ผู้ถูกเลือก

ก่อนเข้าสวมหมวกใบใหม่ในตลาด mai เมื่อ 8 เดือนก่อน เกือบทุกงานที่ผ่านมือ “วิเชฐ” มักจะถูกเลือกโดยผู้หลักผู้ใหญ่มากกว่าจะเป็นผู้เลือก หรือ “ผู้กาข้อสอบ” ขณะเดียวกันเนื้องานส่วนใหญ่ จะเป็นการวางรากฐาน คือรันจนเสร็จแล้วต้องปลีกตัวจากไป

เส้นทางของวิเชฐจึงเลี่ยงไม่พ้นต้องเข้าไปแผ้วถางงานใหม่ และเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เสมือนการลงรากฐาน เพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้ แต่คนบุกเบิกมักจะอยู่เฝ้าดูเพียงชั่วครู่ชั่วยาม

“ความชำนาญของผมคือการสร้างธุรกิจ ซึ่งมี 2 แบบคือ สร้างขึ้นใหม่ และเปลี่ยนแปลงจากเลวเป็นดี”

หากถอยเวลากลับไป ก่อนเข้าจับงานที่ตลาด mai งานที่ทำในแฟมิลี่โนว์ฮาว บลจ.กรุงไทย บลจ.กสิกรไทย บมจ.ภัทรลีสซิ่ง ล้วนแต่เป็นเนื้องานและโครงสร้างที่ลงเสาหลักแบบสร้างขึ้นมาใหม่ ยกเว้นที่ตะวันออกฟายแนนซ์ ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือธนาคารกสิกรไทยสมัยนั้น ที่วิเชฐเข้าไปพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ไม่ได้สร้างมากับมือ

ธุรกิจส่วนใหญ่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ช่วงเวลานั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นขนาดงานแบบมีเดียมไซด์ ไม่ใช่องค์กรใหญ่ยักษ์ จนกลายเป็นความสามารถพิเศษเฉพาะทาง

อย่างไรก็ตาม นอกเหนืองานที่กล่าวมา “วิเชฐ” ยังมีโอกาสเลือกกาข้อสอบเอง ซึ่งเป็นทางเลือกจริงๆ ในสมัยที่เข้าไปนั่งทำงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ ในปี 2529

“งานที่เข้าไปทำให้เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ช้อยส์ของผมเลย ส่วนใหญ่เจ้านายหรือผู้ใหญ่มอบหมายให้ ยกเว้น ทิสโก้ที่เดียว”

จุดเริ่มต้นของมือปืนรับจ้างที่คร่ำหวอดในแวดวงตลาดทุน จนตอนหลังถูกนิยามตัวเองเป็นนักบริหารธุรกิจขนาดกลาง เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยปลุกปั้นบมจ.ภัทรลีสซิ่งขึ้นในวันแรก

ที่ภัทรลีสซิ่ง “วิเชฐ” จัดการในทุกขั้นตอนการจัดตั้งบริษัท ทั้งๆ ที่เวลานั้นยังไม่มีกฎหมายลีสซิ่ง แต่กระบวนการทำงานก็ผ่านไปได้ราบรื่นจากการประยุกต์ใช้งานจากประสบการณ์ ที่ว่ากันว่าต้องวิ่งเต้นขอไลเซ่นส์จนขาแทบขวิด โดยใช้คนทำงานเพียง 2-3 คน

กระทั่งมาพักหลังๆ ธนาคารกสิกรไทยกำลังจัดตั้ง บลจ.กสิกรไทยพอดี วิเชฐก็ถูกโยกมาที่นี่ เช่นเดียวกัน ทีมงานต้องวิ่งขอไลเซ่นส์อีก ที่จำแม่นก็เพราะขณะนั้นตรงกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬโดยบังเอิญ

ไม่นานนัก ก็ถูกเรียกตัวให้มาดูงานที่ตะวันออกฟายแนนซ์ ที่กสิกรไทยถือหุ้นอยู่ อยู่ได้ 3 ปี ก็โยกมาอยู่ที่บลจ.กรุงไทย…

วิถีทางของนักสร้างธุรกิจขนาดกลางเริ่มต้นไม่นาน พอหมดภารกิจ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง ” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็ชักชวนมานั่งทำงานด้วย โดยมีโจทย์คือ ต้องการสร้างองค์กรที่มีบุคลากรมีความรู้ด้านตลาดทุน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทแฟมิลี่โนว์ฮาว

2 ปีในบริษัทนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับการเร่งพัฒนาตลาดทุน โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (mai) ที่เคลื่อนตัวค่อนข้างเนิบนาบ ตรงกันข้ามกับธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ที่กำลังจะฟื้นตัวขึ้นมา ที่สุดการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ใหม่ หรือ mai ก็ตกมาเป็นภารกิจหลักของวิเชฐ

“ถ้าถามว่าทำไมผมต้องเป็นมือเซตอัพตามที่ต่างๆ ส่วนตัวคิดว่าเป็นคนยืดหยุ่น และปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ ทั้งหมดจึงรันมาเป็นธุรกิจในตลาดทุน อีกอย่างคือประสบการณ์สั่งสม บวกกับความสามารถในการประยุกต์ ในด้านการจัดการ จนตอนหลังคนจะเข้ามาหาเราเอง”

วิเชฐบอกว่า ทุกที่ที่เข้าไปบุกเบิก มักจะเป็นธุรกิจขนาดกลาง ที่ทุกวันนี้เติบใหญ่เปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม แต่มันก็ทำให้กลายเป็น “จุดเด่นโดยไม่รู้ตัว”

เพียงแต่ทุกที่ที่เข้าไปจับงานมักจะอยู่ไม่ยืด คือนั่งอยู่เพียง 3 ปีก็ต้องโบกมือลาจากไป…