ถึงวันนี้หลายคนคงได้เห็นบทสรุปของ “ไฮโซบ้านนอก” ในตอนสุดท้ายแล้วว่า นี่คือรายการเรียลลิตี้ที่มีการ “จัดฉาก” หรือเป็นละคร “น้ำเน่า” หรือรายการประเภทไหนกันแน่ แต่สำหรับหลายคนที่อาจจะยังไม่หายข้องใจ ฉบับนี้ POSITIONING จึงเสนอบทสัมภาษณ์ “วู้ดดี้” วุฒิธร มิลินทจินดา เจ้าของไอเดียรายการนี้ ถึงแนวคิด ที่มา และกระบวนการสร้างกระแส ซึ่งอาจเป็นต้นแบบความคิดให้ผู้จัดรายอื่นได้บ้าง
เริ่มต้นกับคำถามคาใจหลายๆ คนมากว่า 2 เดือน นั่นคือ รูปแบบของรายการ… วู้ดดี้อธิบาย “เราเรียกรายการแบบนี้ว่าสถานการณ์บันเทิง ซึ่งภาษาอังกฤษใช้ว่า docu-drama หรือ docu-soap (opera) ก็คือละครน้ำเน่าบวกสารคดี ซึ่งตรงนี้มันเกินเรียลลิตี้ไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะมันสนุกกว่า ควบคุมปัจจัยง่ายกว่า และรู้ผลได้ชัดเจนกว่า”
วู้ดดี้เชื่อว่านี่เป็นรายการแนว docu-soap ครั้งแรกในเมืองไทย ซึ่งผู้จัดหลายคนก็คงอยากจะเข้ามาทำตรงนี้ เพียงแต่ยังไม่กล้าทิ้งกระแสความแรงของเรียลลิตี้ “ถ้าวันนั้นเราไม่เริ่มทำ วันนี้คนอื่นก็คงต้องทำไปก่อนแล้วแน่นอน” วู้ดดี้มั่นใจในการตัดสินใจ แม้จะเจอกระแสคำวิจารณ์อย่างล้นหลามขณะที่รายการออกอากาศแรกๆ
คำถามคาใจข้อต่อไป หนีไม่พ้นข้อกล่าวหาที่ว่า “ไฮโซบ้านนอกก๊อบปี้มาจาก Simple Life ของอเมริกา” ซึ่งวู้ดดี้อธิบายว่า “เรารู้ว่ารายการนั้นมีอยู่ แต่ไม่เคยอยู่ในสมองว่าจะก๊อบมาและไม่ได้รับอิทธิพลจากรายการนี้เลย แต่แรกๆ ที่ถูกวิจารณ์ก็เครียดมาก เพราะด้วยความเป็นวู้ดดี้ เราไม่อยากให้คนมองว่าเราเป็นคนขี้ก๊อบ”
วู้ดดี้เล่าถึงที่มาของไอเดีย จริงๆ แล้วมาจากที่เคยไปถ่ายสารคดีช้างที่สุรินทร์และอยากไปทำรายการที่นั่นอีกครั้ง บวกกับความต้องการส่วนตัวซึ่งอยากทำรายการที่เอาคนเว่อร์ๆ มาทำเว่อร์ๆ ให้คนทั้งประเทศหมั่นไส้ “พูดตรงๆ เราไม่อยากทำอะไรที่ดูแล้วสวยงามแต่เป็นการสร้างภาพ เราอยากทำอะไรที่ไม่สร้างภาพ แต่ถูกหาว่าสร้างภาพดีกว่า งงไหม”
เมื่อสองไอเดียมาประกอบกันจึงกลายเป็น “ไฮโซบ้านนอก” ที่นำ 3 ไฮโซไปอยู่จังหวัดสุรินทร์ โดยมีรางวัลเป็นเงินทำบุญ “เหมือนเป็นการล้อเลียนเรียลลิตี้ด้วย” วู้ดดี้แอบพูดกระทบ “เพราะเวลานี้ อะไรๆ ก็เรียลลิตี้ เพียงแต่เราไม่เอา nobody มาทำเป็น somebody เหมือนคนอื่น เราเอา somebody มาทำให้เป็น somebody ยิ่งกว่าเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากทำและก็ง่ายกว่าด้วย แต่ก็พูดได้ว่าเราอาศัยกระแสเรียลลิตี้ดัง”
เคล็ดลับความดัง อาจกล่าวได้ว่า ทั้งหมดเกิดจากการวางหมากอย่างแยบยลจนอาจคิดไม่ถึงของทีมงาน ซึ่งยุทธศาสตร์เดินหมากต่างๆ เหล่านี้จะช่วยกระตุ้นกระแสวิจารณ์ อันจะต่อยอดความดังยิ่งๆ ขึ้นไป
เริ่มจากหมัดแรกคือ ไฮโซ วู้ดดี้ให้เหตุผลการเลือกใช้ไฮโซว่า “แน่นอน! คนกลุ่มนี้ทำอะไรก็เป็นข่าว พอเอามาลงปุ๊บก็เป็นข่าวอยู่แล้ว เขาจะพูดดีมากก็หาว่าเขา fake เขาทำอะไรแย่ก็ว่าเขาถ่อย คือไม่ว่าเขาทำอะไรก็ผิดไปหมด หรือถ้าเป็นดาราบ้านนอก รายการคงไม่ดังอย่างนี้” ซึ่งหมัดนี้ วู้ดดี้ถือว่าเขาประสบความสำเร็จ
“ลองคิดดูว่าคุณเอาคนที่ไม่ใช่ดารามาเล่นในเวลาไพร์มไทม์ แล้วคนพูดถึงขนาดนี้ ทางช่องก็แฮปปี้กับผลที่ออกมา เพราะเรตติ้งเท่ากับละครถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เราภูมิใจมาก”
ส่วนที่มาของความลงตัวในไฮโซทั้ง 3 คน วู้ดดี้ให้เหตุผลว่า “เรามีสูตรสำเร็จการเลือกคาแร็กเตอร์อยู่ที่ความเป็นคนของทั้ง 3 คน ซึ่ง 3 คนนี้มีจุดยืนของตัวเองชัดเจนและแตกต่างกันสิ้นเชิง ขณะที่คนหนึ่งดูเป็นเด็ก อีกคนเป็นผู้ใหญ่ ขณะที่คนหนึ่งเป็นนักคิด อีกคนเป็นนักธุรกิจ หรือขณะที่คนหนึ่งดูเป็นคนเมตตา อีกคนดูเหมือนไม่แคร์ศีลธรรมเลย”
วู้ดดี้ยกตัวอย่าง “มดดำ” ซึ่งคนที่ติดตามไฮโซบ้านนอกมาตลอดจนถึงตอนจบ คงจะเห็นด้วยว่า “ภายนอกเขาดูเหมือนไม่มีจรรยาบรรณ แต่ลึกๆ แฝงด้วยคุณธรรม ซึ่งรายการนี้จะทำให้คนรู้จักตัวตนที่แท้จริงของมดดำ ซึ่งนี่แหละคือจุดยืนของรายการเรา คืออย่าดูคนแค่เปลือกนอก”
หมัดเด็ดต่อมาคือ รูปแบบรายการที่คลุมเครือ ซึ่งวู้ดดี้อธิบายว่า “การที่เราไม่ตอบว่านี่เป็นรายการอะไร โดยนิสัยคนไทยที่มักต้องการแค่ขาวหรือดำ พอเราพูดว่าเทา เขาก็จะไม่รับเลย เราจึงใช้วิธีไม่ตอบเลยดีกว่า พอไม่ตอบคนก็ยิ่งวิจารณ์ ก็เลยยิ่งทำให้รายการดัง”
นอกจากไม่ตอบ วู้ดดี้ยังทำให้คนสงสัยและวิจารณ์เพิ่มขึ้นด้วยการนำนักแสดงประกอบ (extra) จากละครเรื่องอื่นที่ออกอากาศเวลาเดียวกันมาใส่ลงไปในไฮโซบ้านนอก เพื่อให้คนพูดต่อๆ กันไปว่า รายการนี้ที่แท้แล้วเป็นเรื่องจริงหรือเฟก “เราวางแผนเลยว่า เมื่อไฮโซบ้านนอกออนแอร์ ละครเรื่องอะไรที่อยู่ช่วงเวลาเดียวกัน ดูว่ามี extra คนไหนบ้าง แล้วเราก็เลือกเอาเขามา”
ไม้ตายสุดท้ายคือ ความตรงของรายการ วู้ดดี้ปล่อยให้ไฮโซใช้คำพูดอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยเหตุผลว่าความเป็นธรรมชาติมนุษย์ของไฮโซแต่ละคนจะเป็นเสน่ห์ที่ทำให้คนดูส่วนใหญ่รับได้ และรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องใกล้ตัว
จากการรีวิวเว็บบอร์ดหลายแห่งยืนยันได้ว่า ยุทธศาสตร์ที่วู้ดดี้วางแผนไว้นั้นใช้ได้ผลเป็นอย่างดี เพราะช่วยสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้เรื่อยๆ ตามที่เขาคาดหวังเอาไว้ เช่น อาการวีนแตกและคำพูดไม่สุภาพของมดดำก็กลายเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันหนัก หรือกระแสวิจารณ์เรื่องรูปแบบที่คลุมเครือ ก็ทำให้ไฮโซบ้านนอกกลายเป็นรายการที่ถูกกล่าวหาว่าจัดฉากมากที่สุด เป็นต้น
“เราชอบที่คนวิจารณ์นะ เพราะมันบอกให้เห็นว่ามีคนดู และเราผลิตอะไรก็อยากให้คนดูมีความสุข บางทีคนดูเป้าหมายของเราก็มีความสุขกับการได้บ่นด่า วิจารณ์ต่างๆ นานา ซึ่งเราก็คำนึงตรงนี้ด้วย”
นี่คือที่มาของคำประกาศว่า “ครั้งนี้คือการลงสู่ตลาด “น้ำเน่า” ของวู้ดดี้จริงๆ เลยนะ แต่ในรูปแบบที่เรารับได้ เพราะก่อนหน้านี้ วู้ดดี้มักจะถูกวิจารณ์ว่าเราทำรายการที่ดีแต่ดูเก๋ แต่ดูยาก ครั้งนี้ก็เลยทำประชดสังคมดูสิว่าจะตอบรับขนาดไหน” ซึ่งการตอบรับจะมากหรือน้อย คงรอดูได้จากยอดขาย VCD และหนังสือเบื้องหลังรายการที่วู้ดดี้ตั้งใจผลิตออกมาเพื่อเฉลยข้อสงสัยทั้งหมด
สำหรับความยากของการผลิตรายการนี้ วู้ดดี้เล่าว่า “มันต้องเป็น 2 รายการซ้อนกัน ไม่ใช่แค่เรากำลังสร้างแค่รายการไฮโซบ้านนอก แต่ในการทำงานกับพวกเขา มันเหมือนว่าเรากำลังสร้างอีกรายการหนึ่งอยู่ มันไม่ใช่แค่การสร้างสถานการณ์ในรายการ แต่เรายังต้องสร้างสถานการณ์ข้างนอกด้วย เพื่อให้พวกเขาเป็นในสิ่งที่เราอยากจะได้ เหมือนเรากำลังเล่นเกมจิตวิทยากับพวกเขา” ขณะที่ความใหม่ของรูปแบบรายการ และความใหม่ของผู้จัดก็ทำให้เกิดความยากในการสร้างความมั่นใจกับช่องใหญ่ แต่ทว่าช่อง 3 ก็เชื่อมั่นและกล้าพอที่จะให้เขาได้ลอง
แม้ว่าจะยากและถูกวิจารณ์มาก แต่วู้ดดี้สรุปว่า เขาก็มีความสุขเพราะรายการนี้ทำแล้วมีคนพูดถึง ทำแล้วเป็น portfolio ที่ดีให้เขาได้ ทำแล้วมีความท้าทายให้แก้ปัญหาทุกวัน และสุดท้าย รายการนี้ทำแล้วได้เงินอีกด้วย…โครงการต่อไปจะเป็นอะไร วู้ดดี้ยังไม่ยืนยัน บอกแค่เพียงว่า “ต้องเป็นโปรเจกต์ที่ทำแล้วมีความสุข”
Did you know?
“วู้ดดี้” หรือ วุฒิธร มิลินทจินดา รับตำแหน่งเป็นประธานบริษัท ดับเบิ้ลยู เน็ตเวิร์ค จำกัด เพิ่งก่อตั้งมาเพียงปีเดียว โดยสโลแกนของบริษัท คือ “สุดขอบ แต่ไม่หลุดกรอบ”
ผลงานที่ผ่านมาเช่น รายการลักยิ้ม รายการไอ้หยา รายการ เดอะ วัน และล่าสุดคือ ไฮโซบ้านนอก เป็นต้น ส่วนโครงการในอนาคต นอกจากผลิตรายการ ละคร โฆษณา และทอล์กโชว์ ยังมีแผนการร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ เพื่อผลิตหนังสั้นและรายการโทรทัศน์ออกอากาศในต่างประเทศ