เก๋งซับคอมแพ็กต์ คึก 2 ยักษ์เปิดศึกชิงแชร์

สองยักษ์ใหญ่ โตโยต้า-ฮอนด้า เปิดศึกแลกหมัดตลาดเก๋งซับคอมแพ็กต์ โดยรายหลังเริ่มก่อนด้วยการไมเนอร์เชนจ์ ซิตี้ใหม่ “ซิตี้ ซีร์เอ็กซ์” ให้มีความโฉบเฉียวสไตล์สปอร์ต ชิงตัดหน้าโตโยต้าที่เตรียมจับ “วีออส” มาแต่งหน้าทาปากใหม่เช่นกัน ก่อนจะปล่อยทีเด็ด “โตโยต้า ยารีส” รถแฮทช์แบ็ก ชน “ฮอนด้า แจ๊ส” ที่มาแรงจนยั้งไม่อยู่ต้นปีหน้า

ตลาดรถยนต์ขนาดซับคอมแพ็กต์เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของตลาดรถยนต์นั่งในเมืองไทย หรือประมาณ 46 % ของตลาดรถยนต์นั่งทั้งหมด นั่นหมายความว่ายอดจำหน่ายของรถยนต์นั่งตั้งแต่มกราคมถึงมิถุนายน 2548 มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 90,800 คัน จะเป็นรถขนาดซับคอมแพ็กต์ประมาณ 41,240 คัน ส่วนตัวเลขที่เหลือจะเป็นรถขนาดคอมแพ็คกต์,รถขนาดกลาง และรถระดับหรู/สปอร์ตและรถเอ็มพีวี
แม้เป็นตลาดที่ใหญ่แต่กลับมีผู้เล่นเพียงแค่ 2 ยี่ห้อ คือโตโยต้า และฮอนด้า เท่านั้น แม้ล่าสุดจะมีข่าวแววมาว่าค่ายจีเอ็มเตรียมจะขึ้นไลน์ประกอบรถรุ่นใหม่ภายใต้ชื่อ “เชฟโรเล็ต เอวิโอ” ออกมาชนกับสองยักษ์ แต่จีเอ็มก็ยังไม่ได้ออกมายืนยันถึงข่าวดังกล่าว หรือหากจะผลิตจำหน่ายจริงก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี จึงจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ ส่วนยี่ห้ออื่นจะเน้นไปทำตลาดรถยนต์ขนาดคอมแพ็กต์มากกว่า

สำหรับตลาดรถซับคอมแพ็กต์ที่คุ้นเคยกันในตลาดรถยนต์ของไทย คงหนีไม่พ้นฮอนด้า ซิตี้ รถซีดาน 4 ประตู และฮอนด้า แจ๊ส ซึ่งเป็นรถเก๋ง 5 ประตูท้ายตัด หรือแฮทช์แบ็ก ส่วนโตโยต้ามีเพียง โซลูน่า วีออส และอแวนซ่า รถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก แต่ในรุ่นหลังดูจะเสียเปรียบคู่แข่งเพราะติดตั้งเครื่องยนต์ 1300 ซีซี แถมมีราคาค่าตัวใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ 1500 ซีซี ของคู่แข่ง

แต่เป็นเรื่องที่แปลกเมื่อฮอนด้ามีรถที่ได้รับความนิยมถึง 2 รุ่น กลับมียอดขายน้อยกว่าโตโยต้า โดยเฉพาะ 6 เดือนที่ผ่านมา ฮอนด้า ซิตี้ และฮอนด้า แจ๊ส มียอดขายรวมกัน 2 รุ่น คิดเป็น 36 % ขณะที่โตโยต้า วีออส รวมกับ อแวนซ่า มียอดขายถึง 63 % ของยอดจำหน่ายรถยนต์ซับคอมแพ็กต์ ทั้งหมด

เมื่อสถานการณ์กลับตาลปัตรเช่นนี้ ฮอนด้าจึงจำเป็นต้องแก้เกมกลับ ประกอบกับโมเดลที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบันเปิดทำตลาดมานานพอสมควร และผ่านเข้าสู่ช่วงครึ่งอายุของโมเดลเข้าไปแล้ว จึงจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์บางส่วน เพื่อสร้างสีสันให้กับรถรุ่นที่ขายอยู่ ที่สำคัญถือเป็นการกระตุ้นยอดขายอีกต่างหาก

แผนการเพิ่มยอดขายในเซ็กเมนต์นี้คือ การนำฮอนด้า ซิตี้ มาแต่งหน้าทาปากใหม่ ทั้งภายใน-ภายนอก พร้อมมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ซิตี้ ซีร์เอ็กซ์ ( ZX)”

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนคือด้านหน้าและด้านหลังของรถ เพราะได้รับการออกแบบใหม่ให้ดูโฉบเฉี่ยวแบบรถสปอร์ตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านหน้าได้มีการเปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ พร้อมแผงโครเมียมขนาดใหญ่ 2 แผง , ไฟหน้าออกแบบใหม่, กันชนหน้าดูปราดเปรียวโฉบเฉี่ยว, ไฟตัดหมอก, ตัวถังด้านหน้าที่ยาวขึ้นโดยเพิ่มความยาวอีก 65 มิลลิเมตร

ขณะที่ด้านท้ายมีการออกแบบไฟท้ายใหม่, กันชนหน้า-หลังออกแบบใหม่, ฝากระโปรงหลังออกแบบใหม่ ทำให้ความยาวของตัวรถเพิ่มขึ้นราว 15 มิลลิเมตร, ล้ออัลลอยด์ดีไซน์ใหม่ขนาด 15 นิ้ว ในรุ่น SV และ EV

สำหรับภายในของฮอนด้า ซิตี้ ซีร์เอ็กซ์ ใหม่นี้ มีการติดตั้งอุปกรณ์เช่นเดียวกับรถระดับหรูอย่าง ฮอนด้า แอคคอร์ด และซีวิค ซึ่งได้แก่กระจกมองข้างปรับและพับด้วยไฟฟ้า วิทยุ-ซีดี คุณภาพสูงสามารถเล่น MP3 ได้เสาอากาศวิทยุแบบพิมพ์ลงบนกระจกหลัง พนักเท้าแขนด้านคนขับ พนักเท้าแขนเบาะนั่งด้านหลัง และเพิ่มมาตรวัดแบบเรืองแสงใหม่ซึ่งปกติแล้วจะมีในรถระดับหรูเท่านั้น

การตกแต่งภายในตัวรถได้ใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มภาพลักษณ์ให้ดูดีมีระดับ และตกแต่งรายละเอียดด้วยโครเมียมให้สัมผัสที่พิถีพิถันยิ่งขึ้น ลูกค้าสามารถเลือกรูปแบบการตกแต่งให้เหมาะกับสไตล์ของตนเอง ได้แก่ การตกแต่งภายในแบบโทนสีเบจพร้อมตกแต่งลายไม้สีเข้มและแบบสีดำสไตล์สปอร์ตพร้อมแผงคอนโซลสีเมทัลลิก

นอกจากจะปรับเปลี่ยนหน้าตาแล้ว ฮอนด้ายังเน้นให้ผู้บริโภคได้รับรู้ว่าหากซื้อซิตี้แล้ว ลูกค้าจะจ่ายค่าบำรุงรักษาที่ต่ำโดยมีค่าบำรุงรักษาในระยะ 100,000 กิโลเมตรแรกเพียง 12,251 บาท และ13,611 บาท ในรุ่นเครื่องยนต์ I-DSI และ VTEC ตามลำดับ พร้อมระบบการรับประกันนาน 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร

ฮอนด้า ซิตี้ ซีร์เอ็กซ์ ใหม่ มีให้เลือกถึง 4 รุ่นหลัก ราคาเริ่มต้นที่ 512,000 บาท จนถึง 691,000 บาท ได้แก่ รุ่น “A” เครื่องยนต์ i-DSI 1500 ซีซี 88 แรงม้า รุ่น “V” เครื่องยนต์ VTEC 110 แรงม้า รุ่น “EV” ที่ตกแต่งแบบหรูหรา และรุ่น “SV” สไตล์สปอร์ต

ฮอนด้าตั้งเป้าหมายการขาย ซิตี้ ซีร์เอ็กซ์ ใหม่ ปีแรกไว้ที่ประมาณ 30,000 คัน ซึ่งน่าจะทำให้ฮอนด้ามีส่วนแบ่งการตลาด หรือแชร์เพิ่มเป็น 10 % ในกลุ่มรถยนต์นั่งซับคอมแพ็กต์ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคงต้องมารอลุ้นว่าจะเป็นไปได้ไหม เพราะเจ้าตลาดโตโยต้าคงจะไม่ปล่อยให้คู่ปรับกวาดยอดขายอย่างสบายใจและที่สำคัญในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าโตโยต้าเตรียมที่จะไมเนอร์เชนจ์วีออสเช่นกัน ซึ่งการปรับโฉมครั้งนี้คงไม่แตกต่างจากซิตี้ ซึ่งแน่นอนเมื่อวีออส ไมเนอร์เชนจ์ ออกสู่ตลาด ยอดขายของซิตี้ใหม่อาจจะไม่ราบรื่นเท่าที่ควร

เหนืออื่นในประมาณต้นปีหน้าตลาดซับคอมแพ็กต์จะคึกคักมากกว่าเดิม เพราะโตโยต้าเตรียมจะส่งรถโมเดลใหม่ “โตโยต้า ยารีส” มาฟาดฟันกับฮอนด้า แจ๊ส แบบตัวต่อตัว หลังจากที่ปล่อยให้ฮอนด้า แจ๊ส กวาดยอดขายกลายเป็นแจ๊ส ฟีเวอร์ ไปแล้วตอนนี้

สำหรับโตโยต้า ยารีส เป็นรถเก๋งซับคอมแพ็กต์แบบ 5 ประตู หรือแฮทช์แบ็ก เหมือนกับฮอนด้า แจ๊ส ซึ่งรถรุ่นนี้มีการเปิดตัวไปแล้วที่ญี่ปุ่นในชื่อ “วิตซ์” (Vitz) แต่ชื่อยารีสที่ไทยนำมาใช้เป็นเวอร์ชั่นวิตซ์ที่ทำตลาดในยุโรปภายใต้ชื่อ “ยารีส”

เมื่อโตโยต้ามีเป้าหมายที่จะท้าชน ฮอนด้า แจ๊ส ด้วยโตโยต้า ยารีส แบบหมัดต่อหมัดแล้ว ยังเตรียมแต่งตัวใหม่ให้กับ “วีออส” มาประกบ “ซิตี้ใหม่” ด้วย แน่นอนงานนี้ย่อมส่งผลให้ตลาดเก๋งซับคอมแพ็กต์ร้อนแรงขึ้นอย่างช่วยไม่ได้