เครือข่ายใยแมงมุมของ GTH

หลังจากประสบความสำเร็จร่วมกันจากภาพยนตร์เด็กเรื่อง “แฟนฉัน” 3 บริษัทหนังไทย ทั้งบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด และบริษัท หับโห้หิ้น บางกอก จำกัด ที่เป็นหุ้นส่วนความสำเร็จครั้งนั้น ประกาศรวมตัวเป็นพันธมิตรอย่างถาวร กับบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ “จีเอ็มเอ็ม – ไท – หับ” หรือ “GTH” เมื่อพฤษภาคม ปีที่แล้ว

เมื่อเราถามถึงความเป็นไปได้ และโอกาสของภาพยนตร์ไทยในต่างประเทศ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร GTH เล่าว่า “ถ้ามี model ความสำเร็จวางขาย ผมว่าก็มีคนไปซื้อ ตอนนี้ทุกคนพยายามหาสูตรเข้าไปทดลอง แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะสำเร็จ ในตอนนี้ถ้าใครทำได้ ผมถือว่าแจ็กพอต”

เขาเล่าว่าโมเดลที่ผู้สร้างหนังทุกคนต้องการก็คือ หนังที่สามารถทำตลาดได้ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกค่ายกำลังพยายามหาแนวทางของตัวเอง เขาเชื่อว่าการทำงานของหลายเจ้าในตอนนี้อยู่ระหว่างการทดลองบนศักยภาพที่มีอยู่ของแต่ละฝ่าย

“หนังที่ไปขายต่างประเทศ ที่ตลาดถามหา มี 3 ประเภท 1.หนัง action 2.หนังผี และ 3.หนังสัตว์ประหลาด อย่างงูยักษ์ จระเข้ยักษ์ แต่ยังไม่ใช่หนังสายประกวด ซึ่งการซื้อขายไม่หวือหวา …ตอนนี้มันยังไม่แน่ บางเรื่องขายได้ไม่ถึง 5% ของที่ทำได้ในประเทศ บางเรื่องเกิน 100%”

ความสำเร็จของหนังไทยในต่างประเทศมักจะเกิดขึ้นเป็นกรณีๆ ไป ส่วนจะพัฒนาไปเป็นอุตสาหกรรมส่งออกของไทยได้หรือไม่นั้น เขาเชื่อว่าทุกวันนี้มันเป็นอยู่แล้ว เพราะมีหนังไทยขายในตลาดต่างประเทศได้ไม่มากก็น้อย เพียงแต่เป็นไปได้ยากที่จะคาดหวังรายได้ที่คงที่

…อย่างปีนี้ที่บอกว่าหนังไทยขายดี ก็อาจถึง 20 ล้านเหรียญ มูลค่าเท่าตลาดหนังไทยปีที่แล้วทั้งปี แต่ปีที่แล้วอาจได้ไม่ถึง บังเอิญปีนี้มีหนังฟอร์ใหญ่อย่างต้มยำกุ้ง และอีกหลายเรื่องที่ได้รับความสนใจ อย่างชัตเตอร์ กดติดวิญญาณเอง ปีนี้ปีเดียวก็ขาย 3 ล้านเหรียญ ก็ทำให้ภาพรวมของหนังค่อนข้างดี”

“ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” เป็นความสำเร็จของ GTH ที่แม้จะไม่ยิ่งใหญ่มากนัก แต่ก็สามารถสร้างความสำเร็จทั้งในและนอกประเทศ จากการนำไปฉายตามเทศกาลและการเปิดดีลเจรจาในต่างประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสำเร็จที่ชัตเตอร์ฯ ได้รับจากการขายสิทธิ์ Remake “รีเมก” หรือการนำสิทธิ์ไปสร้างเป็นเวอร์ชั่นใหม่ ด้วยเม็ดเงินจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

รูปแบบขายสิทธิ์ “รีเมก” ของหนังไทย ก็มีตัวอย่างให้เห็นกับภาพยนตร์เรื่อง “ตลก 69” (1999) ของไฟว์สตาร์ ที่ถูกซื้อสิทธิ์ “รีเมก” เหมือนกัน แต่เม็ดเงินการขายสิทธิ์รีเมกที่ GTH ได้รับมา 1 ล้านเหรียญ เป็นจำนวนเงินที่สูงมากเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ แม้แต่ “The Ring” ภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ถูกรีเมกไปแล้วโดยฮอลลีวู้ด ก็ขายสิทธิ์ตัวนี้ไว้ที่ 5 แสนเหรียญสหรัฐ จากโปรดิวเซอร์ “รอย ลี” คนเดียวกันที่ซื้อหนังไปรีเมกหลายเรื่อง อย่าง THE EYE , THE RING ทั้ง 2 ภาค, THE GRUDGE (JUON)

“อย่างชัตเตอร์ฯ เห็นจริงๆ เลยว่าหนังขายได้ มันมีผลตอบรับที่ไปได้ไกลและกว้าง ถ้ามีคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่ตลาดในไทย แต่ยังขยายไปยังต่างประเทศ และยังต่อยอดไปถึงเรื่องการร่วมทุน co-production อย่างตอนนี้ฟีโนมีน่า ก็กำลังได้รับความสนใจ มีหลายชาติมาขอร่วมทุน ซึ่งถ้าหนังไปทำรายได้ดีในต่างประเทศ ผู้กำกับและนักแสดงก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน”

ก่อนหน้านี้ วิสูตรจะมีประสบการณ์กับการทำตลาดต่างประเทศมาแล้วกับหนัง “สตรีเหล็ก” ภาพยนตร์ร่วมทุนกันระหว่างไทเอ็นเตอร์เทนเม้นท์กับหับโห้หิ้นในปี 2546 โดยสตรีเหล็กนั้นได้รับรายได้เป็นกอบเป็นกำจากตลาดหนังญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ โดยเฉพาะในฮ่องกงที่ทำรายได้ไปถึง 16 ล้านเหรียญ

“สตรีเหล็กถือเป็นหนังแปลก คือหน้าหนังเป็นแนวตลก คอมาดี้ แต่คอนเซ็ปต์หลักกลับเป็นเรื่องขายความแปลกให้คนดูต่างประเทศ ซึ่งผมถือว่าก็ไปได้ระดับหนึ่ง” ยิ่งไปกว่านั้นโมเดลการไปนอกของสตรีเหล็กที่ได้รับกระแสความนิยม ก็ทำให้สตรีเหล็กเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่มีไลน์สินค้าเมอร์ชั่นไดซิ่ง เกาะกระแสความดังของภาพยนตร์

“เรื่องนี้สำหรับประเทศเราค่อนข้างใหม่ เพราะไม่มีการขายเป็นเรื่องเป็นราว ทุกคนก็พยายามทำจุดนี้ สตรีเหล็กก็พยายามทำ แจ๋วก็พยายามทำ แต่ยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร ไม่เหมือนของฮอลลีวู้ดที่ขายได้หลายๆ พันล้านเหรียญทั่วโลก แต่ของเราทำได้อย่างมากก็แค่หนังสือการ์ตูน ตัวคาแร็กเตอร์ หรือบัตรเติมเงิน ซึ่งตลาดยังไม่กว้าง และเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเมืองไทย

ปัจจุบันช่องทางการขายหลักของ GTH คิดเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับสตูดิโออื่นทั่วไป คือมีรายได้จากโรงภาพยนตร์หลังจากเมื่อแบ่งกับโรงแล้วราว 50%, วีซีดี วิดีโออีก 25% และรายได้จากสายหนัง 15% โดยอีก 10% ที่เหลือก็คือรายได้จากช่องทางอื่นๆ ทางการตลาด บวกด้วยสปอนเซอร์ ยังไม่นับต่างประเทศที่มักเป็นรายได้ไม่คงที่

แม้ตลาดหนังไทยยังเติบโต แต่ต้นทุนของหนังก็เพิ่มขึ้นราว 30-50 % โดยเป็นค่าสร้างกับค่าการตลาด ทำให้ผู้สร้างต้องหาทางเพิ่มรายได้จากช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่จากการฉายหนังทางตรง

“ตลาดหนังไทยโตต่อเนื่องมาตลอดทุกปี แต่เราก็พยายามให้มาร์เก็ตแชร์ตอบโจทย์ต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งก็มีข้อดีที่ไม่ใช่ต้นทุนสูงอย่างเดียว ราคาค่าวิดีโอ วีซีดีก็สูงด้วย และก็มีตลาดต่างประเทศมารองรับ แล้วก็โรงหนังก็เพิ่มขึ้นตลอดเวลา มันก็มีส่วนช่วยมาบาลานซ์เหมือนกัน แต่ส่วนเสียก็คืออายุฉายหนังในโรงสั้นลง”

ในเรื่องการทำงานแบบจับมือหลายเจ้าของ GTH วิสูตรมองว่าเป็นเรื่องของโอกาส และการใช้ประโยชน์จากสื่อ เช่น การโปรโมตผ่านโทรทัศน์ จะเป็นรายจ่ายแบบ “หมดแล้วหมดกัน” ดังนั้นการจับมือกับ “BBTV” บริษัทลูกของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 มีส่วนช่วยในเรื่องสื่อ และการลงทุน

ส่วนการร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ “Happy” เพื่อช่วยในการสร้างแคมเปญประชาสัมพันธ์กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ หรือการร่วมลงทุนกับ “ฟีโนมีน่า” บริษัทที่ผันตัวจากโปรดักชั่นโฆษณามาจับงานภาพยนตร์ ก็พัฒนาคุณภาพของงานสร้าง จับมือกับ “ไฟว์สตาร์” ค่ายหนังด้วยกัน ก็เพื่อช่วยสร้างเรื่อง และกระจายความเสี่ยง

“ผมถือว่าเป็นการหาพันธมิตรทางธุรกิจที่ต่างคนต่างเห็นประโยชน์ของกันและกัน แต่ก่อนพอได้ยินคำว่าสปอนเซอร์ ผู้ผลิตสินค้าก็คิดว่ามาขอเงินกูอีกล่ะ แต่สมัยนี้มันเป็นการร่วมมือกัน ครีเอตแคมเปญด้วยกัน ไม่ใช่แค่เอาเงินเขามาแล้วลงโลโก้ให้ครบเหมือนสมัยก่อน”

วิสูตรวางอนาคตของ GTH ตั้งเป้าว่า 2 ปีแรกจะขยายในแนวดิ่งอย่างเดียว เพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องของงาน จนขึ้นปีที่ 3 ถ้าธุรกิจเริ่มนิ่ง จึงจะขยายในแนวนอน เป็นธุรกิจข้างเคียงอย่างวิดีโอหรืออะไรก็แล้วแต่ “อย่างที่เขาเรียกว่า เครือข่ายใยแมงมุม” เราก็มีแผน แต่คงไม่ใช่ในปีสองปีนี้แน่นอน”

การเติบโตของ GTH ตอนนี้นับได้ว่ามีผลทางรายได้เป็นที่น่าพอใจ โดยมีส่วนแบ่งตลาดหนังไทยที่อยู่ราว 1 ใน 3 ของตลาด ซึ่งยังเป็นเพียง 80% ของเป้าที่ตั้งไว้ในปีแรก จากภาพยนตร์ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตและออกฉายให้ได้ปีละ 8 เรื่อง ซึ่งเขาเห็นว่าเสียเวลาช่วงแรกไปกับการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนของ 3 ฝ่าย

“ที่ติดต่อมาที่อยากร่วมทุนในนามบริษัทก็มีหลายเจ้าที่เราคุยอยู่ คือเค้าไม่อยากทำคนเดียว อยากมีเพื่อนด้วย ถ้าประสานกันได้เราก็ทำ ซึ่งต่อจากนี้ไปก็จะยังมีอีก รวมทั้งที่เป็นของต่างประเทศด้วย ที่ติดต่อเข้ามา”

แนวทางที่ชัดเจนของ GTH คือการเปิดแนวรุก โดยศักยภาพจากพันธมิตรหลากหลาย มาเสริมส่วนที่ขาดและเป็นกำลังเสริม เพื่อต่อภาพให้ครบทั้งแนวกว้างผสานแนวดิ่ง ซึ่งภาพธุรกิจที่ว่านี้ วิสูตรเชื่อว่า จะชัดเจนในอีก 3 ปีข้างหน้า