กระเป๋าเงินบนมือถือ

“mPay” เป็นบริการทางการเงินบนมือถือรูปแบบใหม่ ที่ “เอไอเอส” ควักกระเป๋าร่วมทุนกับ “เอ็นทีที โดโคโม” ยักษ์สื่อสารจากญี่ปุ่น ด้วยสัดส่วน 70:30 ตั้งบริษัทลูกครึ่ง 2 สัญชาติอย่าง “แอดวานซ์ เอ็มเปย์”

งานแถลงข่าวมีขึ้นที่ โรงแรมคอนราด ถนนวิทยุ บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยพนักงาน สื่อมวลชน และแขกรับเชิญที่มาร่วมเป็นสักขีพยาน เริ่มด้วยด้วยนักดนตรีในชุดไทยเลือกเล่นจะเข้ เพื่อสื่อถึงเอกลักษณ์ของบริษัทคนไทย และศิลปินเพลงจากญี่ปุ่นบรรเลงเครื่องดนตรีประจำชาติเช่นกัน

“สมประสงค์ บุญยะชัย” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS บอกว่า บริการ mPay เป็นทางเลือกใหม่ของการชำระสินค้าผ่านมือถือ ไม่จำเป็นต้องพกเงินสด โดยลูกค้า GSM Advance และ One-2-Call! สามารถเลือกใช้ด้วยการตัดเงินผ่านบัญชี การเติมเงินผ่านมือถือ และตัดผ่านบัตรเครดิต

ทั้งนี้ mPay วางโพสิชั่นเป็นตัวกลางในการทำธุระกรรมทางการเงิน ไม่ต่างไปจากเครื่องรูดบัตรเครดิตที่มีอยู่เกือบ 80,000 เครื่องในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นช่องทางใหม่ที่ทำให้ร้านค้า และผู้บริโภคซื้อขายกันง่ายขึ้น ตั้งแต่การจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ เติมเงินมือถือหรือซื้ออินเทอร์เน็ต และอาจรวมไปถึงบัตรโดยสารรถไฟฟ้า ที่สามารถเติมเงินผ่านมือถือได้

AIS กระตุ้นให้คนไทยใช้จ่ายมากขึ้น โดยสร้างกระแสบริโภคนิยมง่ายๆ ให้กับฐานลูกค้าที่มีอยู่ในมือกว่า 15 ล้านรายในปัจจุบัน ก่อนที่จะขยายไปสู่สังคมระดับรากหญ้าในอนาคต ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกค้า Capital OK ใช้บริการ mPay ผ่านการตัดเงินจากบัตรเครดิต หรือวงเงินกู้ของบริษัท

Did you know?

“เอ็นทีที โดโคโม” เริ่มให้บริการธุรกรรมทางการเงินบนมือถือในประเทศญี่ปุ่น เมื่อกลางปี 2547 ที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อ “Osaifu Keitai”หรือ “Mobile Wallet” ซึ่งขณะนี้มีผู้ใช้บริการกว่า 5 ล้านคนแล้ว โดยมีร้านค้าที่ร่วมให้บริการจำนวน 22,000 ร้านค้า และมีเครื่อง Vending Macine จำนวน 4,900 เครื่อง

เส้นทาง M-pay

AIS ซื้อระบบ Encorus มาจากยุโรป และนำเข้ามาพัฒนาต่อใน Future Lab เพื่อให้ตรงกับไลฟ์สไตล์คนไทย โดยเปิดให้บริการครั้งแรกในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่แบงก์ชาติได้ออกกฎ มาดูแลการทำธุรกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่นี้ให้อยู่ในกรอบ ก่อนจะออกเป็นใบอนุญาตให้ AIS สามารถดำเนินธุรกิจนี้บนมือถือได้ AIS จึงตัดสินใจตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาบริหารจัดการธุรกิจนี้โดยเฉพาะ

Competitor

ก่อนหน้านี้ Dtacได้จับมือกับแบงก์ไทยพาณิชย์ให้บริการ Easy M-pay เพื่อให้ลูกค้า “Happy” สามารถเติมเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้ง่ายๆ ด้วยการตัดเงินจากบัญชีธนาคารเช่นกัน

ล่าสุด บริษัท“ฮาตาริ เทคโนโลยี” จับมือ “อี-เพย์ ประเทศมาเลเซีย” ในเครือผู้ให้บริการเครื่องจำหน่ายสินค้าระบบพรีเพดรายใหญ่ในประเทศอังกฤษ จัดตั้งบริษัท “อิเล็คทรอนิค เพย์เมนท์ เน็ทเวิร์ค” หรือ e-pay ในประเทศไทย เพื่อแทนบัตรพลาสติกที่ใช้กว่า 80 ล้านใบ/เดือน โดยเบื้องต้นให้บริการตามร้านขายหนังสือ ร้านขายยาและปั๊มน้ำมัน ก่อนจะกระจายให้ครอบคลุมทั่วประเทศถึง 2,000 จุดในสิ้นปีนี้