ดีไซน์แบบไหนดีให้โดนใจ

งานสัมมนาในนิทรรศการ Designer’s Week ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมในเทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส ได้รวบรวมเหล่าดีไซเนอร์ไทยและฝรั่งเศส ผู้ช่ำชองงานดีไซน์สาขาต่างๆ มาเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นร่วมกัน เป็นครั้งแรก ณ เพลย์กราวน์ กรุงเทพฯ โดย ดีไซเนอร์เหล่านี้ได้ให้แง่มุมดีๆ ทิ้งไว้เป็นข้อคิดอยู่หลายช่วง POSITIONING จึงยกตัวอย่าง “คมความคิด” ที่น่าสนใจมาให้พิจารณานำไปใช้…

เริ่มจาก “God is in details” เป็นปรัชญากรีก ซึ่ง Clement Rousseau ดีไซเนอร์จาก Plan Creatif บริษัทออกแบบอุตสาหกรรมชื่อดัง สะท้อนการทำงานของเขาซึ่งค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับรายละเอียดในงานดีไซน์ทั้งนี้เพราะ “รายละเอียดจะบอกถึงความงดงามและความสร้างสรรค์ อันบ่งชี้ถึงสติปัญญาของผู้สร้าง” ส่วนหลักการทำงานดีไซน์ทางอุตสาหกรรม เขาเสนอให้ดีไซเนอร์ยึดหลักง่ายๆ “ไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ใช้ทรัพยากรเปลือง และใช้ได้จริง”

มกร และคุณพรพิมล เชาว์วาณิช ดีไซเนอร์คนไทยรุ่นใหม่ที่ผ่านงานจากต่างประเทศร่วมกับบริษัทระดับโลก เช่น Phillip แล้วออกมาจัดตั้งบริษัทของตัวเองชื่อ Cerebrum Design มกรได้ให้มุมมองเกี่ยวกับวงการดีไซน์บ้านเราว่า “ประเทศไทยเราร่ำรวยวัฒนธรรม และมีทรัพยากรสมบูรณ์ คนไทยเองก็มีไอเดียและฝีมือดี แต่สิ่งที่ขาดคือ Brand DNA”

“…แต่ถ้าเราไม่เริ่มต้นเสียแต่วันนี้ เราจะไม่มีวันเติบใหญ่เป็น big brand” เขายังให้คำแนะนำในการแข่งขันกับตลาดโลกว่า “ 1. เราต้องตระหนักถึงเทรนด์ แต่อย่าตามเทรนด์ 2. หมั่นสร้างความพอใจให้กับลูกค้าของเราอย่างสม่ำเสมอ 3. พยายามที่จะทำอะไรใหม่ๆ และ 4. ใส่ใจรายละเอียดและใช้จุดแข็งที่เรามีสร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์หรือสินค้าของเรา”

สุวรรณ คงขุนเทียน ดีไซเนอร์ชื่อดังและเจ้าของแบรนด์ “โยธกา” ขึ้นมาตอกย้ำเน้นความสำคัญของคำว่า “Identity” พร้อมกับอีกหนึ่งคำสำคัญที่ดีไซเนอร์ควรจะทวีความสนใจให้มากคือ “Lifestyle”

“จากเดิมที่ form follows function แต่วันนี้ form follows life-style, function also follows life-style เลิกพูดเรื่องเทรนด์ไปได้เลย หันมาพูดถึงเรื่องไลฟ์สไตล์ให้มากจะดีกว่า เพราะมันส่งผลกระทบกับงานดีไซน์มากขึ้นจนน่ากลัว”

ตบท้ายด้วยมุมมองคมๆ ของ Christophe Pillet ดีไซเนอร์ชื่อดังมีผลงานดีไซน์ทั้งเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน และมีตำแหน่งเป็น Art Director ของแบรนด์ Lacoste โดยเขาปิดฉากงานสัมมนา ด้วยการนำพาผู้ฟังย้อนกลับมาที่จุดตั้งต้น ด้วยการให้คำนิยามของคำว่า “ดีไซเนอร์” จากความเห็นของเขา

“ดีไซเนอร์คือผู้ที่มีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมที่หมุนเวียน บางครั้งก็เรียกเทรนด์ หรือบางทีเรียกไลฟ์สไตล์ มุมมองต่อข้อจำกัด และมุมมองต่อสิ่งอื่นๆ รอบตัว จากนั้นก็ประมวลผลแล้วถ่ายทอดมุมมองของตนที่มีต่อสิ่งเหล่านั้น ออกมาเป็นผลงานดีไซน์”