นึกถึง News talk ด้านเศรษฐกิจ ต้องเป็นนักวิเคราะห์ข่าวฝีปากเอกผู้นี้ “วิศาล ดิลกวณิช” ซึ่งจัดเป็นพิธีกรเล่าข่าวมาแรงอีกคนหนึ่งในยุคสงครามข่าวสารข้อมูล
น้ำเสียงที่ฉะฉาน ลีลาดุดัน ข้อมูลแน่น เทคโนโลยีล้ำเลิศ …ถือเป็นสัญลักษณ์และบุคลิกของ วิศาล ดิลกวณิช ซึ่งเขาเองบอกว่า นั่นเป็นเพราะเขาเติบโตมาจากนักข่าวเศรษฐกิจ และสายไอที มานานกว่า 15 ปี จึงกลายเป็นแบรนด์ประจำตัวเขา
แม้เขาจะบอกว่าเคยทำข่าวเกือบทุกสายทั้งการเมือง อาชญากรรม หรือแม้แต่ข่าวกีฬาก็เคยทำ แต่แบรนด์ของเขาก็มักจะผูกยึดกับความเป็นเศรษฐกิจ และไอที ซึ่งตัวเขาเองบอกว่าชอบข่าวด้านนี้เป็นพิเศษ
“ข่าวเศรษฐกิจ และไอที ดูมันท้าทาย และยากกว่าสายข่าวอื่น จึงอยากเรียนรู้มากเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าถ้าเรียนรู้สองด้านนี้ให้ถ่องแท้ สายข่าวอื่นย่อมไม่ยาก”
วิศาลอยู่บนเส้นทางการทำงานแบบพิธีกรข่าวแบบเล่าข่าว วิเคราะห์ เขาทำงานด้านนี้มา 7-8 ปีแล้ว เริ่มจากการทำรายการโฟกัสเศรษฐกิจที่ไอทีวี ถึงวันนี้เขาทำงานเป็นนักเล่าข่าวอิสระ รับงานแบบฟรีแลนซ์ มีบริษัทรับงานเป็นของตัวเอง รับงานข่าวช่อง 3 จัดรายการเช้าวันใหม่ ตั้งแต่ตีสี่ถึงตีห้า และจัดการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ และช่อง 9 รายการบ่ายนี้มีคำตอบ รวมทั้งทำงานเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนเรื่องหนังสือพิมพ์ การเขียนข่าว การเป็นบรรณาธิการข่าว
วิศาล จัดเป็นนักเล่าข่าวที่มีระบบข้อมูลที่ดีที่สุดคนหนึ่ง เขาเล่าว่า การเตรียมข้อมูลในการทำงานด้านพิธีกรข่าวสำคัญมาก เขามีฐานข้อมูลที่แข็งแรงเก็บมาหลายสิบปี มีดาต้าเบสที่จัดทำเป็นระบบอย่างดี มีฐานข้อมูลด้านแหล่งข่าวตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี อธิบดี ปลัดกระทรวง และบุคลสำคัญจากภาคเอกชนมีมากถึงเป็นพันๆ คน ไว้เช็กตรวจสอบว่า ข้อมูลที่เราจะพูดจะคุยจริงเท็จมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังมีฐานข้อมูลจากสืบค้น เช่น ทางอินเทอร์เน็ต การสัมภาษณ์เองด้วย
“นักข่าวสมัยนี้จะอ่านหนังสือพิมพ์อย่างเดียวไม่พอ ไม่รู้ก็ต้องศึกษา เช่น ไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ก็ต้องไปเรียน ไม่รู้เรื่องกฎหมายก็ต้องเรียนรู้ นักข่าวจะหยุดแค่อ่านหนังสือพิมพ์คงไม่พอ แค่อ่านมากก็ยังไม่พอ”
เขาให้ทัศนะว่า การนำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจจำเป็นอย่างยิ่งต้องเป็นนักอธิบายแบบคุยข่าว จะใช้ภาษาแบบข่าว ต้องยากยิ่งจะเข้าใจในเวลาจำกัด เป็นปรากฏการณ์ของการสื่อสารข่าว ที่ต้องการสื่อสารให้ผู้ชม หรือชาวบ้านให้เข้าใจได้ดีขึ้น
เตรียมตัวก่อน talk
วิศาลจะเสพข้อมูลก่อนประมาณ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ทั้งจากการอ่านหนังสือพิมพ์ และการอ่านข่าวทางอินเทอร์เน็ต พร้อมกับการตรวจเช็กประเด็นข่าวในหนังสือพิมพ์ก่อนว่า ประเด็นใดผิดหรือประเด็นใดเชื่อได้ โดยจะใช้วิธีโทรไปหาแหล่งข่าวเพื่อตรวจสอบข้อมูลว่าจริงเท็จเพียงใด