ายๆ ที่สุดคือมีคนมาเสนอเราให้เปิดค่ายเพลง hip-hop อีก 3 ปีต่อมา บริษัท ก้านคอ คลับ ก็เกิดขึ้น มาถึงจุดที่เราได้เริ่มให้โอกาสกับคนอื่นแล้ว น้องๆ ที่เป็นเหมือนเราตอนเด็กๆ ร้องเพลงแร็พ มีโอกาสที่จะเดินเข้ามาที่ก้านคอ คลับ เอางานมาเสนอ อยากเป็นดีเจใช่ไหม เรามีพี่เบ้ง-คอยดูแล เรามีคนโน้นคอยดูแล เราเป็นคลับจริงๆ เป็นก้านคอ คลับ เอาน้อง มาเทรน มีเวิร์กช้อป มีกิจกรรมหลายๆ อย่าง คือ การนำสิ่ง เล็กๆ น้อย เราทำความชอบให้มันกลายเป็นอาชีพได้ มันเหมือนกับเราให้โอกาสเขา
POSITIONING : ต้องมีการสร้าง community กันขนาดไหน
โจอี้ บอย : ความชัดเจนที่สุดก็คงจะเป็นสไตล์ของดนตรีแร็พที่ชัดเจนที่สุด ความแตกต่างอย่างอื่น จริงๆ แล้วค่ายเราค่อนข้างจะแตกต่างมาก ถ้าไม่นับเด็กฝึกงาน พนักงานในค่ายทุกคน (4 คน) เป็นนักร้องหมด ออกเทปทุกคน เป็นคนที่เอางานดนตรีมารวมตัวกันทำงาน มันไม่ใช่แค่งานดนตรี มันเป็นงานที่ไลฟ์สไตล์มากๆ อย่าง ส้ม อัมราที่เป็นเออีไปขายโฆษณา โปรโมชั่น ด้วย เขาก็ทำดนตรีเร็กเก้ ซึ่งดนตรีเร็กเก้ กับ hip-hop เป็นดนตรีที่มีความเป็นพี่น้องกัน เป็นดนตรีที่มาคู่กัน แม้กระทั่งพนักงาน admin ของเรา ก็ไปทำกับกรีน บีน ชื่อด๊อกเตอร์วาเลนไทน์ กับบีซีเอฟ เป็นการชอบดนตรีเป็นส่วนมาก
ก้านคอ คลับ เราเริ่มต้นมาจากการทำงาน hip-hop แต่ว่าเราคงไม่ทำ hip-hop อย่างเดียวในอนาคต อัลบั้มแรกที่จะออกในปีนี้เป็นเพลงสวิง ป็อป เป็นแจ๊ซ ถือว่าเป็น new talent ที่เดินเข้ามาหาเราเรื่อยๆ เพราะมีบางคนบอกว่าเขาทำแจ๊ซ แต่อยากอยู่กับก้านคอ คลับ เนื่องจากค่ายเราดูแล้วค่อนข้างฟรีสไตล์ในการทำงาน เราเป็นค่ายที่สร้าง image ให้กับแกรมมี่มากกว่า เรื่องของยอดขาย ตรงจุดนี้เองที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำงานใหม่ๆ นี่คือที่ผู้ใหญ่ในแกรมมี่เขาอยากให้เราทำ แนวเพลงก็เลยมีสีสันมากขึ้น
POSITIONING : คิดว่าตัวเองเป็นสัญลักษณ์ของ hip-hop ในเมืองไทยหรือไม่
โจอี้บอย : คงไม่คิดถึงขนาดนั้น แต่เป็นเพราะเราชอบเพลงแนวนี้ กับเพื่อนๆ แล้วโตมาหน่อยเราก็มีโอกาสได้ร้องได้แต่งเพลง จนได้ทำค่ายเพลง ได้เห็น ได้ทำสิ่งที่ชอบ การทำงานของผมมันเหมือนกับความฝันวัยเด็กอยู่ตลอดเวลา ทุกวันนี้ยังทำงานแบบนี้อยู่ ตั้งแต่เริ่มที่ชอบกับเพลง hip-hop วันแรกๆ มันเป็นไลฟ์สไตล์มากกว่า แม้กระทั่งคนรอบๆ ตัว ทีมงานคอเดียวกันเลย แต่ผมคงไม่ได้เป็นสัญลักษณ์อะไร เพราะจริงๆ ก็ยังมีศิลปิน hip-hop อยู่หลายๆ คน
POSITIONING : ที่บอกว่าเป็นไลฟ์สไตล์ ใช้ชีวิตกับมันขนาดไหน
โจอี้ บอย : แต่งตัว การทำเพลง แล้วก็ activity ต่างๆ สารพัด ตัวผมอยู่ในหมวดของเอ็มซี คือเป็นการเป็นนักร้อง rapper คือเป็นทั้งคนถ่ายทอดความคิดของคนในกลุ่มเราออกมา ที่เป็นในแนวทางเดียวกัน เราเป็น spokeman คือคนที่กระจายเสียงออกมา จับมาเขียนเรียงร้อยเป็นเพลงแล้วพูดออกมา นี่ก็เป็นหน้าที่เหมือนกับเป็นพีอาร์ เป็นประชาสัมพันธ์ ในสังคม hip-hop เอ็มซีก็จะจัดว่าเป็นประมาณนั้น
เวลาฟังเพลงก็ฟัง hip-hop คนรอบตัวก็เป็นดีเจ เพลงก็เปิดเพลง hip-hop มิวสิกวิดีโอ แฟชั่น หรือว่าทั่วไป คือในสังคมในกลุ่ม เพื่อนทุกคนส่วนมากก็จะฟังเพลงแนวเดียวกัน แม้กระทั่งคนที่ไม่เคยฟังเพลงแนวนี้ มาอยู่ด้วยกันก็จะชอบเพลงแนวเดียวกัน กลมกลืนไปเรื่อยๆ
POSITIONING : ทำให้แวดวง hip-hop ขยายตัวหรือไม่
โจอี้ บอย : ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆ ใหญ่ ขึ้นเรื่อยๆ วัดง่ายๆ สมัยก่อนในดิสโก้เธคมีเพลงแดนซ์ เพลงเทคโน แต่ปัจจุบันเพลงทั้งหมดที่เคยเป็นเพลงเต้นรำ เพลงเพื่อความสนุกสนานกลายเป็นเพลงแนว hip-hop ไปหมดแล้ว เป็นกระแสโลก
POSITIONING : แนว hip-hop เป็นของคนรุ่นใหม่ที่กำลังโตขึ้นมา แล้วมีการรวมกลุ่มคนอย่างเดียวกันมากขึ้น จะเป็นแบบเด็กแนวหรือเปล่า
โจอี้ บอย : เด็กแนว เขาจะเป็นการเรียกทาง แฟต เรดิโอมากกว่า เป็นเรื่องเด็กอินดี้ ซึ่งเขาจะเรียกของเขาเป็นเด็กแนว คงเป็นกระแสจาก แฟต เฟสติวัล
POSITIONING : hip-hop ถือเป็นเด็กแนวไหม
โจอี้ บอย : ไม่ใช่ มีมาตั้งนานแล้ว เราเรียกว่าเป็นเด็กแร็พ ชัดเจนกว่า
POSITIONING : คิดว่าตัวเองเป็นแบรนด์อย่างหนึ่ง
โจอี้ บอย : นี่คือสิ่งที่ทุกๆ คนคิดว่าเราเป็นแบรนด์ เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง สำหรับตัวเองคือเราก็รู้สึกอย่างนั้น ถามว่าเป็นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมไม่รู้ตัว แต่เชื่อว่าชัดเจนที่สุดคงจากที่เราเริ่มทำงานที่ก้านคอ คลับ เพราะตลอดเวลาเราใช้ชีวิตที่เป็น rapper มาโดยตลอด จนเมื่อเราได้ขึ้นมาทำงานในก้านคอ คลับ เราก็เริ่มรู้ตัวว่าแบรนด์ โจอี้ บอยนี่ค่อนข้างเป็นแม็กเน็ต ที่นำสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้
POSITIONING : ที่มาของค่ายก้านคอ คลับ
โจอี้ บอย : ผมเริ่มเข้ามาสังกัดแกรมมี่ด้วยการเป็นนักร้องธรรมดา เรามีการจัดกิจกรรม จัดเป็นปาร์ตี้ขึ้นมาที่เรียกว่า ไทยฮอพก้านคอ คลับ ปรากฏว่าคนสนใจ ผมไปเสนอกับผู้บริหารว่าสนใจไหม ก็ถึงเวลาที่จะมีค่ายอย่างนี้ เพราะมันมีเด็กฮิพ-ฮอพ เด็กแร็พเยอะเหลือเกิน และผมมีทีมที่น่าจะถนัดกับการทำงานแนวนี้มากที่สุด
POSITIONING : การปรับตัวจากการศิลปินนักร้องมาเป็นผู้บริหาร
โจอี้ บอย : ปรับมากๆ คนละโลกกัน คือการใช้ชีวิตเป็นศิลปินนี่คือมันมีการคิดเขียนเพลง กับเล่นคอนเสิร์ต ดูแลตัวเองให้ดีที่สุดจบแล้ว แต่พอมาเป็นผู้บริหารค่ายเพลง มันขัดแย้งกับทุกๆ อย่าง คือ ตอนสมัยที่เราเป็นนักร้องคือเราต้องดีลกับค่ายเพลงตลอดเวลา ต้องมีการทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ตลอดเวลา อยากทำในมุมของความเป็นนักร้อง
พอเราข้ามขึ้นมาถึงจุดนี้ เราได้เห็นมุมอีกมุมหนึ่ง เฮ้ย…รู้แล้วว่าทำไมเราถึงทำไม่ได้ ทำไมถึงทำมิวสิกวิดีโอแพงกว่านั้นไม่ได้ เพราะมีเรืองต้นทุน เรื่องของงบประมาณ มีขั้นตอนของการทำงาน แต่การทำงานของเรามันสนุกตรงที่เราแชร์กับศิลปิน เป็นการทำงานร่วมกัน ซึ่งศิลปินสมัยก่อนไม่ค่อยได้มีโอกาส มีหน้าที่ร้องก็ร้องไป ห้ามยุ่งในเรื่องทุกสิ่งทุกอย่าง
POSITIONING : แกรมมี่ช่วยในเรื่องการบริหารอย่างไร
โจอี้ บอย : เป็นระบบที่ต้องเรียนรู้ การทำงานช่วงแรกค่อนข้างยุ่งเหยิงมาก ถ้าถามผมจริงๆ ผมรู้สึกเลยว่าถ้าอยากทำดนตรีรักดนตรีจริงๆ อย่าเปิดค่ายเพลง มันเป็นการขัดแย้งอย่างมหาศาล อย่าไปลงทุนเปิดค่ายเพลงเอง มันจะสูญเสียความเป็นศิลปิน
ในปัจจุบันผมมีภาพของแกรมมี่ที่ช่วยผมได้มากที่สุด คือเขามีฟอร์แมตทุกๆ อย่างรองรับเราได้ เพราะถ้าให้ ผมเปิดค่ายเพลงเอง ผมจะมีข้อจำกัด ผมจะไม่ข้ามไปถึงขนาดไปปั๊มแผ่นเอง แล้วจัดจำหน่ายเอง เป็นเรื่องที่คนละเรื่อง หลายบริษัทเจ๊งมาแล้ว เพราะการข้ามมาทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ แต่เราให้โปรเฟสชั่นนัลเขาทำ แล้วเราก็ได้ทำงานอย่างมีความสุข เป็นโปรดิวเซอร์ บริหารด้าน production และเงินลงทุน เรียนรู้มาร์เก็ตติ้งกับเขาไปเรื่อยๆ
POSITIONING : อะไรที่เป็นสไตล์การบริหารงานแบบโจอี้บอย
โจอี้ บอย : ปกติแกรมมี่เขาจะส่งเทรนเนอร์ พี่อ๊อต พี่ป้อ เขาจะชำนาญเรื่องธุรกิจ แบบมีฟอร์แมต เขาก็จะบอกเราว่า เฮ้ย…อย่างนี้นะ ทำอย่างนั้น อย่างนี้ ผมก็จะทำหน้าที่ดีลกับจุดตรงกลางระหว่างทีมบริหารและศิลปิน วิธีการทำงานของผมคือ ศิลปินเราต้องมานั่งอยู่บนโต๊ะเลย ตัดสินใจเลย ปกติเขาไม่ทำกัน มีเงินก้อนนี้อยากทำอะไร ถ้ามิวสิกวิดีโอลงน้อยหน่อย เพิ่มเข้าไปในงบคอนเสิร์ต คือเราให้เขาร่วมตัดสินใจ
ผมว่ามันเป็นอะไรที่มันแฟร์มากๆ การทำงานที่ผ่านมา ผมว่าระบบเก่าๆ มันทำให้รู้สึกว่าศิลปินกับค่ายเพลงต้องไปทะเลาะกัน เข้ากันไม่ได้ แต่นี่เราทำงานคู่กัน ไม่พอใจ โอเค เราจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าเราจะโปรโมตอย่างไร แต่ถ้าคุณมีไอเดียที่ดีกว่า พูดออกมา เราอยากให้คุณเข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังจะเลือกในการดำเนินชีวิตต่อไป ผมว่ามันสนุกดี
POSITIONING : เป็นเพราะแนวเพลง hip-hop หรือเปล่าที่ต้องเปิดโอกาสให้ขนาดนี้
โจอี้ บอย : ศิลปินที่เข้ามาคุยกับเราทุกคนแต่งเพลงได้หมด ทุกคนเห็นภาพตัวเองบนเวทีคอนเสิร์ต ทุกคนรู้ว่าตัวเองจะแต่งตัวอย่างไร และทุกคนก็รู้ว่าควรจะไปทางไหน แต่ทางเราที่ให้คำตอบได้ว่า เราก็จะมีทางด้านแบบว่า experience ที่เขายังไม่เคยมี เฮ้ยอย่างนี้อย่าไปทำเลย มีมาแล้ว เราทำงานควบคู่กันไปเลย
POSITIONING : การเพิ่มมูลค่านอกจากตัวเพลงแล้ว ยังมีองค์ประกอบอะไรอีก
โจอี้ บอย : สิ่งที่ตามมาที่สำคัญที่สุด คือการให้โอกาสน้องๆ อย่างน้องคนนี้ (เขาชี้ไปที่สิงห์เหนือเสือใต้ ซึ่งเดินเข้ามาในค่ายพอดี ) มาจากเชียงราย บ้านอยู่บนภูเขา วันหนึ่งก็เดินมาหาเรา แล้วก็ติดใจในฝีมือของเขา เราก็ได้ทำงานร่วมกัน คือเราได้เปิดโอกาสให้คนได้ทำงานจริงๆ
POSITIONING : เยอะไหมคนที่มาเสนองาน
โจอี้ บอย : เยอะมากๆ มันทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ เรามีวงแร็พเยอะมากในเมืองไทยที่ไม่มีคนรู้จัก มีวงเด็กๆ ที่เป็น hip-hop ถ้าค่ายใหญ่ก็ 15 วง ค่ายเล็กใหม่ๆ หรือมีมากกว่า 40 ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ใหญ่มาก อยู่ๆ ก็มีขึ้นมา อยู่ๆ ก็เป็นที่สนใจของทุกคน ช่วงเริ่มตั้งแต่เราทำไทยฮอพ ก้านคอคลับ เป็นปาร์ตี้ คอนเสิร์ตใหญ่รวมกิจกรรมทุกอย่างเกี่ยวกับฮิพ-ฮอพ ก่อนหน้านี้ ผมไม่รู้เลยว่ามีคนชอบ hip-hop เยอะมากขนาดไหน ส่วนมากเราจะจัด hip-hop ปาร์ตี้กันเล็กๆ คนร้อยคนสองร้อยคน แต่งานวันนั้นซึ่งเราจัดที่เซ็นเตอร์พอยต์ แตกระเบิดระเบ้อ คือมันถึงเวลาแล้ว
POSITIONING : ช่วงอายุของคนชอบ hip-hop
โจอี้ บอย : อายุตั้งแต่ 13 ถึง 30 ประมาณ 30 ค่อนข้างกว่า แต่ 30 คนจะน้อยลงแล้วคือคนพวกที่เรารู้จัก คือรุ่น ไพโอเนียร์ของพวกเรา แต่ว่าในตลาดมีประมาณตั้งแต่ 13 ถึง 25
POSITIONING : สักวัน hip-hop ก็ต้องเหมือนกับเพลงร็อก ความนิยมเริ่มลดลง
โจอี้ บอย : ใช่ มันคงแก่ไปในสไตล์ของเรา แต่แนวเพลงคงไม่ตายไปจากนี้ มันคงยืนเหมือนกับร็อก ที่จะต้องมีวงน้องๆ ออกมาแล้วก็พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ในญี่ปุ่น เขามีวงแร็พเป็นพันวง และเป็นวงที่ออกมาทุกคนมีสไตล์เป็นของตัวเอง ไม่สนใจใคร ทุกวงแย่งกันพัฒนา ของเมืองไทยยังอยู่ในขั้นแรกขั้นที่ตามกันมาหมดทั้งแผง เหมือนกันหมดเป็นก้อน
เมืองไทยเราตามกระแสคงเป็นอเมริกา มาจากต้นฉบับเลย เราเริ่มบอกกับทุกคนว่าควรจะเริ่มสไตล์ของตัวเองได้แล้ว ง่ายมากที่สุดคือว่า มายื่นเทปเดโมแล้วบอกว่าร้องเหมือนวงโน้นวงนี้ เราก็ไม่สนใจแล้ว
POSITIONING : สินค้าและบริการที่ต้องการเข้าถึงวัยรุ่น มักเอาสัญลักษณ์ของ hip-hop ไปใช้ในการสร้างกิจกรรม
โจอี้ บอย : เดิมเป็นลักษณะค่อนข้างฉาบฉวย เป็นเรื่องของการห่อหน้าเสียมากกว่า อย่างค่าเรา สินค้าที่มาเป็นสปอนเซอร์ ต้องเดินไปด้วยกัน จะมาซื้อปลีกเราจะไม่รับ ผมอยู่กับมันมาตั้งนาน ตั้งแต่เราวิ่งเข้าไปหาเขา จนเขาวิ่งเข้ามาเราผมก็ค่อนข้างที่จะมีระเบียบ มีข้อแม้ นิดหน่อยกับตรงนี้ เพราะว่าแบรนด์ต้องเหมาะด้วยกัน อยู่ด้วยกันแล้วดูดี เรายังไม่เคยมีสปอนเซอร์ ไม่เคยมี เจ้าประจำ วันนี้เราเพิ่งได้มา กำลังจะเซ็นสัญญา
POSITIONING : ไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน
โจอี้ บอย : มันไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน แต่ความยากอยู่ที่ต้องทำความเข้าใจกับผลิตภัณฑ์จริงๆ ให้เขาเห็นในจุดเรา ของแบบนี้เป็นเรื่องสองฝ่าย คือคุยกับคุณมองหน้ากันแล้วชี้ว่าใช่แล้ว ที่ผ่านมาโปะหน้าฉาบฉวย นิดๆ หน่อยๆ แต่ครั้งนี้ไปด้วยกันเลย หันหน้ามาเจอกันตอนเวลาเหมาะที่สุด เราอยู่ของเรามา 3 ปีโดยไม่มีสปอนเซอร์ ยังไงเราก็ทำอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เรามาเจอพาร์ตเนอร์ที่เป็นเนื้อคู่กับเรา
POSITIONING : เวลานี้กระแสแรงพอที่มีแบรนด์สินค้าเดินเข้ามาหา
โจอี้ บอย : ใช่ แต่ดีลไม่ใหญ่เท่าไร ธรรมดาๆ แต่เป็นอันแรกที่เราตกลงปลงใจทำงานด้วยกัน ของผมค่อนข้างง่ายคือเราอยากทำงานด้วยกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่หมดอีเวนต์หนึ่งก็มาหาตัวใหม่ มันยากที่จะหาตัวแบรนด์ที่เหมาะกับเรา แต่สินค้าก็เริ่มมาแนวนี้มากขึ้น แต่ว่าสินค้าที่เป็นแบรนด์จากเมืองนอกเขาจะไม่มีนโยบายในการเข้ามายุ่งกับมิวสิก ถ้าเป็นเสื้อผ้าอย่างไนกี้ อาดิดาส เขาจะมุ่งเรื่องกีฬา ถ้าเขาจะช่วยเราคือคงเป็นซัพพลายเออร์เสื้อผ้า เราร่วมงานกับไนกี้ อาดิดาสบ้าง แต่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มากกว่า
POSITIONING : วิธีการรักษาแบรนด์ โจอี้ บอย และแบรนด์ ก้านคอ คลับ ให้มีความต่อเนื่องอย่างไร
โจอี้ บอย : แบรนด์โจอี้ บอย มันอย่างไรก็เป็นคน วันหนึ่งก็จะมีจุดที่มันต้องเฟดได้เร็ว การทำงานกับโจอี้ บอย เป็นแค่การทำงานเพื่อแฟนๆ และตัวผมก็ผันตัวเองไปทำงานเบื้องหลังเสียมากกว่า ส่วนแบรนด์ก้านคอคลับต้องอยู่ได้นานกว่า
POSITIONING : คิดอย่างไรกับกระแส hip-hop ในบ้านเราที่กำลังมา คิดว่าจะอยู่นานแค่ไหน
โจอี้ บอย : hip-hop มันคงจะโตไปเรื่อยๆ ปัจจุบันมันกลายเป็นสังคม และไม่ใช่แค่สังคมเพลงด้วยตอนนี้มันกินไปถึง activity มันไม่ได้เป็นอย่างแนวเพลงร็อก ข้อจำกัดของร็อกคือ จบแค่เพลงหรือดนตรี แต่ hip-hop จะมี element ต่างๆ ดีเจทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุดก็จะเป็นดีเจเพลง hip-hop แม้กระทั่งการแร็พ มันเป็นวิธีการที่เด็กรุ่นใหม่ จะ express yourself วิธีใหม่ๆ ในการจะเป็นกระบอกเสียงที่จะถ่ายถอดออกมาประสบการณ์ของตัวเอง มันก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทุกสิ่งทุกอย่างพวกนี้มันมี competition มันมีการต่อยอด มันมีการแข่งขันกลับไปฝึกซ้อมแข่งขัน มีการแบ่งกลุ่ม มีการพัฒนา ผมว่ามันไม่จบกันง่ายๆ มันเพิ่งเริ่ม
POSITIONING : คิดจะรวมตัวกลุ่มของคนที่ชอบเพื่อให้เห็นว่ากลุ่มคนนี้มีมากน้อยแค่ไหน
โจอี้ บอย : เรากำลังจะทำกิจกรรมใหญ่มาก ต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม เป็นกิจกรรมอีเวนต์ยาว สำหรับเราที่ช่วยได้ มันถึงเวลา เหมือนสอบไล่ มันเป็นการวัดระดับว่าคนไปถึงไหนกันแล้ว เป็นอย่างไรกันบ้างแล้ว เราจะเห็นได้ชัดมาก แล้วจะได้เริ่มเห็น มันดีสำหรับเราที่เราจะต้องมานั่งพัฒนา เราก็จะมาดูว่าดีมานด์เป็นอย่างไร เราก็คงต้องทำ คือมันได้กับบริษัท และอีกเยอะแยะมากมาย
POSITIONING : มี community ที่โจ้เข้าไปรวมกลุ่มกันประจำ
โจอี้ บอย : ส่วนตัวแล้วมาทำงานก็เจอทุกวัน ที่รวมตัวกันก็จะเป็นน้องๆ ตอนนี้ก็เริ่มแยกแตกแขนงออกไปมากขึ้น แล้วส่วนตัวผม community ผมคืออยู่ตรงนี้อย่างหนัก วันๆ ทำงานอย่างบ้าคลั่ง คือถ้ามีการรวมตัวเราก็จะไปงานของเราเสียส่วนมาก มันก็เป็นแบรนด์ของเราแล้ว ก้านคอ คลับ เราก็จะไปแต่งานที่ก้านคอ คลับ เป็นคนจัด มันจะเป็นการรักษาแบรนดิ้งของเรา
Did you know?
แฟชั่นสไตล์ ฮิพ-ฮอพ
POSITIONING : แฟชั่น hip-hop
โจอี้ บอย : สไตล์ที่ชัดเจนกางเกงทรงแบ๊กกี้ หลวมๆ เป็นสปอร์ตตี้ดูกระฉับกระเฉง กับเสื้อ มันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก มาตามที่ศิลปินออก เราเห็นจากเอ็มทีวี นี่เดี๋ยวมาแล้ว
POSITIONING : อะไรที่ทำให้รู้ว่าเป็น hip-hop
โจอี้ บอย : ดูก็รู้กันเองว่าเป็น hip-hop ทรงเสื้อมันดูรู้ ใส่หมวก ใส่ผ้าโผกหัว มองรองเท้า คือเราเดินกันแวบเดียวเรารู้กันเลย รองเท้ามียี่ห้อที่ชัดเจน อันดับ 1 เป็นยี่ห้อไนกี้ รุ่นดังทั่วโลกเลย คือรุ่นสีขาว แอร์ ฟอร์ซ มีซิมโบลิกอยู่แค่หมวกกับรองเท้า เสื้อกับกางเกงนี่ฟรีสไตล์ แต่ก็ต้องมีทรง รอยสักที่เป็นสัญลักษณ์ไม่มี พวกที่ชอบๆ ก็ไปสักลายกราฟฟิตี้ สักแบบโอลด์ อิงลิช ลายแบบแกงสเตอร์แบบที่เขาชอบๆ กัน เครื่องประดับก็มี เครื่องเงิน เครื่องทอง ก็มีส่วนเข้ามา แม้แต่ที่อเมริกาก็มีแบบสไตล์ไม่รู้กี่แบบ
hip-hop แบ่งกันเป็นสไตล์ไม่รู้กี่หมู่กี่เหล่า มันเยอะมาก ไนกี้ที่นิยมเริ่มมาจากที่ศิลปินที่อเมริกาเขาใส่ คือเมืองไทยมันยังเวิร์กอยู่ คือสิ่งที่เราเห็นจากดารามันมีผลค่อนข้างเยอะ
POSITIONING : เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย แฟชั่นมีเข้ามามากขึ้น
โจอี้ บอย :ใช่ คือเมืองไทยไม่เคยสนับสนุน คือสนับสนุนน้อยมาก มีสินค้าเครื่องแต่งกายมากขึ้น แต่เป็นของที่มันอิมพอร์ตมากขึ้น ไม่มีใครทำ นี่คือสิ่งที่เราอยากให้ทำ คือเหมือนกับญี่ปุ่นที่มีแบรนด์ของตัวเอง ที่เขาก็รณรงค์ มีสไตล์ มีเสื้อผ้าของตนเอง มีแบรนด์ของตนเอง