ประโยชน์กับความสุข

ฮือฮากันทั้งวงการหลังซีเอ็ดประกาศอันดับนิตยสารยอดนิยม ที่หนังสือหัวนอกครองพื้นที่เกือบหมดชาร์ต ประเด็นนี้แตกย่อยออกไปได้อีก 2 เรื่อง ก็คือ ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ว่าอย่างไรจึงจะนับได้ว่าสะท้อนตลาดอย่างแท้จริง และเรื่องของการเติบโตของนิตยสารหัวนอก มีผลอย่างไรกับนิตยสารหัวไทย

ประการแรก การเก็บข้อมูลของซีเอ็ดที่มีฐานจากจุดจำหน่ายของร้านซีเอ็ดเองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมกับตัวเลขจากสายส่ง คือ กานดาซัพพลาย เพียงรายเดียว (ในตลาดมีผู้จัดจำหน่ายทั้งหมด 200 กว่าราย) ตัวเลขที่ได้นับเป็นจำนวนเพียงไม่ถึง 3% ของตลาดเท่านั้น นอกจากนั้นยังไม่นับรวมยอดสมาชิกของหนังสือเข้าไปด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นภาพสะท้อนที่แท้จริง

เทียบกับการวิจัยตลาดสิ่งพิมพ์ที่อมรินทร์ทำเองทุกๆ ครึ่งปี เก็บตัวเลขได้กว่า 30% ของตลาด แม้จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่เราก็ไม่นำออกเผยแพร่ เพราะไม่อยากให้เกิด “ผลข้างเคียง” หลังการบริโภคข้อมูล สู้เก็บไว้ดูเพื่อรู้จักตัวเองดีกว่า และถ้าวันหนึ่งเราจะลุกขึ้นมาประกาศอะไร ข้อมูลของเราต้องพิสูจน์ว่าเชื่อถือได้ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง

ประการที่สอง การเติบโตของนิตยสารหัวนอกที่ดูจะเข้ามามากในช่วงปีที่ผ่านมา และคงจะมีอีกต่อไป แล้วจะแย่งส่วนแบ่งตลาดจากหนังสือหัวไทยไปไหม ก็บอกได้แต่ว่า “แพรว” กับ “บ้านและสวน” มีอัตราเติบโต 10% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าน่าพอใจ และด้วยนโยบายของเครืออมรินทร์ที่วางสัดส่วนรายได้จากโฆษณา กับรายได้จากยอดจำหน่าย 50:50 ตัวเลขการเติบโตจึงสะท้อนฐานคนอ่านที่ขยายออกไปมากขึ้นด้วย

ในอดีตเราเคยตั้งสัดส่วนรายได้จากโฆษณาไว้ 70% แต่เพราะรู้ว่าการจำกัดยอดพิมพ์เพื่อลดต้นทุน แล้วไปหวังรายได้จากโฆษณาเป็นหลักนั้น เป็นหนทางที่ “ไม่ยั่งยืน” เราจึงเน้นการขยายฐานคนอ่านให้มากขึ้น เน้นการสร้างจำนวนสมาชิกให้มากขึ้น เช่น แพรว มีสมาชิก 20% ของยอดพิมพ์ ในขณะที่เนชั่นแนลจีโอกราฟิก มีถึง 50%

สำหรับคนชอบอะไรที่ออกแนวสถิติหรือคณิตศาสตร์ เขียนเป็นสูตรได้แบบนี้

M + Q + R = S
M = Market expanding = ขยายตลาด
Q = Quality maintain = รักษาคุณภาพ
R = Readers’ satisfaction = ความพอใจของผู้อ่าน
S = Sustainability = อยู่ได้อย่างยั่งยืน

มีคนพูดกันมานานแล้วว่า หนังสือเป็นสินค้าวัฒนธรรม นั่นหมายถึงไม่ได้เป็นแค่ผลผลิตจากอุตสาหกรรม ที่มีมูลค่าทางการซื้อขาย แต่เป็นสิ่งมีคุณค่าในเชิงสังคมด้วย คนทำธุรกิจหนังสือจึงไม่อาจมองเพียงแค่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่ผลิตสิ่งซึ่งเป็น “มลพิษ” ออกมาด้วย

อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ปิดกั้นเรื่อง “หัวนอก” เรื่องนี้ต้องดูแนวโน้มตลาดด้วย แต่ที่สำคัญคือ ต้องไม่สร้างมลภาวะในการอ่านให้กับสังคม แม้บางเล่มเป็นหนังสือทำเงิน แต่ถ้าไม่น่าภูมิใจก็ไม่ทำดีกว่า คือทำแล้วต้องภูมิใจกับอาชีพเราด้วย

4-5 ปีที่ผ่านมาเลยเห็นว่าเราออกนิตยสารใหม่เฉลี่ยปีละ 1-2 หัว ปีนี้ก็ออกมาเล่มเดียวคือ Real Parenting ซึ่งก่อนจะออกมาได้ก็ทำ R&D หลายรอบ ส่วนหนังสือเล่มของสำนักพิมพ์ ก็ออกใหม่เฉลี่ยปีละ 250 ปก

พูดถึง R&D นโยบายในภาพรวมของอมรินทร์กรุ๊ปปีนี้เราตั้งใจที่จะเน้นเรื่อง R&D มากขึ้นด้วย เพราะสภาพสังคมก็เปลี่ยน วิถีชีวิตคนเปลี่ยน พฤติกรรมคนอ่านก็เปลี่ยนไป เราพบว่าคนต้องการสิ่งที่เป็น “ข้อมูลสำเร็จรูป” มากขึ้น เพราะในชีวิตประจำวันไม่มีเวลาเหลือให้ละเลียดได้มาก เช่น จากเดิมบทสัมภาษณ์ในแพรว เขียนเป็นเรื่องยาวๆ ก็ต้องปรับเป็นเขียนให้สั้นกระชับ ส่วนที่คนอ่านจะนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง ก็ต้องเน้น How-to กันชัดๆ บอกกันตรงๆ รวมไปถึงการพัฒนาเรื่องการออกแบบ Product packaging การออกหนังสือเล่มในไลน์ใหม่ๆ

การเติบโตในระยะยาว ยังไงเราก็ยังรักษาแกนหลักคือความเป็น Content Business ของตัวเองเอาไว้อย่างดีที่สุด แล้วจากแกนนี้ก็แตกออกเป็นรูปแบบต่างๆ 7 รูปแบบคือ

1. นิตยสาร
2. หนังสือเล่ม
3. ทัวร์
4. สัมมนา/ฝึกอบรม
5. รายการโทรทัศน์
6. เว็บไซต์
และ 7. งานแฟร์ ซึ่งมีปีละ 3 ครั้ง คือ งาน “Amarin Book & Lifestyle Fair 2005” ปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 27 – 31 กรกฎาคม 2548 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, งาน “Mind Body & Beauty Fair 2005” มีวันที่ 25 – 28 สิงหาคม 2548 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, และงาน “บ้านและสวนแฟร์ 2005” ภายใต้คอนเซ็ปต์คือ Yesterday – Today – Tomorrow มีขึ้นในวันที่ 1 – 6 พฤศจิกายน 2548 ที่ไบเทค บางนา

โปรดักส์ต่างๆ ก็เกิดจาก Original content ที่เรามี ทำให้เราแตกต่างจากรายอื่นๆ เช่นทัวร์ของอมรินทร์ที่เป็นบริการแบบพิเศษ และไปในเส้นทางที่พิเศษไม่เหมือนใคร

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็ด้วยความพยายามที่จะให้เป็นไปตามที่คุณพ่อได้วางแนวทางของอมรินทร์ไว้ว่า “ประโยชน์และความสุข” ของคนอ่านเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ทุกวันนี้ก็ยังใช้ปรัชญาของคุณพ่อย้ำถามตัวเองอยู่เสมอว่า เรากำลังทำอะไร เพื่ออะไร

แต่นอกจากดิฉันจะถามตัวเองแล้ว ขอถามท่านผู้อ่านของอมรินทร์ด้วยว่า ท่านได้รับ 2 อย่างนี้จากเราหรือไม่คะ ?

——————————————————————-
หมายเหตุ

ระริน อุทกะพันธุ์ เป็นทายาทคนโตของชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ซึ่งจากไปด้วยโรคมะเร็ง ความรับผิดชอบในการนำพาองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไปนั้น เธอมองว่านี่ไม่ใช่ภาระแต่เป็นสมบัติที่มีมูลค่ามหาศาล นับจากเข้ามาทำงานในเครือฯ ตั้งเรียนจบอักษรศาสตร์เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว เริ่มต้นด้วยงานประชาสัมพันธ์และจัดจำหน่ายหนังสือพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ปัจจุบันด้วยวัยเพียง 29 ปี ระรินมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการสายธุรกิจสำนักพิมพ์ ที่เป็นเสมือนหัวเรือใหญ่ของเครืออมรินทร์ จากผลโหวต Top Ten Young Executives ที่ผู้อ่าน POSITIONING เทคะแนนโหวตให้ เมื่อฉบับที่ 7 ประจำเดือนธันวาคม 2547 ระรินได้รับคะนนโหวตสูงเป็นอันดับที่ 6 คอลัมน์ Next Gen, Next Step จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยหวังให้พื้นที่นี้เป็นเสมือนตัวกลางถ่ายทอดแนวคิดและวิสัยทัศน์จากผู้บริหารรุ่นใหม่เหล่านี้สู่สายตาผู้อ่าน