Moshi ชาเขียว เจาะใจวัยใสของบุญรอด

จดๆ จ้องๆ อยู่พักใหญ่ๆ “Moshi” ชาเขียวน้องใหม่จากค่ายบุญรอดฯ ก็คลอดออกมา “สวัสดี” พร้อมต้อนรับคณะสื่อมวลชนและกองประกวด Miss Universe 2005 นับว่าเป็นการเลือก timing ที่เหมาะเจาะ ในการที่ Moshi จะได้อวดโฉมต่อหน้าแขกเหรื่อ อย่างน้อยๆ ก็ในเขตรั้วของบุญรอดบริวเวอรี่เอง ทั้งโรงงานที่ปทุมธานี และสามเสน ก่อนที่จะเริ่มทยอยสู่สายส่งตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป ด้วยสายส่งที่แข็งแกร่งของบุญรอดฯ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ Moshi รุกตลาดต่างจังหวัดซึ่งกระแสบริโภคชาเขียวยังไม่ฟีเวอร์เท่าในกรุงเทพฯ ได้มากกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ

ค่ายบุญรอดฯ วางบุคลิกแบรนด์ (brand personality) ชาเขียว “Moshi” ให้ดูสดใส เป็นเครื่องดื่มชาเขียวที่ดื่มแล้วอารมณ์ดี การตั้งชื่อรสชาติก็ไม่ธรรมดา หากแต่มีคำที่สื่อถึงความสุข สดใส และยิ้มแย้มมานำหน้า โดยเบื้องต้นโมชิมี 3 รสชาติ คือ Happy Original, Freshy Honey Lemon และ Smiley Melon ใน packaging แบบขวด PET 500 มล. รูปแบบเดียว โดยรสชาติหลังสุดแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ทั้งนี้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายหลักซึ่งอายุ 16-24 ปี และกลุ่มเป้าหมายรองอายุ 25-35 ปี โดย Moshi จะเป็น mascot ที่สร้าง emotional ร่วมกับผู้บริโภค โดยคำโฆษณาบนฉลากต่อไปนี้ที่ใช้ภาษาและลีลาเป็นกันเองกับผู้บริโภคซึ่งเป็นวัยรุ่น
– ปลุกอารมณ์คุณด้วยความหวานแบบจี๊ดจ๊าด…กับรสน้ำผึ้งผสมมะนาว สไตล์โมชิ โมชิ เพียงแค่แตะลิ้นก็ซาบซ่าน จนวางไม่ลง
– วิธีอารมณ์ดีแบบโมชิ โมชิ แช่ให้เย็นเจี๊ยบ…เขย่าให้เข้ากัน ส่วนน้ำแข็งเก็บไว้แช่ของดีกว่า

ธุรกิจใหม่ภายใต้กรงเล็บสิงห์จะเติบโตไปในทิศทางใดกับงบลงทุนโดยรวมจนถึงสิ้นปี 600 ล้านบาท กระแสชาเขียวจะคงแรงและรุ่งโรจน์ต่อเนื่องเหมือนที่ญี่ปุ่น หรือไต้หวันหรือไม่ สันต์ ภิรมย์ภักดี ผู้บุกเบิก “Moshi” คงลุ้นกว่าใครเพื่อนกับเป้าหมายส่วนแบ่ง 10% จากมูลค่าตลาดชาเขียวโดยรวม 6,500 ล้านบาท และอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 2 ปีจะถึงจุดคุ้มทุน ขณะที่ชาเขียว Tozen จากค่าย Euro ซึ่งวางตลาดก่อนหน้าไม่นานยังไม่มีสีสันทางการตลาดใดๆ

Did you know?

อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีอัตราการบริโภคชาเขียว 7-8 ลิตร/คน/ ปี ญี่ปุ่นล้ำหน้าไปกว่านั้นด้วยอัตรา 23 ลิตร/คน/ปี ขณะที่ประเทศไทยยังมีอัตราการบริโภคน้อยเพียง 2 ลิตร/คน/ปี…และนี่คือโอกาสสำคัญที่ทำให้ Moshi พร้อมรบ