Exclusive Film = Exclusive Lifestyle

ปีนี้นับได้ว่า “The Little Big Films Project” ได้เดินทางผ่านมรสุมมาถึงปีที่ 9 แล้ว ในชื่อชุดว่า “What a wonderful world” ด้วยเกือบทศวรรษของโครงการหนังยักษ์เล็กที่เกาะกลุ่มหนังนอกกระแส สร้างความนิยมให้บ้านเรา ที่อย่างน้อยก็ได้รู้จักผู้กำกับยักษ์เล็กที่อินเทรนด์ในกระแสหนังระดับโลกได้อย่าง วู้ดดี้ อัลเลน หรือหว่อง กาไว… ซึ่งแม้ว่าตัวผู้จัดเองบอกว่าจะนำหนังเล่านี้เข้ามาในบ้านเราก็เพื่อมุ่งสร้างฐานคนดูไม่ใช่เพิ่มยอดรายได้ แน่นอนว่าหนังที่การันตีคุณภาพแบบนี้ ย่อมสร้างผลที่จะเกิดขึ้นระยะยาวกับคุณภาพคนดูในบ้านเราได้อย่างดี

กลุ่มเป้าหมาย : ตั้งแต่กลุ่มวัยรุ่นถึงคนทำงานทั้งชาย-หญิง อายุ 15 ปีขึ้นไป เน้นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัท ที่มีสถานภาพทางสังคมระดับ B ขึ้นไป ที่ชอบภาพยนตร์คุณภาพเนื้อหาเข้มข้น

สถานที่ : ลิโด มัลติเพล็กซ์ โรงฮิพเก่าแก่ใจกลางเมือง กับระยะเวลา 10 สัปดาห์ 26 พฤษภาคม – 20 กรกฎาคม

คอนเซ็ปต์ : แม้ชื่อสโลแกน What a wonderful world จะสื่อถึงอีกด้านของโลกที่สวยงาม กับคำถามแบบว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่ กับประเด็นสะท้อนความรู้สึกแรงๆ หนังในเดือนนี้ 3 เรื่องค่อนข้างจะเข้มข้นตามสไตล์อย่างลิโด

Mysterious Skin (เข้าฉาย 26 พฤษภาคม – 8 มิถุนายน)
หนึ่งในหนังเกย์แนะนำ ด้วยประเด็นร้อนๆ จากอเมริกา ในยุคของหนังเกย์ล้นทะลักโลก ที่มาพร้อมๆ กับกระแสของการเกิดหนังเกย์แนวใหม่ (new queer cinema) โดยเฉพาะในหนังสายอิสระที่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะมีฉากร้อนๆ อย่างการทำร้ายร่างกาย และกระทำชำเราเด็ก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ชักนำจิตใจให้ดิ่งลงสู่ด้านมืดแต่อย่างใด กลับทำให้เราเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับความเจ็บปวดในอดีตมากกว่า

หนังว่าด้วยเรื่องราวของ “นีล” ชายหนุ่มที่ถูกชำเราทางเพศจากคนใกล้ชิดตั้งแต่เด็ก และเขาเลือกที่จะชอบมัน เขาจึงโตขึ้นเป็นผู้ชายขายตัว กับ “ไบรอัน” ชายหนุ่มที่อยากลืมความทรงจำเดียวกัน ที่คิดว่าเลวร้ายในวัย 8 ขวบ และหลอกตัวเองว่าเคยถูกลักพาตัวไปโดยมนุษย์ต่างดาว มันกลายเป็นความเจ็บปวดในวัยเด็กสำหรับเขา ที่เลวร้ายจนรับไม่ได้ และผลที่ตามมาก็คือ พวกเขาสร้างเปลือกขึ้นมาใหม่ล้อมรอบตัวเอง จึงเป็นที่มาของ Mysterious Skin เพื่อเคลือบตัวเองให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในสังคม โดยหนังเรื่องนี้สร้างมาจากนิยายในชื่อเดียวกันของ Scott Heim

หนังว่าด้วยเรื่องราวที่สะท้อนความทรงจำส่วนหนึ่งของเกย์หลายๆ คน หนังกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในบ้านเราสูงแบบเล็กๆ เนื่องจากเป็นกระแสที่แรงในประชากรกลุ่มเกย์… กับดารานำที่หน้าตาถูกอกถูกใจ จากฝีมือการกำกับของ เกรก อารากิ ที่ได้ชื่อว่า ราชาหนังเกย์แนวใหม่ เพราะทุกเรื่องที่เขากำกับมีตัวเอกที่เป็นเกย์ และสะท้อนบุคลิกที่น่าตกตะลึงเป็นจุดขาย

นอกจากนี้ในโครงการยังมีหนังอีก 4 เรื่องอย่าง The Day I Became the Woman, A Snack of June, City of God และ Somersault

บรรยายภาพ โจเซฟ กอร์ดอน-เลอวิตต์ และ แบรดี คอร์เบต รับบทแสดงนำ ในรอบปฐมทัศน์ที่ซันแดนซ์

“Batman Begins” and MORE!!! (เข้าฉาย 16 มิถุนายน)
ยังเป็นหนัง Comic2film อีกเรื่องหนึ่งที่ hot ไม่เลิก กับหนังภาค 5 แต่ต่อ ที่ย้อนไปเล่าเรื่องก่อนภาคแรก หนังแบบนี้เริ่มเป็นที่นิยมในตลาดโลกมาตลอด ซึ่งผ่านตาเรา และกับที่จะได้เห็นต่อไปอย่าง Sin City Superman หรือ Spiderman แน่นอนว่าหนังทุนสร้างสูงสมัยนี้ไม่ได้หารายได้จากหนังทางเดียว เราลองเข้าไปดูว่าในเว็บไซต์ของหนังภาคนี้ภาคเดียวมีอะไรขายกันบ้างใน amazon.com มีสินค้าที่เกี่ยวข้องถึง 5,324 อย่างกับทุกประเภทสินค้า และนับได้ 200 กว่าชิ้นที่เป็นสินค้าเด็กเล่น สำหรับเด็กทุกช่วงอายุ จน Batman ได้เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นแบรนด์ประเภทของเล่นอย่างหนึ่งที่ติดอยู่ใน 1 ใน 10 แบรนด์ของเล่นที่มีผู้ซื้อสูง อย่างแบรนด์ LEGO, Barbie หรือแม้แต่ Star Wars ในอเมริกา

ในภาคนี้เรื่องราวยังไม่พ้นโครงเรื่องเดิม ที่เคยถูกเกริ่นถึงอยู่ทุกภาคเกี่ยวกับชาติกำเนิดและที่มา ที่เหมือนฝังอยู่ในสายเลือดของบรูซ เวย์น (คริสเตียน เบล) ทายาทเศรษฐีนักธุรกิจใหญ่ ในภาคก่อนๆ ที่โกรธแค้นแทนพ่อแม่ที่ถูกฆาตกรรมจากความอยุติธรรม ก่อนที่จะออกเดินทางเพื่อฝึกฝนและกลับมาปราบเหล่าร้ายด้วยเครื่องมือไฮเทค โดยเฉพาะพาหนะคันงาม ในภาคนี้เราจะได้เห็นที่มาที่ไปทั้งหมดของอัศวินในชุดดำที่มีท่าทางดูเหมือนเหล่าร้ายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในเมืองก็อธแธมอันดำทะมึน ที่ค่อนข้างจะถ่ายทอดออกมาให้คอนเซ็ปต์เดียวกับที่อยู่ในวิดีโอเกมที่ผลิตออกมาจากผลของภาคนี้

ด้าน “BatMoblie” ที่นับว่าเครื่องยนต์ไฮเทคมีผลต่อความสนใจในทุกภาค ถูกเอาออกมาใช้เพื่อปราบเหล่าร้าย แน่นอนว่าทางหนึ่งก็อยู่ในหนังเพื่อความเข้มข้นของเรื่องราว แต่รถทุกภาคของแบทแมนก็ขายดิบขายดีเป็นของเล่นในแบบต่างๆ เช่นกัน Nathan Crowley ในตำแหน่ง production designer เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะออกมาในรูปแบบนี้ได้ต้องผ่านการออกแบบร่วมกับผู้กำกับก่อนถึง 6 รุ่น เนื่องจากความเป็นไปได้ของบทกับการทำงานของรถที่ต้องปรับปรุงก่อนมากว่าการตลาด… ก่อนที่โมเดลต้นแบบจะได้ออกขายจริง

ปัจจุบัน บริษัท WARNER BROS. CONSUMER PRODUCTS (WBCP) ได้ต่อยอดจากคอนเทนต์ด้วยจำนวนมากมายมหาศาล จำหน่ายได้ทั่วโลก ไม่เพียงแต่ภาพยนตร์เท่านั้น ยังมีตัวการ์ตูนแอนิเมชั่น และสวนสนุกของตัวเองที่เป็นแหล่งทำให้เกิดการจับจ่าย จนกลายเป็นบริษัทยักษ์ระดับโลกที่ให้ลิขสิทธิ์ (licensing) และทำสินค้าออกจำหน่าย (merchandising) ทางด้านนี้ที่ใช้มากที่สุดแห่งหนึ่ง ว่ากันว่าผู้บริโภคใช้จ่ายในการซื้อของ และจ่ายให้กับค่าลิขสิทธิ์ในปี 2002 เกือบ 3.8 ล้านล้านบาทต่อปี

กลุ่มคาแรกเตอร์ของวอร์เนอร์ที่ถือว่าเป็นโกลบอลแบรนด์ได้แก่ กลุ่ม Looney Tunes (เช่นบักส์บันนี่, ดัฟฟี่ดัก, ทวีทตี้ ฯลฯ อีกนับ 100 ชื่อ) กลุ่ม DC Comics (เช่น แบทแมน ซุปเปอร์แมน วอเดอร์วูแมน) กลุ่ม Hanna-Barbera (เช่น สกูปบี้ดู และฟรินท์สโตน) หรือกลุ่ม Cartoon Network (เช่นพาวเวอร์พัฟเกิลส์ หรือเดกซ์เตอร์) แล้วยังมีที่ทำโคแบรนด์ดิ้งไปทั่วโลกกับ Sanrio (ญี่ปุ่น) กับ Hello Kitty นอกจากนั้นก็ยังมีลิขสิทธิ์ที่มาจากหนังซีรี่ส์ไม่ว่าจะเป็น ER หรือ Friend รวมไปถึงหนังอย่าง Matrix และภาพยนตร์สุดฮิตทั่วโลกอย่าง Harry Potter โดยการแบ่งลิขสิทธิ์การผลิตไปทั่วโลก 24 ที่ โดยWarner Bros. Studio Stores ยังมีที่ประเทศไทยด้วย

Did u know?

หนังเรื่องนี้ก่อนออกฉายมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่ออย่าง

Batman 5 เป็นชื่อเรียกสำหรับการทำงาน
Batman : Intimidation Game เป็นชื่อเรียกปลอมๆ ก่อนที่หนังจะเสร็จ
Batman : Intimidation เป็นชื่อสำหรับเรียกบทเมื่อเสร็จครั้งแรก
หนังเรื่องนี้ได้เรต PG-13 ที่อเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มหนังที่มีภาพหรือองค์ประกอบบางอย่างที่ส่อถึงความรุนแรง