แม้รายการ Hot News ไม่ได้เกิดมาเพื่อสู้แบบ News talk แต่ด้วยสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและช่วงเวลาออกอากาศ 21.30 – 22.30 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ซึ่งต้องชนอย่างจังกับรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ของเจ้าพ่อนักเล่าข่าว เช่น สรยุทธ สุทัศนะจินดา หัวเรือใหญ่แห่ง Hot News อย่างกิตติ สิงหาปัด ก็เลยต้องอยู่เข้าสู่ “สงครามคุยข่าว” อย่างไม่อาจเลี่ยงได้
“ความเป็นที่รู้จักของเราก็จะอยู่ในลักษณะที่เราเป็น และลักษณะข่าวที่เราทำมันก็ position เราไปในตัว สมัยก่อนคนอาจคิดว่าเราทำข่าวสูงเกินไป แต่หลังสึนามิ ชาวบ้านทั่วไปเริ่มรู้ว่าผมติดดิน ผมใกล้ชิดกับเขา แล้วเขาก็กล้าเข้ามาพูดคุยกับผม” กิตติสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคอนเทนต์ที่นำเสนอกับภาพลักษณ์ที่จะถูกรับรู้ ซึ่งเขาบอกว่า สไตล์การทำข่าวที่ชอบคือแบบสึนามิ
“จุดยืนของผมก็คือ ข่าวโทรทัศน์ต้องเป็นข่าวที่ลงไปทำจริง และยิ่งถ้าเป็นข่าวใหญ่ๆ ผู้ประกาศก็ต้องลงไปทำข่าวเอง”
“ผมไม่ได้เรียนมาสายนิเทศฯ แต่ดูข่าวโทรทัศน์แล้วเห็นว่าน่าจะทำประโยชน์ได้ ก็เลยอยากทำ” กิตติเดินอย่างบากบั่นอยู่บนเส้นทางนักข่าวและผู้ประกาศมาแล้วเข้าปีที่ 18 โดยเริ่มต้นอาชีพนี้ที่บริษัท Pacific Inter’l Communication เพราะมี อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล เป็นแรงบันดาลใจแห่งวิชาชีพ “ผมชอบและชื่นชมสไตล์การทำงาน วิธีคิด การนำเสนอข่าว แนวทางการทำงาน การเลือกข่าว การเข้าถึงข้อมูล และการสร้างนักข่าว ฯลฯ ซึ่งแนวทางของแกส่งอิทธิพลต่อผมจนวันนี้”
สำหรับความคิดเห็นต่อกระแส News talk กิตติฟันธงว่า เป็นเพราะช่องต่างๆ ไม่อยากลงทุน เนื่องจากรายการแนวนั้นลงทุนต่ำสุดในแง่การทำข่าว แต่ได้ชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว เพราะมีจุดขายอยู่ที่ผู้ดำเนินรายการ “คนถามผมเยอว่าไอทีวีจะทำยังไงกับการแข่งขันรายการข่าวที่รุนแรง ผมไม่เห็นว่ามันจะมีการแข่งขันในการทำข่าวจริงๆ เลย แต่เป็นการแข่งกันเปิดรายการข่าว ซึ่งไม่ใช่การขับเคลื่อนอย่างที่เราต้องกลัว”
กิตติฟันธงอีกครั้งว่า “กระแส News talk อาจไม่ใช่สัญญาณที่ดี” กิตติยกตัวอย่างรายงานในอเมริกาที่อาจารย์สอนวารสารศาสตร์ฯ ในมหาวิทยาลัย และนักข่าวอาวุโส ต่างก็ออกมาบอกว่า “ข่าวโทรทัศน์รูปแบบนี้กำลังทำตัวเป็นหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ หรือ “Tabloidization” คือประเด็นข่าวที่เลือกจะเป็นข่าวคนดัง หรือข่าวอื้อฉาว และทำข่าวแนวผิวเผิน หวังเพียงให้พูดกันเป็น talk-of-the-town และยังมีแนวโน้มที่การทำข่าวให้เป็น “Infotainment” คือทำข้อมูลข่าวให้ดูบันเทิงและสนุกไว้ก่อน
“สิ่งเดียวที่รายการแบบนี้แข่งกันคือบุคลิกของผู้ดำเนินรายการ เพราะมันแข่งกันง่าย ไม่มีก็ไปซื้อตัวมา แล้วมันจะต่างกันยังไง ถ้าวิ่งรอกไปออกรายการนั้นรายการนี้ หมุนอยู่อย่างนี้”
กิตติยังเตือนสถานีช่องใดก็ตามที่อยากจะได้ตัวเขาไปทำงานว่าต้องคิดให้หนัก “ตลอด 9 ปีผมไม่เคยทำช่องอื่น ผมเลยกลายเป็นตราของไอทีวี และเป็นสัญลักษณ์ของข่าวไอทีวี ถ้าผมย้ายไปช่องอื่นก็คงต้องใช้เวลาหลอมละลายตัวเองนานพอสมควรกว่าจะเห็นเป็นกิตติช่องใหม่” แต่ก็ยังมีข่าวแว่วมาว่า กิตติได้รับการทาบทามจากช่องคู่แข่งอยู่เนืองๆ จนผู้บริหารไอทีวีต้องปรับตำแหน่งกิตติเป็น “รองผู้อำนวยการฝ่ายขาย” และเงินเดือนให้สูงเหยียบ 3 แสนบาท ซึ่งก็คุ้มกับการรักษาหัวเรือใหญ่ Hot News ผู้สร้างรายได้ให้สถานีกว่า 250 ล้านบาทต่อปี
ด้วยช่วงเวลารายการที่ต้องชนกัน ด้วยผลงานที่โดดเด่น และด้วยบุคลิกที่ต่างกันเสมือนสุดขั้ว กิตตยอมรับอย่างเข้าใจว่า มักถูกเปรียบเทียบและจับชนกับสรยุทธ สุทัศนะจินดา บ่อยๆ “การเขียนข่าวให้คนทะเลาะกันก็เป็นจุดขายของข่าว แล้วทีนี้คุณสรยุทธจะทะเลาะกับใครถ้าไม่ใช่ผม ก็มีแต่ไอทีวีที่เป็นคู่แข่งที่สูสี และถ้าไอทีวีก็คือผม แต่ในแง่การทำข่าว ผมกับเขาอยู่กันคนละแนว ทั้งเนื้อหางาน ปรัชญา และวิธีการทำงาน”
ขณะที่สรยุทธอาจต้องตื่นเช้าเพื่อไปทำงาน แต่กิตติขอตื่นเช้าเพื่อไปส่งลูก สรยุทธอาจใช้วันเสาร์และอาทิตย์หมดไปกับการทำงาน แต่กิตติขออยู่กับครอบครัว ขอเล่นกีฬา และขอเดินทาง … แม้สไตล์การใช้ชีวิตจะต่างกัน แต่ก็น่าเชื่อว่า ทั้งคู่ดำเนินชีวิตของตนภายใต้ปรัชญาเดียวกันคือ “ชีวิตเราเลือกได้ และเราก็ควรเลือกใช้ชีวิตแบบที่เราชอบ”
ผู้ดำเนินรายการข่าวที่ดี ในมุมมองของกิตติ สิงหาปัด
1. มีพื้นฐานการทำข่าว และเป็นนักข่าวที่ดี
2. มีความรู้รอบ ในระดับดี-ดีมาก
3. มีบุคลิกที่ดีเวลาอยู่หน้ากล้อง เช่น การใช้น้ำเสียง การพูดจาชัดเจน
4. ตระหนักว่า อาชีพสื่อมวลชนสร้างผลกระทบต่อสังคมได้มหาศาล
5. มีความเป็นผู้ใหญ่ คือ มีเหตุผล มีวิจารณญาณก่อนพูด ไม่มีอคติ ไม่ตัดสินใคร
6. ทำข่าวด้วยความเป็นกลาง และเป็นธรรม