ททบ. 5 News talk มีบ้าง…แต่ไม่ตามกระแส

เมื่อแรกก้าวเข้าสู่ภายในบริเวณสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สนามเป้า บรรยากาศดูไม่แตกต่างจากหน่วยงานของกองทัพหน่วยงานอื่นมากนัก พนักงานในชุดซาฟารีสีกรมท่า ดูเคร่งขรึม สะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์กรได้เป็นอย่างดี

“เรายึดมั่นในนโยบาย ข่าวยังคงเป็นข่าวอยู่ แต่ก็ยอมรับว่า News talk มีอิทธิพลสูง ขณะนี้เราก็มีรายการรูปแบบนี้บ้าง เช่น ห้องข่าว 10 โมง เป็นข่าว…ลึก เป็นต้น คงไม่ถึงขั้นทำเปลี่ยนโฉมหน้ารายการข่าวไปเลย เพราะเชื่อว่า รายการแบบนี้จะเป็นแค่แฟชั่นเท่านั้น” พลโทเลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ. 5) ประกาศจุดยืนความเป็นสถานีของกองทัพ

ช่อง 5 มีนโยบายสร้างสรรค์รายการแบบบริการสาธารณะ และจากเดิมปีที่แล้วมีสัดส่วนรายการสาระ 55% เพิ่มขึ้นเป็น 60% และรายการบันเทิงลดลงจาก 45% เป็น 40%

“ด้วยความเป็นสถานีของกองทัพ ควรเป็นสถานีที่เสริมสร้างความมั่นคงในทุกๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม จิตวิทยา แม้จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับกฎหมายใหม่ ในฐานะสถานีวิทยุโทรทัศน์ภาครัฐ ซึ่งมีกรอบกำหนดมากขึ้น การจะแข่งขันฟาดฟันกับสถานีภาคเอกชนในเรื่องของผลประกอบการหรือรูปแบบรายการ ดูจะเป็นเรื่องสุดวิสัย ที่เป็นไปไม่ได้ จึงทำได้เพียงแข่งกับสถานีภาครัฐด้วยกันเอง คือ สทท.11 ซึ่งเริ่มปรับตัวให้มีสีสันมากขึ้น

“แนวทางที่จะพัฒนาต่อไปคือ จะต้องเลือก production house เก่งๆ และปรับปรุงตัวเอง ทั้งเรื่องของผังรายการ แต่คงไม่ทำให้ผลประกอบการหวือหวา เพราะช่อง 5 ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องผลกำไรอยู่แล้ว”

โดยคอนเซ็ปต์ของผังรายการปี 2548 นี้ คือ การสร้างความผูกพัน สายใย ให้กับครอบครัว เนื่องจากช่อง 5 มีรายได้จากระบบเช่าเวลา มีสัญญา 1 ปี จึงต้องมอบแนวคิดนี้ตั้งแต่ต้นปี ให้กับทางผู้ผลิตทั้งหลายไปคิดรูปแบบรายการให้สอดคล้อง ยกเว้นรายการข่าวที่ผลิตเอง โดยมีทีมงานฝ่ายข่าวเต็มรูปแบบ ซึ่งนโยบายข่าวของช่อง 5 คือ “รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นกลาง สร้างสรรค์”

“การนำเสนอข่าวของช่อง 5 จะเป็นกลาง เนื้อหาจะเป็นไปตามที่รัฐบาลแถลง จะไม่มีการชี้นำ ผู้ชมจะเป็นคนวิเคราะห์เองว่า ดี หรือ เลว ถูก หรือ ผิด เป็นการรายงานข่าวปกติตามทฤษฎีข่าว ใคร ทำ อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร…โอเค อาจจะดั้งเดิม แต่ก็อมตะที่สุด”

แม้จะดูเป็นการรายงานข่าวแบบดั้งเดิม แต่ next step ของช่อง 5 คือการทำข่าวเชิงลึก เจาะลึกในเนื้อหา เชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิเคราะห์ในประเด็นนั้นๆ และวางแผนที่จะให้มีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนทุกวัน “ข่าวก็ไม่ได้หา ไม่ได้เขียนเอง แล้วเอามาวิจารณ์ต่ออีกต่างหาก (หัวเราะ) ถ้าจะทำให้น่าเชื่อถือกว่านี้ต้องให้คนที่รู้จริงมาพูด ไม่ใช่ตัวเองเป็นพหูสูตอยู่คนเดียว พูดได้ทุกเรื่อง”

ถึงช่อง 5 จะไม่มีผู้ประกาศที่โดดเด่นเท่าไรนัก ยกเว้น นพ.ยงยุทธ มัยลาภ แต่ที่นี่ มีสุข แจ้งมีสุข ก็ไปโด่งดังที่ช่อง 3 พงศ์อมร คุ้มแก้ว ก็หนีจากไปอยู่ช่อง 7 และมีงานที่ช่อง 11 ด้วยเหตุผลของค่าตอบแทนที่น้อยเกินไป แต่ผอ.ช่อง 5 ก็ยังยืนว่าจะมีการปรับอัตราค่าตอบแทนเล็กน้อยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่พนักงานด้วย “ตอนนี้ผู้ประกาศอ่านข่าวเบรก ได้เบรกละ 100 กว่าบาท เทียบกับสถานีเอกชนไม่ได้เลย ห่างกันหลายเท่าตัว…เราต้องสร้างคนใหม่ ด้วยกรอบ กติกาเดิม”

อย่างไรก็ตาม พลโท เลิศฤทธิ์ ยอมรับว่า สัญญาณภาพมีปัญหามาก เพราะแรกเริ่มตั้งสถานีฯ เน้นสถานที่เพื่อประโยชน์ยุทธวีธีทางทหาร โดยขณะนี้มี coverage area มากกว่า 70% และจากการเปลี่ยนภาคส่งเป็นสัญญาณดิจิตอลจะทำให้ครอบคลุมมากขึ้น

ขณะที่อีกบทบาทหนึ่งของช่อง 5 เป็นไปอย่างเข้มแข็งและจริงจัง กับภารกิจการเป็นศูนย์ประสานงานสื่อโทรทัศน์-วิทยุ ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

แม้ขณะนี้ความฝันของการเป็น BBC เมืองไทย เหมือนกับช่อง 9 และช่อง 11 จะยังดูห่างไกล เพราะงบประมาณสนับสนุนคือปัจจัยสำคัญ

ผลวิจัยช่อง 5 ที่ว่าจ้างให้สวนดุสิตโพลสำรวจความนิยมและความเห็นของผู้ชมที่มีต่อรายการของ ททบ. 5 ระหว่างวันที่ 8 เมษายน – 20 พฤษภาคม 2548 จากกลุ่มเป้าหมายชายหญิง เด็ก-ผู้ใหญ่ และอาศัยอยู่ทั้งในเมืองและชนบท จำนวน 5,427 คนพบว่า ภาพรวมความนิยมของช่อง 5 อยู่อันดับ 3 (19.42%) โดยอันดับ 1 (28.0%) ช่อง 7 อันดับ 2 (26.85%) ช่อง 3 อันดับ 4 (16.98%) ITV อันดับ 5 (5.45%) ช่อง 9 และอันดับ 6 (3.27%) ช่อง 11 โดยผู้ชมต้องการให้ช่อง 5 ปรับปรุงด้านการนำเสนอข่าวให้น่าสนใจ ควรเป็นการสนทนาข่าวมากกว่านั่งอ่านข่าว (45.85%)