เป็นหน่วยงานราชการที่กำลังอยู่ในระหว่างเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุค Service Delivery Unit (SDU) ที่บริหารงานแบบเอกชนแต่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไป ต้องหารายได้เลี้ยงตัวเองทิศทางในอนาคตจึงเน้นการร่วมลงทุนกับเอกชนเพื่อผลิตรายการ ซึ่งก็เป็นแนวทางที่น่าจับตา เพราะที่ผ่านมารายการข่าวอย่าง Newsline ที่ร่วมผลิตกับทราฟฟิกคอร์เนอร์ และ Morning Talk ของ บ.ธนบุรินทร์ ก็สร้างจุดขายให้ช่องได้อย่างดี
นายสุรินทร์ แปลงประสพโชค ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 พูดถึงการแข่งขันของช่องในยุค “คุยข่าว” กลืนจอโดยเฉพาะช่วงข่าวเช้าว่า ก่อนนี้ใช้ผู้ประกาศคือ วิศาล ดิลกวณิช และกรุณา บัวคำศรี มานั่งคุยข่าวก็ได้รับความนิยมจากผู้ชมมากพอสมควร แต่ก็ถูกช่อง 3 ดึงตัวไป ตอนนี้มี อดิศักดิ์ ศรีสม เป็นแองเคอร์คนใหม่
“สไตล์ของเราปรับเนื้อหาให้เป็น fact มากขึ้น ใส่ความเห็นน้อยลง ให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้ชม ในขณะที่ข่าวภาคกลางวันและภาคดึกต้องมีความเป็นทางการ คอนเซ็ปต์ “ทันข่าวเช้านี้” เราวางให้เหมือนมอร์นิ่งโชว์ของอเมริกา ผู้ดำเนินรายการจึงต้องเป็นแองเคอร์ที่ฉลาดรอบรู้ดูดี เราต้องการขายความน่าเชื่อถือเป็นหลัก ไม่ใช้วิธีเอาคนมีชื่อเสียงมาเป็นตัวดึง” สุรินทร์กล่าวเหมือนจะพาดพิง แต่ก็ออกตัวว่าเป็นเพราะช่อง 11 เป็น “สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย” ความน่าเชื่อถือและเป็นมืออาชีพ ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง
ทิศทางในอนาคตหลังจากที่กลายเป็น SDU อย่างเต็มตัว จะทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปดูงานและเจรจากับโทรทัศน์บรูไนไว้ โดยวางแผนจะเชื่อมโยงการถ่ายทอดสัญญาณระหว่างประเทศ รายงานสดเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ ให้ผู้ประกาศข่าวช่อง 11 คุยสดกับทางทีวีบรูไน และที่ผ่านมาได้ทำ MOU แลกข่าวกับทีวีมาเลเซีย บรูไน เวียดนาม ไว้แล้ว นอกจากนั้นก็จะร่วมมือกับ BBC นำรายงานข่าวมาลงช่อง 11 ประมาณ 3-5 นาที เป็น world report ทุกวัน
ทางด้าน กิตติ ชีวสิทธิยานนท์ โปรดิวเซอร์ รายการ Newsline บริษัท Insight Info จำกัด ในเครือทราฟฟิกคอร์เนอร์ อธิบายว่า รายการเริ่มออกอากาศครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2542 ปัจจุบันรูปแบบรายการช่วงแรกเป็นการอ่านข่าว ในประเทศและต่างประเทศ ช่วง 2 คุยข่าว โดยใช้หนังสือพิมพ์ของ Bangkok Post เป็นสื่อกลางของการถกประเด็น ช่วง 3 เป็นข่าวเศรษฐกิจโดย ม.ล. ปลื้ม และช่วงสุดท้ายจะเป็นช่วง Discover Thailand ซึ่งใช้ชื่อว่า Hi-light Thailand ร่วมกับ ททท. เสนอเกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยวในไทย
“Newsline พยายามทำเป็นแบบ mix & match ในช่วงของการถกข่าว จะทำให้เป็นแบบการสนทนา ทำให้ดูสบายๆ ข่าวที่จะมาลง ก็เลือกกันพอสมควร ถ้าจะมีการออกความคิดเห็นบ้าง ก็ยังยืนพื้นที่ความจริง เป็นการอัพเดตข้อมูล โดยใช้ Bangkok Post เป็นสื่อกลาง ซึ่งได้ประโยชน์ในแง่ของ branding ร่วมกันด้วย”
กิตติ ซึ่งมีพื้นความรู้ด้าน MBA จากอังกฤษ วิเคราะห์ว่า ข้อดีของ Newsline ก็คือ ฉายในช่อง 11 ซึ่งเป็น Free TV ที่เป็นช่องภาษาอังกฤษเพียงช่องเดียวคนส่วนใหญ่สามารถรับชมได้ อย่างในประเทศจีนก็จะมีช่อง cctv9 ที่เป็นภาษาอังกฤษ ของไทยก็มี Newsline เพื่อให้คนต่างชาติเวลามาเมืองไทยก็รู้ความเป็นไปในเมืองไทยได้
เขาวางแนวคิดไว้ว่า Newsline = more than just news คือ นอกเหนือจากข่าวแต่ละวัน ยังมีสาระอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยให้ผู้ชม เอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เช่น แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ lifestyle อีกรูปแบบหนึ่ง โดยข้อมูลนั้นเป็น Universal กว้างๆ เพื่อให้คนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัย ดูได้
“นโยบายของเราคือ ภาษาอังกฤษสำหรับคนรุ่นใหม่ ทำโดยคนไทย แม้แต่พรีเซ็นเตอร์ก็เลือกคนไทยที่เป็นคนรุ่นใหม่พูดอังกฤษคล่อง เป็นตัวแทนของ generation ทำให้รู้ว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องไกลตัว ขณะเดียวกันเราเป็นเวทีข้อมูลให้ชาวต่างชาติ โดยไม่ชี้นำ ความจริงเป็นอย่างไรก็เสนออย่างนั้น ผู้ชมมีความต้องการรู้ข่าวสาร comment ต้องอยู่ภายใต้ฐานความเป็นเหตุและผล และความจริง”
ตอบข้อถามว่าพรีเซ็นเตอร์มีผลต่อเรตติ้งรายการหรือไม่ กิตติบอกว่า Newsline เป็นคนสร้างเรตติ้งให้ผู้ประกาศมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะหลายคนกลายเป็นคนมีชื่อเสียงก็เพราะการเป็นผู้ประกาศข่าว ในช่วงเริ่มแรกผู้ประกาศของ Newsline ก็คือ ฮาร์ท สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล (รายนี้เป็นคนมีชื่อเสียงอยู่แล้ว) และเจนนิเฟอร์ ซู ต่อมาเมื่อฮาร์ท เฟดตัวไป ก็ดึง เจ บุนนาค เข้ามาเป็นผู้ประกาศ คู่กับฮันนี่ และตอนนี้ก็มีผู้ประกาศรุ่นใหม่เข้ามาเสริมทีมอีกหลายคน อาทิ เอ็ดเวิร์ด, ม.ล. ปลื้ม, ชญาวัต ยอดมณี, ปอ ศรีกัญญา ศักดิเดชภาณุพันธ์ โดยกิตติรีบออกตัวว่า “ไม่ได้เลือกเพราะนามสกุล แต่คัดกันที่ความสามารถจริงๆ แต่ละคนก็ส่งใบสมัครเข้ามา ผ่านการพิจารณาและผ่านการทำงานหลายขั้นตอน ตั้งแต่ออกภาคสนาม เขียนสคริปต์ กว่าจะได้มานั่งอ่านข่าวในสตูดิโอ”