Celebrity as Brand

จุดยืนของ นีโน่-เมทนี บูรณะศิริ และ โอ-วรุฒ วรธรรม ที่เป็นพิธีกรคู่อารมณ์ดี โด่งดังจนมีรายการโทรทัศน์ของตัวเองในชื่อ “โอโน่โชว์” เคยจัดคอนเสิร์ตคู่กันอย่าง “โอโน่ Uncensored” เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แน่นอนว่าภาพที่มาคู่กัน ทั้งในชีวิตและการทำงาน เราปฎิเสธไม่ได้ว่า “ONO” นั้นเป็นแบรนด์ที่มีความเฉพาะ(identity) และการรับรู้ (awareness) มากขนาดไหน

ONO Eyewear ได้กลายเป็นชื่อสินค้า และการเป็นการลงทุนทางธุรกิจที่อย่างน้อยก็ใช้ประโยชน์จากความโด่งดังที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ผ่านการประชาสัมพันธ์ โดยทั้งภาพลักษณ์ของทั้งคู่เป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นการใช้asset บนฐานของความเป็น celebrity ทั้งสะสมมาใช้วงการเกือบ 20 ปี จากการที่ทั้งคู่เริ่มต้นอาชีพนักแสดงในฐานะดารานำจนมาถึงปัจจุบัน

“ผมตั้งใจจะให้แบรนด์นี้เป็นแบรนด์คุณภาพของคนไทย เราตั้งใจกันทำออกมา อย่างบางรุ่นเราเลือกใช้วัสดุในการทำที่ยากมาก เรายอมทิ้งต้นทุนไปกับแว่นที่ไม่มาตรฐาน เพื่อให้ได้คุณภาพที่เราต้องการ” เมทนี บูรณะศิริกล่าว

เงินลงทุนรวม 10 ล้านบาท กับการหวังผลธุรกิจ โดยใช้การผ่านการดีไซน์ ที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะ โดยแบ่งกลุ่มประเภทของแว่นตามลักษณะไลฟสไตล์ของผู้ใช้ ได้แก่ 1. Career (แว่นตาที่สามารถใช้ได้ทั่วไปสำหรับ นักเรียน และคนทำงาน) 2. Chilled (กลุ่มแว่นตาที่เน้นการดีไซน์ในดูเรียบหรูขึ้น เหมาะกับหลายๆโอกาส ที่ไม่ได้ต้องการความเป็นทางการมากนัก) 3. Sport (เน้นการใช้แว่นตาเพื่อการกีฬา หรือกิจกรรมกลางแจ้ง เช่นขับรถ ตีกอล์ฟ) และ 4. Design (เน้นการออกแบบที่ดูทันสมัย โดดเด่น ใช้สำหรับโอกาสพิเศษ) ตั้งเป้าดูผลตอบรับที่ยอดขาย 70% ก่อนที่จะผลิตแบบใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับต่างประเทศ มีแผนจะวางจำหน่ายในฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลี ที่ร่วมกับพันธมิตรในวงการธุรกิจแว่นอย่าง Smart Optical (ประเทศไทย)

“แน่นอนว่าคงต้องเปลี่ยนพรีเซ็นเตอร์เพื่อให้เข้ากับแต่ละประเทศที่เราไป ถือว่าเราไม่ได้เป็นที่รู้จักในทุกที่ที่เราจะไป อย่างคำว่า ONO จะว่าไปก็ออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษ (Oh! No!) ไม่แน่ว่าถ้าโอเขาไปทำกับก๊อตอาจจะเป็นชื่อ (Oh! God!) ก็ได้ (หัวเราะ)” เขายังกล่าวด้วยสำเนียงติดตลกอย่างเป็นเอกลักษณ์

ONO เป็นแบรนด์ที่พวกเขาตั้งขึ้น เนื่องจากภาพลักษณ์ของสินค้าที่ค่อนข้างจะติดกับคาแร็กเตอร์ ที่ออกจะสนุกสนานของเขาทั้ง 2 จึงมองศักยภาพของตลาดด้วยแบรนด์นี้ในระดับ B+ ขึ้นไป ราคา 3,000-6,000 บาท ซึ่งเจาะจงให้เป็นฐานของกลุ่มคนที่ดูรายการของพวกเขา ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา และคนทำงาน เหตุผลที่ว่าทำไมถึงเป็นแว่นตา ก็เพราะ นีโน่-เมทนี ถือว่าเป็นนักสะสมแว่นตาคนหนึ่ง เนื่องจากเป็นคนสายสั้น จึงอยากที่จะเริ่มต้นธุรกิจที่เขามีความรู้

ในอนาคต ส่วนของผลิตภัณฑ์แว่นตาที่คาดว่าจะขยายต่อเนื่องหากประสบความสำเร็จ กับแบรนด์ใหม่อีกชื่อที่มารองรับสินค้าในระดับบนมากกว่านี้แทนคำว่า “ONO”

“ต่อไปผมไม่ได้มองว่ามันจะจะจบแค่นี้ ยังสามารถที่จะเป็นอะไรได้ ผมอยากมีธุรกิจต่อเนื่องจากนี้ ที่อาจจะไม่ใช่แค่แว่นอย่างเดียว” เมทนีกล่าว แน่นอนว่าภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือในรูปแบบของธุรกิจแตกต่างจากรูปแบบของดารา ซึ่งรูปแบบการเปิดตัวดูออกจะเพิ่มความเป็นทางการ และความจริงจังให้กับทั้งคู่นิดหน่อยพอเป็นพิธี

คำถามคือว่าสำหรับแบรนด์ดาราที่มีขึ้นลง (ตามกระแสลบของทั้งคู่) แต่จะมีผลอย่างไรต่อธุรกิจ?

แบรนด์ดาราเริ่มเป็นที่นิยมกันอย่างมากในบ้านเราและต่างประเทศ เนื่องจากการใช้ผลประโยชน์บนความดังและไลฟสไตล์ของตัวเอง เช่น “บ้านอุ้ม” ของอุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส (เจาะกลุ่มคนรักการใช้ชีวิตในสังคมร่วมสมัย) “KORY SERUM” จดทะเบียนชื่อ “หน้าเด้ง” ของตัวเองโดย โก้-ธีรศักดิ์ พันจริยา (เน้นสร้างฐานบนผู้ชายในแบบ Metrosexual) ในต่างประเทศที่นิยมสำหรับดาราหญิงอย่าง บริทนีย์ สเปียร์ส, เจนนิเฟอร์ โลเปซ, เจสสิกา พาร์คเกอร์ หรือไฮโซ (และดาราหมาดๆ) อย่างปารีส ฮิลตัน ที่มีเครื่องสำอางและน้ำหอมในชื่อเดียวกับตัวเอง

โดยเฉพาะเป็นเทรนด์ใหม่ของผู้ผลิตน้ำหอมของโลกที่ให้ดาราออกกลิ่นน้ำหอมของพวกเขาเอง แทนที่จะออกแรงสร้างแบรนด์ใหม่ เช่นกลิ่นของ Jill Sander, JOOP!, Nikos, Chopard, Vivienne Westwood หรือของ Marc Jacobs