ทางออกของภาพยนตร์เกย์

เมื่อคราวที่ตลาดวีซีดีเริ่มต้นขึ้นใหม่ๆ ราวปี 2546 กระแสความบูมของผู้ประกอบการที่กำลังหาทางเลือกและช่องทางใหม่ๆ เพื่อที่จะสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ เนื่องจากต้นทุนและการลงทุนที่ต่ำ แต่มีโอกาสที่จะทำกำไรได้มาก โดยมีการคาดการณ์ตัวเลขรายได้ถึง 100 ล้านบาทในบางบริษัท แต่ถึงทุกวันนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึงโอกาสของภาพยนตร์แผ่นแบบนี้อีกต่อไป โดยส่วนใหญ่ที่ยังจะพอขายได้ แต่กลับไปอยู่ในกลุ่มที่ล่อแหลม เน้นประเด็นทางเพศ มีฉากเซ็กซ์ซีนของนางเอกดังมากกว่าที่จะเป็นราวอื่นๆ ที่เคยไปเป็น เช่น ฆาตกรรม ตลก โรแมนติก แอ็กชั่น ผี รวมไปถึงหนังแนวกะเทย เช่น มิสควีนไทยแลนด์ (ฉันรักนาย…ผู้ชายมีองค์) หรือเรื่องผีกะเทยแร็ปโย่ ฯลฯ อย่างที่เคยเป็น

ด้วยต้นทุนที่ต่ำ กระบวนการที่ไม่ยุ่งยาก ทำให้จำนวนและความหลากหลายของเรื่องผลิตออกมามาก ภาพยนตร์แผ่นแนวเกย์ที่มีก็เช่น Rainbow หรือ ทางรักสีรุ้ง ที่ต่อ-นันทวัฒน์ รับบทเกย์ ในขณะที่นุ่น-สินิทธา รับบทเลสเบี้ยน โดยแมงป่อง แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก

เหตุผลส่วนใหญ่ของนักดูหนังแผ่นวีซีดี คือต้องการความบันเทิงอยู่ที่บ้าน และยังต้องการคุณภาพในระดับของโรงภาพยนตร์ แม้ต้องเสียราคาค่าแผ่นเท่าๆ กันก็ตาม ดังนั้น หนังส่วนหนึ่งที่เร่งผลิตออกมาอย่างไม่มีคุณภาพจึงทำให้ธุรกิจโดยภาพรวมเหล่านี้ล่มสลายไปในเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปี ปัจจุบันภาพยนตร์ประสบความสำเร็จจากโรงฉายโดยส่วนใหญ่ จะมีโอกาสในการขายเป็นภาพยนตร์วีซีดีมากขึ้น บางเรื่องอยู่ในระดับ 3-4 เท่า รวมถึงภาพยนตร์แนวกะเทยเช่นกัน

“ผู้ผลิตยอมรับว่า จำเป็นต้องเลือกที่จะผลิตหนังแผ่นในแต่ละเรื่องอย่างละเอียดมากขึ้น และต้องตั้งทีมรีเสิร์ชมาเพื่อช่วยวิเคราะห์ว่าจำนวนหนังที่จะผลิตสำหรับแต่ละเรื่องอยู่ที่เท่าใด” กิติติ์ยาใจ ตรีเอกวิจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมงป่อง จำกัด (มหาชน) กล่าว

ปกติทางแมงป่องจะซื้อลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์ที่เข้าโรงในระดับปีละ 200 ถึง 400 ล้านบาท แต่ส่วนหนังกลุ่มเล็กๆที่ไม่ได้ผ่านโรง หรือมีหน้าหนังที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ ก็อาจจะผลิตออกมาแค่เพียงระดับหนึ่ง อยู่ในหลักหมื่น หรือแค่ร้อยแผ่นเท่านั้น โดยเฉพาะแนวโน้มของหนังเทเลมูฟวี่ไม่ว่าจะรูปแบบไหน เรื่องไหน ก็เริ่มลดลง แล้วเมื่อพูดถึงหนังในกลุ่มอินดี้ที่แมงป่องเชื่อว่าอยู่ในกลุ่มที่เล็กมากอยู่แล้ว ก็เตรียมจัดจำหน่ายไว้แค่ในระดับหมื่น

“หนังกลุ่มอินดี้ก็อย่าง สัตว์ประหลาด หมานคร ก็ทำตลาดได้ไม่มาก และส่วนตัวเชื่อว่าหนังอื่นๆ ในส่วนที่เป็นเทเลมูฟวี่จะหายไปในไม่ช้า” กิติติ์ยาใจกล่าวเมื่อเราถามถึงหนังในกลุ่มที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม “รู้เลยว่าหนังพวกนี้ทำแล้วก็ไม่ได้กำไร” เธอให้ความเห็น “หนังในกลุ่มย่อยเช่นเกาหลี หรืออินเดีย เท่าที่ตัวเองได้สัมผัสนั้นกำลังมาแรง”

“เป็นการยากที่จะบอกว่าตลาดของกลุ่มเกย์เป็นเท่าไหร่ จากการประมาณขนาดของแผ่นวีซีดีหนังแนวนี้ เพราะมีหลายปัจจัย คนที่ซื้อจะไม่ได้เป็นเกย์ หนังเกย์บางเรื่องยอดอยู่ในหลักหมื่น แต่อย่างว้ายบึ้มฯ ก็มียอดที่แผ่นถึง แสนแผ่น ซึ่งคงบอกแน่ชัดไม่ได้ มันแล้วแต่ความน่าสนใจของแต่ละเรื่อง”

“แต่เหตุผลหลักที่ลงทุนส่วนหนึ่งไปกับหนังกลุ่มนี้ ก็คิดว่าเพื่อให้เกิดความหลากหลาย ทั้งๆ ที่คิดว่าบางเรื่องคงได้จำนวนไม่ได้มาก เพราะจะว่าไปเราเป็นเจ้าตลาด เราเลยพยายามที่จะนำเสนอสินค้าเพื่อให้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด เราอยากได้ภาพว่าถ้าเขามาที่ร้านแล้ว เรามีครบทุกอย่างที่เขาต้องการ ทั้งๆ ที่บางเรื่องเราก็รู้อยู่แล้วว่าคงไม่ได้ยอดเท่าไหร่”

เมื่อมองว่าทางออกของหนังเกย์ไทยจะเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น จึงเป็นไปได้ที่จะวางตัวเป็นหนัง ”กะเทย” ผ่านโรงในตลาดระดับกว้าง แต่ในขณะที่กระแสหนังเฉพาะกลุ่ม หนังสั้น ของไทย ก็ถูกให้โอกาสมากขึ้นจากการประกวดในเทศกาล มีผู้กำกับและคนทำหนังอิสระหลายคนที่เลือกประเด็นนี้มาสร้าง ให้มีความน่าสนใจ

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นตัวอย่างความสำเร็จของผู้กำกับชาวไทยในเวทีระดับโลก กับภาพยนตร์เรื่อง “สัตว์ประหลาด” ของเขา ที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย ตามความเห็นของเขาประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายในแง่มุมที่อยู่ในหนังของเขา ยังไม่มีผู้กำกับคนไทยคนไหนหยิบออกมาเพื่อที่จะสื่อสาร ในขณะวงการหนังสั้นบ้านเรามีผู้กำกับรุ่นใหม่หลายคนที่เลือกที่จะเสนอประเด็นนี้ไม่ว่าจะเป็น ธัญสก พันสิทธิวรกุล (ผู้กำกับเรื่อง Unseen Bangkok), อนุชา บุญยวรรธนะ (ผู้กำกับเรื่อง ตามสายน้ำ) และคนอื่นๆ พื้นที่สำหรับหนังเกย์ของไทยถูกให้โอกาสในเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก แม้แต่เทศกาลภาพยนตร์ในบ้านเราก็จัดฉายหนังของคนกลุ่มนี้ ซึ่งพวกเขาบางคนก็ถือว่าเป็นผู้กำกับเกย์เปิดเผย

“อย่างวงการหนังสั้นบ้านเรามันก็มีอยู่ อาจเป็นเพราะไม่ต้องผ่านเซ็นเซอร์ ในด้านสื่อมันก็เป็นวิดีโอ พอมันเป็นวิดีโอก็พูดเรื่องส่วนตัวได้มากขึ้นแล้ว มันมีความใกล้ชิดเป็นส่วนตัว (Intimate) แต่ว่าหนังเนี่ยเรายังอยากเห็นให้มากกว่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราใช้หนังเพื่อเรียกร้องสิทธิ หรือว่าอะไรบางอย่าง แต่ว่าเหมือนกับว่าหนังมันสะท้อนภาพสังคม ชีวิตในสังคม แต่ว่ากับหนังไทยไม่เฉพาะแค่เรื่องเกย์อย่างเดียว หลายๆ เรื่องมันก็ไม่ได้สะท้อนจริงๆ คือยังติดภาพลักษณ์กันอยู่เยอะ

ในความเห็นของอภิชาติพงศ์ จำนวนของภาพยนตร์เกย์ที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามเทคโนโลยี เพราะสื่อมันไปอยู่ในมือของกลุ่มคนที่ต้องการจะสะท้อนอัตลักษณ์ของตนเองได้ง่ายขึ้น

“ยังไงๆ เราก็รู้สึกว่าสังคมมันเหมือนเดิม แต่ว่าเราเดินเข้าไปได้เยอะขึ้น คนที่จะพูดเรื่องนี้มันเลยดูมีเยอะขึ้น แล้วสื่อต่างๆ มันก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้น” เขาเห็นว่าจำนวนไม่ได้สะท้อนสังคมปัจจุบันของจำนวนเกย์ที่รับรู้กันมากขึ้น การที่คนทำหนังเกย์มาเพื่อสะท้อนความคิดแบบชาติพันธุ์วิทยาก็เกิดขึ้นจากแรงผลักของเทคโนโลยี เช่น วิดีโอ หรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ดิจิตอล

ในขณะที่ปัจจุบันหนังเพศที่สามที่มีอยู่ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นของเกย์ในความเห็นของเขามากนัก “หนังเกย์กับหนังกะเทยไม่เหมือนกันนะ เราไม่ต่อต้านหนังกะเทย แต่เรารู้สึกว่ามันถูกมองด้านเดียว ว่าเกย์คือกะเทย …แต่มันไม่ใช่ไง ผมว่าในอนาคตมันน่าจะมีสื่อที่เยอะกว่านี้ ที่มองประเด็นนี้ที่ลึกกว่านี้ให้มันสมดุลกัน เราเห็นด้วยว่า ที่มันทำให้ภาพพจน์ของเพศที่สามเสียเหมือนกัน ถ้าออกมาเป็นแบบไร้สมอง เหมือนกับว่า อย่างผมที่เป็นคนอีสาน แล้วเหมือนกับว่าคนอีสานจะต้องมีคาแร็กเตอร์ คนใช้ ตัวตลก คนขับรถ ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ผิดเลย แต่ว่า มันไม่สมดุลไง เขาจะต้องเป็นคนอีกชั้นหนึ่งในสังคม ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง หนังมันก็เหมือนกับสังคมนั้นแหละ แต่ถ้าพูดถึงเกย์ คนจะนึกถึงกะเทย หรือ…ปล้นนะยะ ซึ่งเราไม่ได้มองว่าหนังพวกนี้เป็นหนังเกย์เลยนะ มันเป็นหนังขายธรรมดา เหมือนเป็นหนังตลกที่เอาคนมาเสียดสี ซึ่งไม่ได้มองว่ามันจะมีผลอะไรมากมาย”

ทั้งๆ ที่วงการภาพยนตร์ระดับโลกทั้งจำนวนเทศกาลภาพยนตร์สำหรับเกย์และเลสเบี้ยนโดยเฉพาะ และจำนวนภาพยนตร์ที่ผู้ถึงความสัมพันธ์ของชายกับชายในแบบนี้มีมากขึ้นจนเห็นได้ชัดเจน อย่างนักวิจารณ์ภาพยนตร์ก็เคยกล่าวถึงว่า “ปีนี้เป็นปีของหนังเกย์” ในระดับโลก ประเทศไทยเองโรงหนังบางค่ายก็เลือกที่จะนำเสนอภาพยนตร์แนวนี้เข้ามาฉายมากขึ้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน POSITIONING ฉบับกุมภาพันธ์ หรือในเว็บไซต์)

“ผมว่าประเด็นแบบนี้มันก็มีมาตั้งแต่ชาติที่แล้วแล้ว (หัวเราะ) ตั้งแต่พวกนิยายกรีก ไม่ใช่เพิ่งมามี มันก็เป็นเรื่องปกติมานานแล้ว มันเป็นว่าเรื่องการแสดงออกได้มากขึ้นมากกว่า เลยเห็นว่ามันเยอะขึ้น”

“ที่เราทำ ไม่ได้คิดว่าเราอยากจะทำหนังเกย์อะไร เราแค่อยากพรีเซนต์ว่าแม้แต่เรื่องผู้ชายรักกันมันก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นในเรื่องสัตว์ประหลาด พอคนดูจบ ผมอยากให้เขารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องเกย์ รู้สึกว่าเป็นเรื่องของคนธรรมดา ซึ่งหลายคนก็รู้สึกอย่างนั้น ประเด็นเกย์นั้นมันไม่ใช่สาระสำคัญ และเรื่องแบบนี้มันเกิดได้กับทุกแบบ”

หนังเกย์โลก

ในขณะที่ภาพยนตร์ในระดับโลก เทศกาลหนังเฉพาะกลุ่มเหล่านี้มีแพร่กระจายไปทั่วโลกเกือบ 30 เทศกาล โดยมีสถิติหนังที่ส่งเข้าฉายอยู่ราว 90-250 เรื่อง ต่อเทศกาลต่อปี ซึ่งนับได้ว่าเป็นจำนวนหนังที่ผลิตในเทศกาลนานาชาติระดับโลกจำนวนที่มีมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตามความเห็นของ ธานี จิริยะสิน เจ้าของร้านให้เช่าวิดีโอทั่วโลก “เฟม” ท่าพระจันทร์ เล่าให้เราฟังว่า หนังทั่วโลกที่พูดถึงเกี่ยวเกย์ในตอนนี้ ให้ความสนใจกับเกย์ในฐานะของความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์กันอย่างธรรมดา การที่ภาพยนตร์แนวนี้ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติมาขึ้นก็ทำให้คนผลิตหนังแนวนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในหนังที่เดินสายฉายตามเทศกาลหรือการประกวด

“บางเรื่องเป็นที่ยอมรับมากขึ้น บางเรื่องคนธรรมดาก็ดูสนุก ตลาดมันก็เลยขยายตัว โดยเฉพาะลูกค้าผู้หญิงจะสนใจเป็นพิเศษ กับหนังบางเรื่อง อย่าง Formula 17” ธานีเล่า โดยในร้านที่มีหนังแนวนี้จำนวนมากก็จะจัดไว้เป็นมุมภาพยนตร์เกย์โดยเฉพาะ รวมไปถึงหนังแผ่นซีรี่ส์เกย์อย่าง queer as folk ที่ก็มีคนเช่าไปดูจำนวนมาก ไม่เฉพาะแค่เกย์ตามความเห็นของเขา…

ส่วนหนึ่งของเทศกาลระดับนานาชาติที่จัดบนใจกลางเมืองใหญ่ของโลก

AUSTRALIA : Mardi Gras Film Festival
CANADA : Montreal International Queer Film Festival
FRANCE : Paris Lesbian and Gay Film Festival
GERMANY : Hamburg International Lesbian and Gay Film Festival
ITALY : Milan, Turin International Lesbian and Gay Film Festival
UK : Liverpool, London Lesbian and Gay Film Festival
USA : Austin, Chicago, Los Angeles, New York, Philadelphia, San Diego, San Francisco

Gay Tips

Gay Symbols

สมัยกรีกโบราณมีความเชื่อว่าเครื่องหมาย Lambda สื่อถึงความกลมกลืนเป็นเอกภาพ