กิตติณัฐ ทีคะวรรณ MD คนแรกของ Playground!

แม้จะเคยคลุกคลีกับตำราคู่มือบริหารธุรกิจค้าปลีกจากทั่วโลกมามากมาย ตลอดระยะเวลาร่วม 10 ปีที่ทำงานอยู่กับเอเชีย บุ๊คส์ แต่ทว่า เมื่อต้องมาลงมือบริหารงานธุรกิจค้าปลีกที่ Playground! กิตติณัฐ ทีคะวรรณ ถึงกับครวญว่า “แทบจะต้องปิดตำราทำ”

ในฐานะ MD หน้าที่หลักของกิตติณัฐก็คือ การรวมพลังทีมงานและพาร์ตเนอร์ทุกคน ภายใต้จุดยืนเดียวกัน ซึ่งเขาบอกว่า “จุดยืนก็คือเราไม่ได้ทำเพลย์กราวน์ให้เป็น department store แต่กำลังสร้างเพลย์กราวน์ให้เป็น concept store แห่งแรกของเมืองไทย”

Playground! เป็นศูนย์การค้าแนว concept store ที่กิตติณัฐ นิยามว่า เป็นแหล่งรวบรวมศิลปะและดีไซน์เอาไว้ในทุกรายละเอียด ตั้งแต่สินค้าที่เลือกเข้ามา การจัด display และกิจกรรมต่างๆ ที่จัดภายในศูนย์ฯ ซึ่งล้วนแต่จะต้องเชื่อมโยงไปถึงศิลปะและดีไซน์ที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าชม ซึ่งเป็นหัวใจของคอนเซ็ปต์ สโตร์และเพลย์กราวน์ อันเป็นที่มาของชื่อเต็ม Playground! The Inspiration Store

แต่กว่าที่เขาเองจะเข้าใจถึงแนวคิดคอนเซ็ปต์ สโตร์อย่างแท้จริง ก็ต้องบินไปหลายประเทศ เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เพื่อหาข้อมูลที่จะนำมาเป็นต้นแบบทางความคิดของเพลย์กราวน์ หลังจากตกผลึกไอเดียแล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำก็คือการสื่อสารวิสัยทัศน์เหล่านี้ให้ทีมงานและพาร์ตเนอร์ทุกคนเข้าใจ ยึดมั่น และเชื่อมั่นแนวคิดนี้

“ความยากที่สุดคือการที่เราพยายามถ่ายทอดภาพคอนเซ็ปต์ สโตร์ที่เราต้องการไปสู่ทุกคน เนื่องจากพวกเขาไม่เคยเห็นต้นแบบว่าเป็นอย่างไร จึงมองไม่เห็นภาพที่เราอยากให้เป็น ก็จะสงสัยว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้” กิตติณัฐเล่าย้อนความลำบากที่เกิดขึ้นราวหนึ่งปีก่อนที่เพลย์กราวน์จะเป็นรูปเป็นร่างอย่างทุกวันนี้

ในการเป็นคอนเซ็ปต์ สโตร์ การเลือกสินค้าเข้ามาขายในศูนย์ฯ ถือเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่สร้างความแตกต่าง ซึ่งกิตติณัฐจะเข้าไปมีส่วนร่วมสรรหาสินค้ามีดีไซน์จากทั่วทุกมุมโลก โดยอาศัยภูมิหลังประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแฟชั่น เพลง เฟอร์นิเจอร์เก๋ และสินค้ามีดีไซน์อื่นๆ เป็นคลังข้อมูลสำหรับการตามล่าหาสินค้าเหล่านั้น

แต่ก็จำเป็นต้องเร่งพัฒนา “selective senses” ให้มากขึ้นตลอดเวลา “ผมเคยจับแต่หนังสือ เป็นแค่ตัวอักษรกับรูปภาพ ตอนนี้ต้องมาจับสินค้าจริงก็ต้องอาศัยทีมจัดซื้อที่เป็น specialist ผสมกับ on-job training และการค้นคว้าข้อมูลสินค้าและเทรนด์จากสื่อต่างๆ รวมถึงคอมเมนต์ของลูกค้าด้วย” จึงเป็นที่มาพันธกิจของกิตติณัฐที่จะต้องมีการควานหาสินค้าใหม่ๆ จากดีไซเนอร์รายใหม่เข้ามาเสมอๆ

การตลาดถือเป็นอีกกุญแจสำคัญที่จะสร้างความสำเร็จให้เพลย์กราวน์ ซึ่งกิตติณัฐมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบดูแลภาพรวมของทุกๆ เมสเสจ (message) ที่สื่อสารออกไปถึงลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่าสารที่ถูกต้องจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งนี้โดยมี “กิจกรรม” เป็นอาวุธสำคัญในการประกาศจุดยืนให้ชัดเจนขึ้น และจึงเป็นที่มาของ indoor event hall ขนาดใหญ่กลางเพลย์กราวน์

“ทุกเดือน ที่นี่จะมี event ที่เกี่ยวกับทั้งที่เกี่ยวกับศิลปะ ทั้งดนตรี ดีไซน์ และแฟชั่น สลับกันไป โดยแต่ละคนที่เราจะเอาเข้ามาทำกิจกรรม เรียกว่าเป็น trend setter ของเด็กรุ่นใหม่เลยก็ว่าได้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เขาได้นำกลับไปพัฒนาแนวคิดและสไตล์ของตัวเอง ซึ่งตอกย้ำความเป็นคอนเซ็ปต์สโตร์ และ inspiration store ของเรา” กิตติณัฐกล่าว

กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา เรียกได้ว่า เพลย์กราวน์มีกิจกรรมเกือบทุกเดือน เดือนแรกเป็นการประชันผลงานดีไซน์ของนักศึกษา ขณะที่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นกิจกรรมทางดนตรีแนวอินดี้ ส่วนเดือนนี้ก็เป็นนิทรรศการผลงานจากแบรนด์ Droog องค์กรทางด้านดีไซน์ชื่อดังจากอัมสเตอร์ดัม ซึ่งมาจัดแสดงครั้งแรกในเมืองไทย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลแห่งความพยายามของกิตติณัฐร่วมกับทีมการตลาดของเพลย์กราวน์ที่ต้องแสวงหาและจัดสรรมา

“คนที่จะมาทำที่นี่ได้จะต้องพร้อมเปิดรบกิจกรรมของคนในทุกๆ กลุ่ม จะต้องรู้จักผสมผสานธุรกิจและศิลปะเข้าด้วยกันได้ และที่สำคัญคือ จะต้องมีเทรนด์อยู่ในสมอง” ซึ่งกิตติณัฐแนะนำแหล่งข้อมูลในการบริโภคเทรนด์ของเขาว่ามาจาก เว็บไซต์ โทรทัศน์ หนังสือ การเดินทาง และกลุ่มคน

นอกจากนี้ เพลย์กราวน์ยังถือเป็นอีกแหล่งข้อมูลที่สำคัญมากสำหรับเขา “ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์การค้าที่รวบรวมดีไซเนอร์และศิลปินมากที่สุดแห่งหนึ่งก็ว่าได้ ผมเองก็ได้แรงบันดาลใจหลายอย่างจากตรงนี้” กิตติณัฐบอก

ย้อนกลับไปราวสองปีก่อน วันที่เขาตัดใจจากธุรกิจขายหนังสือที่เขารักและลุกจากเก้าอี้ MD แห่งเอเชีย บุ๊คส์ แล้วเข้ามานั่งแท่น MD ของเพลย์กราวน์ เพื่อบุกเบิกธุรกิจค้าปลีกแนวคอนเซ็ปต์ สโตร์ ซึ่งวันนั้นแม้แต่เขาเองก็ยังจินตนาการไม่ออกด้วยซ้ำไป แต่ทว่า วันนี้ กิตติณัฐสรุปสั้นๆ อย่างได้ใจความว่า บทเรียนแห่งการเป็นผู้ริเริ่มถึงจะยากแต่ก็เป็นบทเรียนที่ดีและน่าประทับใจ…

“วันนั้นที่เราไปพูดกับคนอื่นเพื่อให้เข้ามาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ มันก็มีคนที่ไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์นี้แล้วปฏิเสธเรา แต่วันนึงที่เราพยายามเติมเต็มภาพให้มันชัดขึ้นทุกวันๆ พอถึงวันนี้ หลายคนที่เราเคยไปเสนอแล้วเขาไม่ตอบรับ วันนี้เขาเดินกลับมาหาเรา อันนี้ก็สอนเราว่า ถ้าศึกษาค้นคว้ามาดี และมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน แล้วเดินตามมัน ทุกอย่างที่เรานึกภาพไว้มันก็เกิดขึ้นได้”

Profile

Name: กิตติณัฐ ทีคะวรรณ
Born: 19 มีนาคม 2513
Education:
– ปี พ.ศ. 2543 Berkley Executive Program จากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์
– ปี พ.ศ. 2542 ปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ
– ปี พ.ศ. 2540 ปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์สารสนเทศ มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ
– ปี พ.ศ. 2537 ปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ
Career Highlights:
– ปี 2547 – ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพลย์กราวน์ สโตร์ จำกัด
– ปี 2537 – 2547 กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียบุ๊คส์ จำกัด
Activities:
ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท ภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร