สงครามชาในจีน

ย่างเข้าเดือนกรกฎาคม แดดที่ภาคเหนือของประเทศจีนก็ร้อนเปรี้ยงๆ ขึ้นมาเหมือนช่วงกลางเดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์บ้านเราอย่างไรอย่างนั้น

ปักกิ่งเมืองหลวงของประเทศจีน มีฤดูร้อนที่ค่อนข้างจะยาวนาน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และไปสิ้นสุดเอาราวๆ กลางเดือนกันยายน รวม 4 เดือนกว่าๆ ทั้งนี้เดือนกรกฎาคมและสิงหาคมถือเป็นสองเดือนที่ร้อนที่สุดของปักกิ่งก็ว่าได้ อากาศเที่ยงวันอันระอุ สามารถถีบระดับปรอทให้ชี้ขึ้นไปสูงถึง 40 องศา ได้ง่ายๆ

ฤดูร้อนของปักกิ่ง ไม่เพียงอุณหภูมิจะสูง แดดจ้า แต่อากาศก็ยังแห้งสนิท! ย่างเข้าฤดูร้อน ไม่เพียงอากาศเท่านั้นที่ร้อน แต่ สินค้าที่มีความเกี่ยวโยงกับฤดูกาลนี้ก็ยังต้องฟาดฟันเพื่อแย่ง “ตลาดสินค้าคลายร้อน” กันด้วย

ทุกๆ ปี ตลาดเครื่องดื่ม ดูเหมือนจะเป็นตลาดที่มีการฟาดฟันกันอย่างหนักหน่วงที่สุด เพราะ เครื่องดื่มเย็นๆ เอาไว้ดับร้อนนั้น มีลักษณะพิเศษคือ ดื่มแล้วดื่มเลย หมดแล้วหมดเลย ผู้บริโภคก็ต้องซื้อหาเอาใหม่ ไม่เหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าจำพวก พัดลม หรือ เครื่องปรับอากาศ ที่ซื้อครั้งหนึ่งก็ใช้งานกันได้เป็นปีๆ

ในท้องตลาดประเทศจีนหากจำแนกตลาดสินค้าเครื่องดื่มพร้อมดื่มแล้ว สามารถแยกตามประเภทคร่าวๆ ดังนี้ก็ คือ น้ำดื่ม, น้ำอัดลม, น้ำผลไม้, ชาพร้อมดื่ม และ เครื่องดื่มเกลือแร่

สำหรับเมืองจีน สินค้าสองชนิดแรกคือ น้ำดื่มและน้ำอัดลมนั้น ตลาดค่อนข้างจะอิ่มตัวแล้ว เนื่องจากมี “พี่ใหญ่” ครองตลาดอย่างที่ผู้ผลิตเจ้าเล็กๆ ยากที่จะแทรกตัวขึ้นมาได้ โดยตลาดน้ำดื่มอันเป็นตลาดใหญ่ที่สุดนั้นถูกยึดครองโดย 3 บริษัทใหญ่คือ หวาฮาฮา (Wahaha), หนงฝุ (Nongfu) และ โรบัส (Robust) ทั้งนี้มีตัวเลขระบุว่าสิบบริษัทหัวแถวในตลาดน้ำดื่มนั้นครองตลาดมากถึงร้อยละ 85

ขณะที่ในส่วนของตลาดน้ำอัดลมนั้นก็มี 2 ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติคือ โค้ก และเป๊ปซี่ ครองตลาดอยู่อย่างเหนียวแน่นแบบไร้คู่แข่ง จะเหลือเพียงก็เพียงการขับเคี่ยวกันเอง

อย่างไรก็ตาม ภาวะของตลาดเครื่องดื่มพร้อมดื่มในประเทศจีนในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี 2546 และปี 2547 นั้นเปลี่ยนไปตาม รสนิยมในการบริโภคเครื่องดื่มของชาวจีนที่หันหา “เครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ” มาแทน “เครื่องดื่มจำพวกน้ำหวานและน้ำอัดลม”

ปี 2546 ตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่มของจีน ฟาดฟันกันอย่างหนักหน่วง มีสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดมากมาย บริษัทที่มีอยู่เดิมก็ออกผลิตภัณฑ์ใหม่มารับน้องบริษัทที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด มีการปรับปรุงรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์กันอย่างยกใหญ่

มาถึงปี 2547 นี้สมรภูมิตลาดเครื่องดื่มพร้อมดื่มของเมืองจีน ได้เบนมาที่ “ตลาดชาพร้อมดื่ม”

“ชา” มีความผูกผันกับชาวจีนมาช้านานมากแล้ว โดยอาจจะย้อนไปได้ยาวไกลถึง 4,700 ปี ประเภทของชาก็มีความหลากหลายนับเป็นพันๆ ชนิด (แต่หากจำแนกหลักๆ คนจีนเขาแบ่งเป็น 5 ชนิด) จากประวัติศาสตร์อันยาวนานทำให้จีนเป็นศูนย์กลางการแพร่วัฒนธรรมชาไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และโลกภายนอก รวมถึงสหราชอาณาจักร

ช่วงศตวรรษที่ 17-18 ในยุคของการล่าอาณานิคม สหราชอาณาจักร เมื่อเริ่มนำเข้าชาจากประเทศจีนก็เกิดกระแสความนิยมอย่างคาดไม่ถึง คนอังกฤษนิยมชามากจนผสมผสานเครื่องดื่มชนิดนี้เข้าไปในวัฒนธรรมของตนเอง รวมถึงนำต้นชาไปให้ประเทศในอาณานิคมของตนเองอย่างเช่น อินเดีย ศรีลังกา ปลูกเพื่อส่งออก ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้ก็ยังพบเห็นได้จนถึงปัจจุบัน

ทุกวันนี้ชาวจีนยังคงวัฒนธรรมดื่มชาเป็นเครื่องดื่มหลักระหว่างมื้ออาหาร ดังนั้นจะเรียกได้ว่าจีนเป็นบ้านเกิดของชาก็คงไม่ผิดนัก

ด้วยความที่ผูกพันกับ “ชา” มานานส่งผลให้ “ตลาดชาพร้อมดื่ม” ของประเทศจีนนั้นไม่เหมือนกับชาพร้อมดื่มในประเทศไทยที่กำลังนิยมกันอยู่นัก โดยที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนก็ คือ ประเภทของชา

ตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทยกระจุกอยู่ที่ชาเขียวที่มีรสออกหวานเป็นหลัก ส่วนตลาดชาพร้อมดื่มของประเทศจีนนั้นแบ่งได้เป็นหลายประเภททั้ง ชาเขียว ชาแดง หรือกระทั่งชาธัญพืช นอกจากนี้ในกลุ่มของชาดังกล่าวก็ยังแบ่งแยกย่อยได้อีก เป็นชาใส่น้ำตาล ชาไม่ใส่น้ำตาล ชากลิ่นผลไม้ ชากลิ่นดอกไม้ ฯลฯ

ด้วยตลาดผู้บริโภคขนาดมหาศาล ชนิดของชาที่หลากหลาย และมูลค่าตลาดนับหมื่นล้านบาท ส่งผลให้มีการแข่งขันนั้นรุนแรงอย่างมาก และบริษัทหลายแห่งถึงกับทุ่มทุนลงเงินกันนับพันล้านบาท เพื่อ คง-ยึด-แย่ง ส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ให้ได้

ผู้เล่นหลักในตลาดชาพร้อมดื่มนั้นสามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม ก็คือ

หนึ่ง กลุ่มไต้หวัน เช่น คังซือฝุ และ President สอง กลุ่มจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น หวาฮาฮา, เจี้ยนลี่เป่า หรือแม้กระทั่งบริษัทเบียร์จีนที่ลงมาเปิดตลาดชากับเขาด้วย เช่น ชิงเต่า เบียร์อันดับหนึ่งของจีนที่จับมือกับอาซาฮี (Asahi) บริษัทญี่ปุ่น ผลิตชาอูหลง (ชาอูหลงเป็นชาชนิดที่คนญี่ปุ่นนิยมที่สุด) และกลุ่มบริษัทเบียร์เอียนจิง เจ้าของยี่ห้อเบียร์ชื่อดังจากปักกิ่งที่กระโดดลงมาสู่ตลาดด้วยตัวเอง สาม กลุ่มบริษัทข้ามชาติ ที่หมายถึง บริษัทโคคาโคลา เป๊ปซี่โคลา และบริษัทญี่ปุ่นอีกจำนวนหนึ่ง

กลุ่มบริษัทสัญชาติไต้หวัน เป็นกลุ่มที่กระโดดลงมาก่อน และยึดครองตลาดชาพร้อมดื่มในจีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยความที่ตลาดชาพร้อมดื่มในขณะนี้เติบโตอย่างกะทันหันและเขยิบเข้าไปกินสัดส่วนของตลาดอื่น ทำให้บริษัทข้ามชาติในกลุ่มที่สองและสาม โดยเฉพาะโค้กและเป๊ปซี่อดรนทนไม่ไหวต้องกระโดดลงสนามกับเขาด้วย

ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2547 ความนิยมต่อสินค้าชาพร้อมดื่มของคนจีนนั้นมาแรงขนาดที่กินสัดส่วนตลาดของตลาดน้ำดื่ม ให้หดจากร้อยละ 40.26 เหลือเพียงร้อยละ 38.91 ของตลาดสินค้าเครื่องดื่มพร้อมดื่มทั้งหมด

บริษัทโคคาโคลา หันไปเป็นพันธมิตรกับเนสท์เล่ (Nestle) โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็เปิดตัวชาเย็นเนสท์เล่ลงสู่ตลาด ขณะที่คล้อยหลังไปได้หนึ่งเดือน กลางเดือนพฤษภาคม เป๊ปซี่โคลาก็จับมือกับลิปตัน (Lipton) เปิดตัวชาแดงเย็นลงแย่งตลาดอย่างเป็นทางการ

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า อาจเป็นแนวโน้มของชาวเอเชียที่พยายามหลีกหนีจากน้ำอัดลม หันมาหาดื่มเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนดูเหมือนว่ามนต์ขลังของ “น้ำดำ” ที่ทรงเสน่ห์มาตลอดศตวรรษที่ 20 เมื่อย่างเข้าศตวรรษที่ 21 ในไม่ช้าก็อาจถูกเครื่องดื่ม 5,000 ปีอย่าง “น้ำชา” ที่ปะหน้าทาตา มาในโฉมใหม่ กระโดดขึ้นมาทาบรัศมีก็ได้