นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานรวมสุดยอดเกมทั้งแบบออฟไลน์ และออนไลน์ งานนี้มีทั้งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวกับเกมโดยเฉพาะ
Bangkok Game Show 2005 กลายเป็นงานที่หวังจะจัดขึ้นทุกปีเพื่อเป็นงานรวมมหกรรมเกมประจำปี ที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีเกมแก่ผู้ที่มีใจรักในด้านเกม ทั้งในแง่ของการแข่งขันระดับประเทศ และการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ที่จะเกิดขึ้นซึ่งออกมาเรื่อยๆ ในทุกปี ผู้จัดงานตั้งใจจะจัดให้เป็นโชว์เคสระดับประเทศของคนไทย
งานนี้ “ฟิวเจอร์เกมเมอร์” (ผู้ผลิตนิตยสารสำหรับเกมรายใหญ่ของไทย) ร่วมกับ เอโซน อีเวนท์ เอเจนซี่ ใช้เงินราว 15 ล้านบาทเพื่อให้งานนี้เกิดขึ้น เมื่องานนี้ผู้จัดดูโดยรวมแล้วว่ามีคอเกมเข้าชมงานราว 100,000 คน และคาดว่าน่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ กับปีถัดไป
ปัจจุบันอนาคตที่เกิดขึ้นสำหรับเกมในประเทศไทย โดยรวมไปถึงการออกแบบและกราฟิกแอนิเมชั่นนั้นมีจากผู้จัดเห็นว่ามีทิศทางที่สดใส แม้ว่าในปีนี้ส่วนใหญ่ภาพรวมภายในงานจะเป็นเหมือนโชว์เคสสำหรับเกมที่มีอยู่ในตลาด โดยเฉพาะเกมออนไลน์ที่มีอยู่เดิม อันเป็นโมเดลธุรกิจเกมที่กำลังทำเงินอยู่ประเทศในตอนนี้ ซึ่งยังไม่ใช่โชว์เคส หรือมีนวัตกรรมใหม่ใดๆ มากนัก แต่อนาคตผู้จัดตั้งเป้าว่า งานนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับธุรกิจเกม ให้คล้ายกับงานอีเวนต์ที่เกิดในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ที่นับว่าเป็นงานโชว์เกมระดับภูมิภาค
ส่วนหนึ่งที่เป็นกิมมิกของงานคือ การจัดแข่งขัน “ESWC” (Electronic Sports World Cup) ระดับประเทศ เพื่อหาผู้ชนะไปแข่งขันมหกรรมกีฬาอิเล็กทรอนิกส์โลก ที่จัดขึ้นที่เมืองลูฟ ประเทศฝรั่งเศส กับอีกเกือบ 50 ประเทศ และ “Thailand Online Championship” ของเกมปังย่า, O2jam เก็ทแอมป์ และแร็กนาร็อค เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะที่เป็นวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษาที่เป็นคอเกมให้เข้างานได้จำนวนมาก
มานะ ประภากมล กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟิวเจอร์เกมเมอร์ ผู้จัด เห็นว่า “ธุรกิจเกมของไทยเพิ่งจะเริ่มตื่นตัวไม่นาน แต่ว่าศักยภาพตอนนี้กำลังพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เพราะตอนนี้ก็เริ่มมีการส่งเสริมจากทางภาครัฐมากขึ้น”
กิมมิกของงานถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของงานคือ มาสคอตที่ชื่อ “เจ้าหนูบากัส” โดยคำว่า Bagus = Ba (Bangkok) บางกอก + Gus (Gusto) ความสนุกสนาน เพื่อเป็นตัวสื่อสารผลทางด้านบวกของแนวคิดในการเล่นเกมที่ถูกต้องแทนที่ผลลบ
Did you know?
จากการขยายตัวของธุรกิจเกมทั่วโลกคาดการณ์ไว้ว่า อีกประมาณ 3 ปี อุตสาหกรรมเกมจะทำรายได้แซงหน้าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ด้วยขนาดตลาดราว 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันนี้แค่ในส่วนของเกมออนไลน์ที่เข้ามาในประเทศไทยมียอดรายได้รวมอยู่ราว 1,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกร) ก็มากพอๆ กับยอดรายได้ของภาพยนตร์ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ ในกรุงเทพฯ ทั้งปี
Website