มองอนาคต ‘VIRTUAL Event’ แม้ไม่มาแทนที่ แต่จะกลายเป็น ‘รูปแบบหลัก’ ในไม่ช้า

การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของไทย และหนึ่งในส่วนประกอบก็คือ อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) หรืองานอีเวนต์ต่าง ๆ สำคัญมาก เพราะปัจจุบันมีมูลค่าตลาดถึง 1.3 หมื่นล้านบาท แต่แน่นอนเพราะ Covid-19 ทำให้งานอีเวนต์ต้องถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไป แม้ปัจจุบันจะฟื้นตัวกลับมาประมาณ 80-90% แล้วก็จริง แต่ยังคงติดข้อจำกัดเรื่องการรักษาระยะห่างหรือ Social Distancing ดังนั้น เทรนด์การจัดงานแบบ ‘VIRTUAL’ จะกลายเป็น New Normal ใหม่ของไทยในไม่ช้านี้

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา โอเปอเรเตอร์เบอร์ 1 ในตลาดอย่าง AIS ก็ลองจัดงาน AIS 5G Thailand Virtual Expo ขึ้น โดยผนึกแบรนด์สินค้าไอที และ SME เข้ามาขายสินค้าประเภทอื่น ๆ ภายในงาน หรือแม้แต่งานอย่าง Thailand Mobile EXPO แม้จะไม่ได้จัดงาน VIRTUAL แต่ก็สามารถซื้อสินค้าผ่าน Shopee และ Lazada ได้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เคยมี ดังนั้นจะเห็นว่า ‘ออนไลน์’ กลายเป็น New Normal ของผู้บริโภคไปแล้ว

ด้วยเทรนด์นี้เองทำให้บริษัท ไร้ท์แมน ผนึกกำลังกับบริษัทวายดีเอ็ม และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดบริษัท VIRTUAL SOLUTION โดยให้บริการการจัดงานออนไลน์แบบครบวงจร โดยคุณกัมพล นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และ ผู้ก่อตั้ง VIRTUAL SOLUTION มองว่า อุตสาหกรรมไมซ์จะทรานส์ฟอร์มจากออนกราวด์มาสู่ออนไลน์มากขึ้น เพราะข้อดีของการจัดอีเวนต์แบบ VIRTUAL ก็ยังมีจุดเด่นที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้กว้างขึ้น เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องของพื้นที่และการเดินทาง และใช้เวลาเตรียมงานและงบที่น้อยกว่า อีกทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลผู้เข้าชมได้ดีกว่าแบบออนกราวด์

“หากไม่นับเรื่อง Covid-19 ก็มีอีกหลายมิติที่ทำให้เทรนด์งานอีเวนต์ออนไลน์เติบโต อย่างเรื่องสังคมผู้สูงอายุที่อาจจะเดินทางไม่สะดวก สปีกเกอร์ก็ไม่ต้องเดินทาง และปกติจะจัดงานอีเวนต์ต้องเตรียมการประมาณ 2-3 เดือน แต่พอเป็น VIRTUAL ประหยัดเวลาได้ราว 50% และงบก็ใช้น้อยกว่า 80-95% มีงบ 5 แสนบาทก็จัดได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสเกลงานด้วย”

อย่างไรก็ตาม ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ให้ความเห็นว่า ในระยะสั้นการจัดงานอีเวนต์ออนไลน์จะมาเป็น ส่วนเสริม อีเวนต์แบบออฟไลน์ แต่หากมองในระยะยาวเชื่อว่างานอีเวนต์ออนไลน์จะกลายเป็น รูปแบบหลัก แทนที่การจัดแบบออฟไลน์ ทั้งนี้ ออนไลน์จะไม่มาฆ่างานอีเวนต์แบบดั้งเดิมหรือออนกราวด์ แต่เป็นการผสมผสานกัน

“เรามั่นใจว่าจะได้รับการยอมรับและได้รับความนิยม เพราะมันคือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป เนื่องจากมันสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคอย่างเดียวในตอนนี้คือ ความคุ้นเคยของผู้บริโภค เพราะต้องยอมรับว่ามันยังเป็นของใหม่”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ขวา) นายกัมพล นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และ ผู้ก่อตั้ง VIRTUAL SOLUTION (กลาง) นายธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด (ซ้าย)

ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ที่ 100 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าแล้วคือ งาน Motor Show ครั้งที่ 41 ในวันที่ 15-26 ก.ค.นี้ ผู้ที่สนใจสามารถดูตัวอย่างงานผ่านทางเว็บไซต์ www.virtualsolution.asia รวมถึงงานที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ซึ่งประกอบด้วยการจัดงานแบบออนกราวด์และออนไลน์ควบคู่กัน เช่น Virtual Design Nation Fair 2020, งาน Virtual Architect Forum โดยร่วมกับสภาสถาปนิก, งาน Virtual Architect Expo ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, งาน Virtual AIC Forum (Agritech and Innovation Center) โดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม ซึ่งเป็นงานประชุมแบบ Virtual Conference ขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ ผ่านทาง VIRTUAL SOLUTION ได้เช่นกัน