ถึงคิวของ “ฟิล์ม”

แถลงข่าวเปิดตัวธุรกิจ “ไลเซ่นซิ่ง” ซึ่งครั้งนี้เป็นคิวของนักร้องฮอตสุดๆ อย่าง “ฟิล์ม-รัฐภูมิ” ก็ต้องพิเศษกันหน่อย ประสงค์ รุ่งสมัยทอง รองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งดูแลธุรกิจกลุ่มไอแอม (IAM : Image and Asset Management) บริษัท อาร์.เอส. โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) จึงสลัดสูททิ้งสวมยูกาตะชุดลำลองแบบญี่ปุ่นเพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์สไตล์ Modern-J ของศิลปินคนดังโดยเฉพาะ

ฟิล์ม เป็นศิลปินรายที่สองถัดจากแดน-บีม ที่ อาร์.เอส. เปิดขายลิขสิทธิ์ให้กับบรรดาสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับจากเจ้าของสินค้า 7-8 ราย ซื้อไลเซ่นส์ไปใช้แล้ว

ธุรกิจไลเซ่นซิ่งในมุมมองของอาร์.เอส. จะมี 2 รูปแบบ คือ Promotion Licensing และ Merchandising Licensing

ที่แล้วมาฟิล์มจะใช้ไปในลักษณะของ Promotion Licensing หรือการนำศิลปินไปเป็น presenter ของตัวสินค้านั้นๆ โดยตรง ไม่ว่าจะเป็น มันฝรั่งยี่ห้อเทสโต โฟล์มล้างหน้ายี่ห้อบีโอเร ลูกอมฮาร์ทบีท นาฬิกาข้อมือโอเรียนท์ หรือโมโตโรล่า

ยังขาดในส่วนของ Merchandising Licensing เป็นการขาย “คาแร็กเตอร์” ของศิลปินให้กับสินค้าประเภทต่างๆ ประสงค์ มองว่า ธุรกิจไลเซ่นซิ่งลักษณะนี้ จะสร้างรายได้กับบริษัทในระยะยาวมากกว่าแบบแรก เนื่องจากการขายลิขสิทธิ์จะขึ้นอยู่กับจำนวนสินค้าที่ผลิตขาย ยิ่งขายมากบริษัทยิ่งได้ค่าลิขสิทธิ์มาก

ประสงค์มองว่า กลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับคาแร็กเตอร์ของฟิล์ม ที่เป็นคอนเซ็ปต์ของโมเดิร์น เจ มีประมาณ 16 category เช่น เครื่องเขียน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ในบ้าน ชุดเครื่องนอน เป็นต้น

“สินค้าที่เราขายมันหลากหลายมาก ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นวัยรุ่น อย่างเครื่องใช้ภายในบ้าน เราต้องใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แทนที่จะใช้ลายอื่นๆ ก็มาใช้ลายฟิล์มแทน เหมือนอย่างที่เราใช้สินค้าลายมิกกี้เมาส์ของเมืองนอกได้ ผมเชื่อว่าเมืองไทยน่าจะมีฟิล์มได้เช่นกัน”

นอกจากแดน-บีม และฟิล์มแล้ว ยังมีศิลปิน 6-7 คนอยู่ในคิวของการขายไลเซ่นซิ่ง อาร์เอสตั้งเป้าว่า 60% ของรายได้รวมของไอแอม จะมาจากธุรกิจไลเซ่นซิ่ง

กลุ่มงานไอแอมของบริษัทอาร์.เอส. โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปีนี้ มีชื่อเต็มว่าImage & Asset Management (IAM) มีหน้าที่บริหารภาพลักษณ์องค์กร, ศิลปิน และสินทรัพย์ขององค์กร โดยแบ่งธุรกิจในกลุ่มออกเป็นสองสาย คือ Showbiz และ Licensing