อีกหนึ่ง Step ของ KTC

หลังจากที่ใช้งบการตลาดส่วนใหญ่ไปกับการโฆษณาและ promotion ส่งเสริมการขายจนเป็นที่รู้จักและมียอดบัตรเป็นอันดับ 1 เมื่อธุรกิจบัตรเครดิตเข้าภาวะอิ่มตัวทั้งในเรื่องของผลิตภัณฑ์และนโยบายส่งเสริมการขายที่เหมือนๆ กัน KTC จึงเริ่มหันมาทำตลาดในรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้น ในรูปแบบการคืนกำไรให้สังคม

โครงการ Learn & Earn @ KTC ที่เปิดรับนักศึกษามหาวิทยาลัยให้เข้ามาร่วมทำงานกับ KTC โดยสามารถเลือกเวลาทำงานให้ไม่กระทบกับการเรียนและจะได้ค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง เป็นการส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้จากการทำงานจริง และกิจกรรมต่างๆ ที่ KTC จัดขึ้นเป็นระยะๆ เช่น การฝึกอบรมด้านความคิดและบุคลิกภาพ ทัศนศึกษา และร่วมฟังการบรรยายจากตัวแทนคนหนุ่มสาว ปัจจุบันมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการประมาณ 220 คน

นอกจากนี้ KTC ยังริเริ่ม “โครงการคืนความงามสู่กรุงเทพฯ คืนกำไรสู่สังคม” โดยเข้าไปตกแต่งร้านดอกไม้ทั้งที่เป็นร้านเต็มรูปแบบ และในร้านรูปแบบรถเข็น โดยมีข้อแม้ว่าต้องยินยอมให้ KTC เข้าไปตกแต่งร้านทั้งหมดและตั้งอยู่ในทำเลที่น่าสนใจ ในขณะที่ KTC กำลังตกแต่งร้านที่เข้าร่วมโครงการเป็นร้านแรก “ร้านดอกไม้ POP” ที่ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน

ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการทำตลาด ที่นำสังคมเข้ามาส่วนร่วมกับ KTC

Did you know?

KTC ดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตในลักษณะ monocline เป็นองค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน ทำให้ KTC สามารถทำการตลาดได้อย่างคล่องตัวและมีบุคลิกเฉพาะตัว เริ่มตั้งแต่การเปิด KTC Boutique Branch เพื่อเป็นช่องทางที่สามารถติดต่อกับลูกค้า การแบ่งกลุ่มลูกค้าแบบ Lifestyle Segmentation การโฆษณาประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น billboard นิตยสาร ด้วยงบการตลาดที่สูงกว่า ถือเป็นข้อได้เปรียบของการเป็น monocline ที่ไม่ต้องยึดติดกับภาพลักษณ์ของธนาคารหรือสถาบันการเงินเหมือนบัตรเครดิตรายอื่นๆ